“ประชาธิปไตย (Democracy)” เป็นคำที่มีรากมาจากภาษากรีก คือคำว่า Demos (ประชาชน) + Kratos (การปกครอง) เมื่อนำมารวมกันแล้ว จึงมีความหมายว่า “การปกครองของประชาชน” (ประภัสสร ทองยินดี, 2558) ดังนั้นรัฐบาลหรือผู้ปกครองที่ขึ้นมาปกครองจึงเป็นเพียงผู้แทนที่ใช้อำนาจของประชาชนเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนเท่านั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงถูกนำมาทดลองและปรับใช้กับพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และผ่านการพิสูจน์จนกระทั่งได้รับการยอมรับ รวมถึงถูกยกย่องว่าเป็นระบอบการปกครองที่“ดีที่สุด” สำหรับคนบางกลุ่มเสียด้วยซ้ำ
หากพิจารณาด้วยตรรกะนี้ ก็สามารถตีความได้ว่าปัญหาทางสังคมที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนานคู่กับประเทศไทยอย่างการคอร์รัปชัน ก็อาจจะเกิดจากการที่สังคมไทยขาดเสถียรภาพทางการเมือง รวมไปถึงประชาชนไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริงในการเลือกรัฐบาลหรือผู้นำที่สามารถสะท้อนเจตจำนงหรือผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งนั่นหมายถึงการที่ประชาชนขาดสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย ดังนั้น อำนาจจึงกระจุกอยู่ที่ชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ยากหรือแม้กระทั่งตรวจสอบไม่ได้เลยด้วยซ้ำ! จึงอาจสรุปได้ว่า การที่ประเทศไทยยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่มากเพียงพอ หรือ ยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นสาเหตุที่ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชันยังคงยืดเยื้อ และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน
เมื่ออ่านมาจนถึงจุดนี้แล้ว ผู้อ่านหลายท่านก็คงคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าอย่างนั้นแล้วปัญหาการคอร์รัปชันในสังคมไทย ถึงแม้ว่าจะแก้ได้ยากแต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ไร้ทางออกโดยสิ้นเชิงใช่หรือไม่ เรายังสามารถมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้อยู่ เพราะถ้าหากประชาชนรวมถึงหน่วยงานภาครัฐร่วมกันพยายามรณรงค์เติมส่วนผสมของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ลงไปในสังคม หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือการสร้างสังคมไทยให้มีความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น (Democratization) ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนดังนั้นแล้วเมื่อหันไปพิจารณาความสัมพันธ์ของดัชนีประชาธิปไตย(Democracy Index) ที่จัดอันดับโดย Economist Intelligence Unit และดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index – CPI) ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International)ทำการสำรวจเป็นประจำทุกปี ก็คงจะไม่ผิด ที่จะตั้งสมมุติฐานว่า ประเทศไหนที่มีอัตราความเป็นประชาธิปไตยสูง มักจะมีอัตราการคอร์รัปชันที่ต่ำลงไปด้วย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการสร้างสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตยกับปัญหาการคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เขียนทำการสำรวจดัชนีประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับดัชนี CPI (ปี 2021) ของบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบบกพร่อง เช่น สิงคโปร์ กลับพบว่ามีอันดับและดัชนี CPI ที่สูงกว่าประเทศประชาธิปไตยแบบเต็มรูปแบบบางประเทศ เช่น แคนาดา, ออสเตรีย, ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ ในบางกรณี ประเทศที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแต่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม เช่น เวียดนาม หรือ จีนกลับมีอันดับและดัชนี CPI ที่สูงกว่าบางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างเช่น อินเดีย และไทย ซะอย่างนั้น!
ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้ยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นไร้ประสิทธิภาพ หรือ ไม่ได้กำลังเอ่ยว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นสาเหตุของการคอร์รัปชันเสียเอง ราวกับการเมืองยุคเก่าที่คอยผายมือไปหานักการเมืองแล้วบอกว่าคนกลุ่มนี้เองเป็นสาเหตุสำคัญของการคอร์รัปชันในประเทศอันไม่จบไม่สิ้นเสียที ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนนั้น ผู้เขียนยังคงเชื่อมั่นว่าประเทศที่มีระบอบการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะมีแนวโน้มในการป้องกันและลดปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ได้ดีกว่าประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบอื่นๆ เนื่องจากประชาชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ในการเลือก รวมถึงตรวจสอบการทำงานของผู้ปกครองได้ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม คำถามที่ควรพิจารณาต่อคือ แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้บางประเทศซึ่งแม้ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ยังคงประสบกับปัญหาการคอร์รัปชันอย่างเรื้อรังอยู่ ?
