
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government procurement) ถือเป็นส่วนสำคัญของการบริหารงานภาครัฐและงบประมาณ โดยประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ได้รับการจับตามองเสมอมาในฐานะที่เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานของภาครัฐที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการคอร์รัปชัน
แม้ว่าจะมีความท้าทายที่คล้ายคลึงกันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ความเข้าใจร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก เกี่ยวกับแนวทางที่จะผลักดันการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังคงมีช่องว่างอยู่มาก เพราะประเด็นปัญหาความท้าทาย รวมถึงกลยุทธ์ที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ในการรับมือกับการคอร์รัปชันในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้บทเรียนจากกันและกัน โดยเฉพาะแนวทางการผลักดันการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และวิธีการที่แต่ละประเทศทำงานเพื่อเอาชนะความท้าทายในการดำเนินการดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์การคอร์รัปชันในปัจจุบันมีลักษณะข้ามพรมแดนมากยิ่งขึ้น และถือเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ผู้กระทำผิดใช้เพื่อปกปิดและบดบังการกระทำผิดของตน ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นในการระบุและเสนอแนวทางแก้ไขที่อยู่นอกกรอบการบังคับใช้และการนำนโยบายไปปฏิบัติภายใต้กรอบความเป็นรัฐอธิปไตย
ดังนั้น การผลักดันและสร้างความร่วมมือจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระดับระหว่างประเทศผ่าน ภายใต้การนำของศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ร่วมกับเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA-ACN) ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์การภาคประชาสังคมเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การอำนวยความสะดวกของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และ ศูนย์ C4 ของประเทศมาเลเซีย จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค โดยมีองค์การต่อต้านการคอร์รัปชันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติเข้าร่วม เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น
โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ภายใต้หัวข้อ “SEA-ACN, Regional Workshop on Public Procurement Best Practices and Reforms ” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม SILQ กรุงเทพฯ ประเทศไทย จัดโดย ศูนย์ KRAC ร่วมกับองค์กร C4 The Center to Combat Corruption and Cronyism ประเทศมาเลเซีย สนับสนุนโดย สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 51 คน จาก 23 องค์กร โดยมีผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศจำนวนกว่า 34 ท่าน จากหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย
วัตถุประสงค์ของการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยนและนำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมการสนทนาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างและการทำสัญญาของรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นกรณีศึกษาร่วมกันเพื่อออกแบบแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ดีภายในภูมิภาค โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 วัน
ในช่วงกิจกรรมแรกเป็นการเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารของ 3 องค์การที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวกับข้องกับการจัดแนวทางการปฏิบัติที่ดีและมีประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐ ประกอบด้วย
- Annika Wythes, Team Lead, Anti-Corruption Hub for South-East Asia, United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)
- Torplus Yomnak, Assoc. Prof, Ph.D. Director of the Knowledge Hub for Regional Anti-Corruption and Good Governance Collaboration (KRAC).
- Pushpan Murugiah, The Chief Executive Officer, C4 Center
โดยกิจกรรมในส่วนถัดมาเป็นการรายงานผลการศึกษาวิจัย โดย คุณ Bryan Cheah จาก C4 Center ซึ่งได้มีการนำเสนอสาระข้อมูลเกี่ยวกับระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในกระบวนการการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น โดยภายหลังการนำเสนอมีการตั้งประเด็นคำถาม และแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างเครือข่ายภาคประชาสังคมในส่วนประเทศอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความต่างและเหมือนกันในบางประเด็นด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ต่อเนื่องด้วยกิจกรรมการเปิดพื้นที่ให้ภาคีเครือข่ายจากประเทศต่าง ๆ ได้มีโอกาสนำเสนอกฎหมายหรือแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของตนเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา อุปสรรค และช่องว่างทางกฎหมายที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตได้ โดยสำหรับในกรณีของประเทศมีการนำเสนอข้อมูลจากภาคประชาสังคมโดย บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และหน่วยงานภาครัฐประกอบไปด้วย กรมบัญชีกลาง และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลจากประเทศ ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ร่วมด้วย
สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง ทีมวิจัยของ C4 จากประเทศมาเลเซีย โดย คุณ Pushpan Murugiah, The Chief Executive Officer, C4 Center และคุณ Clara Feng, CoST Regional Adviser for Asia โดยกิจกรรมนี้มุ่งเน้นการนำเสนอและจัดประชุมเชิงปฏิบัติ สำหรับในส่วนแรก ได้นำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างกันของระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบเช่นระบบการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างโดยการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นต้น โดยลักษณะการจัดซื้อจัดจ้างที่แตกต่างกันนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเกิดช่องว่างในการทุจริต
โดยวัตถุประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมในช่วงนี้คือการให้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจกับผู้เข้ารับฟังการสัมมนาในขณะที่ผู้บรรยายจาก CoST ได้มุ่งเน้นและนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ซึ่งมักเกิดการทุจริตคอร์รัปชันเป็นจำนวนมาก โดยนำเสนอให้เห็นถึง การวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในการดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในภาครัฐได้ โดยระหว่างการบรรยายมีการสอบถามและถกเถียงกันระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีการเข้าร่วมประชุม
สำหรับกิจกรรมสุดท้ายของการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันแรก เป็นการจัดสัมมนาร่วมกันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ในภาครัฐและผลกระทบทางด้านการเงินที่เกิดขึ้นโดยมีกรณีศึกษาจากประเทศมาเลเซียอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา
- กรณีของประเทศมาเลเซีย คุณ Cynthia Gabriel, Founder and Consultant, Center for International Private Enterprise and C4 Center มีการสะท้อนให้เห็นถึงการยักย้ายถ่ายเททางการเงินและการทุจริตคอร์รัปชันผ่านการตั้งบริษัทเพื่อประโยชน์ให้กับนักการเมืองหรือรัฐมนตรีที่มีอำนาจในการตัดสินใจซึ่งเป็นลักษณะที่ตรวจสอบได้ค่อนข้างยาก
- กรณีของประเทศอินโดนีเซีย คุณ Laode Syarif, KEMITRAAN มีการนำเสนอให้เห็นถึงช่องว่างและข้อยกเว้น ในการจัดซื้อจัดจ้าง ที่เปิดช่องให้บางลักษณะของโครงการไม่จำเป็นต้องมีการแข่งขัน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ถึงกับมีการระบุว่าการทุจริตนั้นไม่มีศาสนา
- กรณีของประเทศกัมพูชา คุณ Pisey Pech, Executive Director, Transparency International Cambodia มีการแบ่งปันให้เห็นถึงปัญหาของระบบการเมืองที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลส่งผลให้ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐถูกผูกขาดโดยกลุ่มอำนาจบางกลุ่มเท่านั้น
- กรณีของประเทศสิงคโปร์ อาจารย์ Soh Kee Hean, Asst Prof, Singapore University of Social Sciences ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ทำให้สิงคโปร์สามารถประหยัดงบประมาณและได้คุณภาพของการจัดซื้อจัดจ้างที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีและการเปิดกว้างในระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดการแข่งขันมากที่สุด
สำหรับกิจกรรมในส่วนของวันที่ 2 เป็นการมุ่งเน้นการระดมสมองและการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแสวงหาจุดร่วมกันของผู้เข้าร่วมกันประชุมเกี่ยวกับ ปัญหาของระบบการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ โดยทีมของ C4 เป็นผู้ดำเนินการหลักในการนำกระบวนการทั้งหมดเพื่อการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยมีประเด็นที่หลากหลายในการพูดคุยเพื่อแสวงหาจุดร่วมกันในการออกแบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเฉพาะการหาโมเดลที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น การประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 2 ยังรวมไปถึงการแสวงหาข้อคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนบุคคลเกี่ยวกับการเผชิญกับปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ที่มีการกระจายตัวจากผู้แทนในหลายประเทศที่เข้าร่วมการประชุม
โดยช่วงที่ 2 ของการประชุมเชิงปฏิบัติการนั้น ข้อคำถามส่วนใหญ่ในการระดมสมองมุ่งเป้าไปที่ความพยายามในการจัดทำแผนกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์เพื่อการผลักดันการแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป้าหมายสำคัญของการระดมสมองในครั้งนี้คือการวางยุทธศาสตร์การสื่อสารร่วมกันภายในเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อผลักดันแนวคิดไปสู่ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ในขณะเดียวกันยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย โดยแต่ละกลุ่มมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปตามบริบทของประเทศตนเอง
ซึ่งน่าสนใจว่าในกรณีนี้ประเทศไทยค่อนข้างมีแนวทางการตอบสนองที่ดีในการพูดคุย เนื่องจากมีหน่วยงานอย่างกรมบัญชีกลางซึ่งทำหน้าที่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอยู่ด้วย โดยข้อเสนอของกรมบัญชีกลางในเวทีนี้ได้รับความชื่นชมอย่างมากจากภาคีเครือข่าย และถูกมองว่าเป็นข้อเสนอที่อาจนำไปปรับใช้ได้กับประเทศอื่นที่ยังไม่มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ หรือการเปิดข้อมูลให้ภาคประชาสังคมเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสให้ภาคีเครือข่ายได้พูดคุยร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนและการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเด็น “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ในระดับภูมิภาค อันจะส่งผลต่อการยกระดับการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ต่อไป
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC Insight | เเค่เปิดเผยข้อมูลอาจไม่พอ (?) เพราะต้องมีการวางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน !
พัฒนามาตรฐานของชุดข้อมูลอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ? วันนี้เรามีคำตอบมาให้จากงาน “The Southeast Asian Anti-Corruption Network (SEA-ACN) Roundtable Discussion”
KRAC Insight | รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน
รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน จากทีม Open Data ของเครือข่าย “SEA-ACN”
KRAC Insight | ความคลุมเครือในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันได้ (?)
แก้ไขปัญหาการทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างไรให้ยั่งยืน ? วันนี้เรามีคำตอบมาให้จากงาน “the Southeast Asian Anti-Corruption Network (SEA-ACN) Roundtable Discussion”