เพื่อตอบคำถามข้างต้น ผู้เขียนจะเปรียบเทียบให้ผู้อ่านได้เห็นถึงกรณีของประเทศสิงคโปร์และไทย ที่มีดัชนีประชาธิปไตย (ปี 2021) ใกล้เคียงกัน โดยที่สิงคโปร์มีดัชนีที่สูงกว่าเล็กน้อย ได้แก่ 6.23 และ 6.04 ตามลำดับ แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI (ปี 2021) ซึ่งไทยถูกสิงคโปร์ทิ้งห่างอย่างน่าตกใจโดยสิงคโปร์ถูกจัดอยู่อันดับที่ 4 จาก 180 ประเทศ เป็นรองเพียง เดนมาร์กฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และนอร์เวย์ เท่านั้น ส่วนประเทศไทยของเรานั้นหล่นมาอยู่อันดับที่ 110 ซึ่งห่างไกลกับสิงคโปร์เป็นอย่างมาก ดังนั้น จากข้อมูลด้านตัวเลขและลำดับของดัชนีทั้งสองที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นจะเห็นว่าปัจจัยเรื่องความเข้มข้นของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่กำหนด หรือ ส่งผลต่ออัตราการทุจริตและคอร์รัปชันในสังคม แต่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสาเหตุที่ยังทำให้บางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยยังคงติดหล่มปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันราวกับถูกสาปให้เป็นแบบนั้นไปตลอดกาล คือเรื่องของ “วัฒนธรรมการเมือง”
แม้ว่าทั้งประเทศไทยและสิงคโปร์จะถูกจัดว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบบกพร่องเหมือนกัน แต่ด้วยวัฒนธรรมการเมืองของสองประเทศที่แตกต่างกัน ไล่ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงผู้คนในสังคม ก็ทำให้ผลลัพธ์ในด้านของปัญหาการคอร์รัปชัน มีความแตกต่างกันตามไปด้วย สังเกตได้จากการที่รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างระบบราชการที่ใสสะอาดและมีคุณธรรม โดยจะไม่ยอมปล่อยให้มีกรณีการจ่าย – รับ duit kopi (เป็นศัพท์ภาษาบาฮาซาที่แปลเป็นไทยได้ว่า “เงินกาแฟ” เป็นการจ่ายเงินหรือการให้สิ่งของ โดยคาดหวังให้ได้ผลประโยชน์กลับมา) ที่ก่อให้เกิด “พื้นที่สีเทา” อันเป็นช่องว่างให้เกิดการคอร์รัปชันได้ในสังคม รวมไปถึงป้องกันกรณีการทุจริต คอร์รัปชันรูปแบบอื่น ๆ ในทุกหน่วยงานและองค์กร ซึ่งนอกจากภาครัฐจะดำเนินการกำจัดการทุจริตตั้งแต่บนลงล่าง ด้วยการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างแข็งขันแล้ว ประชาชนชาวสิงคโปร์เองก็มีจิตสำนึกอันแข็งแกร่ง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิเสธการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ที่สำคัญคือชาวสิงคโปร์สามารถเข้าถึงการทำงานของรัฐได้อย่างโปร่งใสและเท่าเทียม จากการที่รัฐบาลนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ เพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาวิเคราะห์ วางแผนให้เกิดเป็นนโยบายภาครัฐที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนทุกกลุ่มทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เก็บไว้ มาวิเคราะห์ความเสี่ยงในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงลดโอกาสของการคอร์รัปชันลงอีกด้วย (ปัทมา ประสิทธิวงษ์, 2562) ดังนั้นการที่ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐของตนเป็นอย่างมาก ว่านโยบายหรือโครงการของรัฐนั้น จะต้องประสบความสำเร็จและเป็นผลดีกับประชาชนทุกภาคส่วน การคอร์รัปชัน จึงไม่เคยเป็นปัญหากวนใจของสิงคโปร์เลย เมื่อทุกภาคส่วนของสังคมต่างมีชุดความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และอุดมการณ์ต้านโกงไปในแนวทางเดียวกัน
ตัดกลับมาที่ประเทศไทยของเรานั้น… ภาครัฐยังคงปล่อยให้วัฒนธรรมการจ่าย “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” หรือ “ค่าคุ้มครอง” หรือ “ค่าดูแล”เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในสังคม การที่ภาคเอกชนหรือประชาชนต้องยอมจ่ายเงินให้กับภาครัฐ (ซึ่งในบางกรณี รวมไปถึงภาคเอกชนกับภาคเอกชนด้วยกันเอง) เพื่อแลกมากับ “คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม” ถูกนับว่าเป็นเพียงการทำตามธรรมเนียม และเป็นการแลก “สินน้ำใจ” หรือ “แสดงไมตรีจิต” ต่อกันโดยที่ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรือต้องสงสัยอะไร (และในบางครั้ง ผู้ที่ไม่ทำตามธรรมเนียม ก็ถูกมองว่าเป็นพวกนอกรีตและถูกกลั่นแกล้งด้วยซ้ำ) ค่านิยมแบบไทยๆ เช่นนี้เอง ที่ทำให้เกิด“พื้นที่สีเทา” ซึ่งประเทศสิงคโปร์พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ การคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่อง “เล็กๆ น้อยๆ” ทันที เมื่อตนเองได้รับผลประโยชน์ ผู้คนในสังคมทำกันจนเป็นเรื่องปกติ การคอร์รัปชันจึงได้พัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองที่ฝังรากลึกลงไปในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอีกด้วย
หากผู้อ่านยังเห็นภาพไม่ชัดเจน ผู้เขียนอยากให้ลองนึกถึงกรณีของคนที่เป็นข้าราชการใช้อภิสิทธิ์ในการลัดคิวเพื่อทำธุรกรรมให้กับญาติพี่น้องของตนก่อนหน้าประชาชนคนอื่น ๆ รวมถึงเอื้อผลประโยชน์ให้กับธุรกิจของคนในครอบครัว หรือจะเป็นกรณีหาบเร่ แผงลอย ต้องจ่ายเงินให้เทศกิจเพื่อเป็น “ค่าดูแล” ให้ตนสามารถขายของ ทำมาหากินบนทางเท้าอย่างไม่ต้องกังวล ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการจ่ายส่วยให้กับเจ้าเมืองหรือผู้มีอำนาจในอดีตเพื่อแลกกับการดูแล และความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต หรือ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ผู้ปกครองจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้กับโรงเรียนชั้นนำและมองว่าเป็นการมอบ “สินน้ำใจ” ให้ทางโรงเรียน เพื่อดูแลบุตรหลานของตนเป็นพิเศษโดยที่ไม่รู้ว่าตนและลูกหลานของตนนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกความเหลื่อมล้ำและการคอร์รัปชันไปเรียบร้อยแล้ว
จากกรณีที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น ผู้เขียนไม่ได้กำลังจะบอกว่าศีลธรรม คุณธรรมของผู้คนในสังคมทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน หรือว่าใครดีกว่ากัน แต่ผู้เขียนกำลังเสนอให้เห็นว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะสามารถรักษาหรือแก้ไขปัญหาทางสังคมขนาดใหญ่อย่างการทุจริตและคอร์รัปชันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ทุกภาคส่วนของสังคมยังต้องตั้งคำถามต่อตัวเองว่า เรายังติดหลุมและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการคอร์รัปชันอยู่หรือไม่ ? เรายังมองว่าการใช้อภิสิทธิ์ของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ เป็นเรื่อง “เล็กๆ น้อยๆ” อยู่หรือไม่ ? จากการตั้งคำถามง่าย ๆ เหล่านี้ต่อตัวเอง ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อม รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ไม่จำเป็นต้องรอใคร แต่เริ่มแก้ไขได้ จากตัวเรา
ภาคิน สมเกียรติประยูร
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุด ไทยยังอาการหนัก เหมือนเดิม!
จากการที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ได้เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) ของปี 2023 เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ผลในปีนี้ไทยได้คะแนน 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมิน ซึ่งหากเทียบกับผลในปี 2022 ที่ไทยได้ 36 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 101 ก็จะเห็นได้ว่าคะแนน CPI ไม่ดีขึ้นเลย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ทำยังไงไม่ให้ไปตกอยู่กับคนโกง
ทุกคนรู้ไหมว่า ถ้าเราช่วยกันสอดส่อง ผู้แทนที่เราเลือกก็จะทุจริตได้ยากขึ้น จากกรณีกำนันนกที่เป็นข่าวดังเมื่อเดือนก่อนถือเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้อำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นในทางที่ผิด เพราะหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นกำนัน เขาได้รับโครงการก่อสร้างจากงบประมาณเกือบทั้งหมดที่ส่งมาพัฒนาจังหวัดทำให้สามารถใช้เงินซื้ออำนาจรัฐที่เอื้อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ แถมยังทำให้ตำรวจบางคนมาอยู่ใต้อำนาจ และอยู่เหนือกฎหมายได้
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย