“ไม่ว่าใครจะโผล่มาหน้าประตูเรา เราก็ไม่ตัดสินพวกเขา เราจะไม่ถามถึงศาสนาหรือวรรณะ จะผิวเข้มหรือขาว จะรวยหรือจนทุกคนจ่ายเท่ากัน พวกเราไม่ได้เลือกปฏิบัติกับคนอื่น แต่ทำไมผู้คนถึงเลือกปฏิบัติกับเรา ทำไมเราถึงถูกกีดกันออกจากสังคม” ประโยคนี้ถูกกล่าวขึ้นในซีรี่ส์เรื่อง Gangubai Kathiawadi โดยเนื้อหาเล่าถึงหญิงสาวที่มีอาชีพเป็นโสเภณีได้ต่อสู้สิทธิทางกฎหมายและความยุติธรรมให้กับผู้หญิงที่มีอาชีพโสเภณีในประเทศอินเดีย อาชีพที่ไม่ถูกยอมรับและถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในสังคม ถึงแม้พวกเขาเหล่านั้นจะมีหัวใจเป็นตัวสูบฉีดโลหิตไปทั่วร่างกายเหมือนดั่งมนุษย์ทุกคนก็ตาม
หลังจากที่ซีรี่ส์ได้สร้างกระแสจนเกิดซอฟต์พาวเวอร์อย่างกว้างขวาง ก็ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงกันในหลายมุมมอง และหลายมิติเกี่ยวกับอาชีพ Sex worker ในบทความนี้ผู้เขียนขอชวนผู้อ่านทุกท่านไปทำความเข้าใจกับกรณีการค้าประเวณีในประเทศไทย ความอยุติธรรมที่มาในรูปแบบของการเลือกปฏิบัติ การถูกละเมิดสิทธิที่ควรจะได้รับ การถูกกีดกันออกจากสังคม การถูกด้อยค่าในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และอาชีพ หรือแม้กระทั่งการถูกเอาเปรียบด้วยกฎหมาย ทั้งๆ ที่สิ่งนี้ควรจะเปรียบเสมือนเสื้อกันฝนในวันที่พายุได้โหมกระหน่ำเข้ามาเสียอีก
ในประเทศไทยการค้าบริการทางเพศเป็นความผิดทางอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติข้อลงโทษทางอาญาสำหรับผู้ค้าบริการทางเพศและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก มีการกำหนดฐานความผิดเฉพาะ และรุนแรงสุดคือการประหารชีวิต นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ได้ให้สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของการค้าประเวณีนั้นมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม ผู้ทำการค้าประเวณีส่วนมากเป็นผู้ซึ่งด้อยสติปัญญาและการศึกษา สมควรลดโทษผู้กระทำการค้าประเวณี และเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ถึงแม้ว่าจะมีการลดโทษและสนับสนุนการพัฒนาอาชีพอื่นๆแต่กฎหมายฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการด้อยค่าต่อผู้ที่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศและการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 40 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ไม่ปรากฏมาตราไหนเลยที่แสดงถึงการได้รับสิทธิในการถูกคุ้มครองและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับดั่งอาชีพอื่นในสังคม พนักงานบริการทางเพศได้กลายเป็นแรงงานที่ไร้สวัสดิการ ผิดกฎหมาย ถูกละเลยเฉกเช่นคนชายขอบ และถูกด้อยค่าในเกียรติและศักดิ์ศรี พ.ร.บ.ฉบับนี้เปรียบเสมือนโซ่ตรวนเส้นแรกที่คอยเหนี่ยวรั้งและกระชากเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ไปจากพวกเขา
ถึงแม้ว่าภาคประชาชนจะเสนอการ ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เพื่อให้การค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจไม่เป็นความผิดทางอาญา (Decriminalization) แต่ทว่าในปัจจุบันข้อเสนอนี้ก็ยังไม่เป็นผลเสียที คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อพนักงานบริการ (SWING) ได้กล่าวใน a day magazine ไว้ว่าการทำให้อาชีพขายบริการถูกกฎหมายจะไปขัดผลประโยชน์ต่อคนกลุ่มหนึ่งที่ช่วงชิงช่องโหว่ของกฎหมายในการกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเรียกรับเงินจากเจ้าของสถานบริการ หรือพนักงานบริการทางเพศโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อแลกกับการยอมไม่เอาผิดตามกฎหมาย ดังนั้นคุณสุรางค์จึงมองว่าผลประโยชน์จากการคอร์รัปชันเช่นนี้เองเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อย่างเป็นธรรม
ไม่เพียงแต่การขายบริการทางเพศจะขัดต่อกฎหมาย แต่อาชีพนี้ยังคงได้รับอคติทางด้านลบจากค่านิยมของคนบางกลุ่มในสังคม ที่มองว่าอาชีพนี้ขัดต่อกรอบของคำว่า “ศีลธรรมอันดี” และจึงบีบบังคับให้คนที่ประกอบอาชีพนี้กลายเป็นคนที่ไร้ศีลธรรม ถูกแบ่งชนชั้นออกจากบุคคลทั่วไป ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วสิ่งนี้เปรียบเสมือนโซ่ตรวนเส้นที่สองที่กักขังและหน่วงเหนี่ยวสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่ขายสิทธิในร่างกายของตนในการหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีวิต
โซ่ตรวนทั้งสองเส้นนี้ไม่เพียงแต่กักขังความเป็นมนุษย์ แต่ยังส่งผลร้ายแรงต่อการขัดในหลักสิทธิมนุษยชนอีกด้วย คุณสุรางค์ กล่าวใน a day podcast ว่า “ลูกค้าที่มาใช้บริการจะมองคนอาชีพนี้ว่าเป็นเพียงสินค้า เป็นเพียงวัตถุเพื่อระบายความใคร่ที่จะสามารถทำอะไรก็ได้ หลายครั้งที่พวกเขาต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายร่างกาย หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบซาดิสท์ กรณีที่แย่กว่านั้นคือคนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางคน ได้ใช้อำนาจของตนในการบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย เพื่อแลกกับการไม่ต้องเสียค่าปรับหรือไม่ต้องถูกจับ โดยที่พวกเขาไม่สามารถออกไปเรียกร้องใดๆ ได้เลย เนื่องด้วยการทำอาชีพขายบริการยังคงผิดกฎหมาย และจะถูกละเลยในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย”
ผู้เขียนขอเสนอกุญแจสำหรับปลดโซ่ตรวนพันธนาการเหล่านี้ด้วยหลักธรรมาภิบาล ได้แก่ หลักความยุติธรรม หลักการมีส่วนร่วม และหลักความรับผิดชอบ ซึ่งผู้เขียนได้เสนอให้เห็นสองมุมมองสำหรับการนำหลักธรรมาภิบาลข้างต้นมาปรับใช้ ในมุมมองแรกภาครัฐควรเปิดรับฟังความเห็นอย่างเป็นธรรมจากผู้ที่ประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ และให้ความเป็นธรรมต่ออาชีพพนักงานบริการ นำไปสู่การพัฒนากฎหมายที่รับรองสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน และความปลอดภัยของพวกเขาได้ กุญแจดอกแรกนี้จะสามารถช่วยลดปัญหาการถูกเอาเปรียบจากคนบางกลุ่มที่มุ่งกอบโกยผลประโยชน์โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายได้
ในมุมมองที่สอง คือการส่งเสริมให้คนในสังคมยอมรับและเคารพสิทธิของความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน เพื่อลดทัศนคติในแง่ลบต่ออาชีพพนักงานขายบริการ กุญแจดอกนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติต่อกันในสังคม รวมไปถึงความรุนแรงจากคนบางกลุ่มที่ยังมองว่าพนักงานขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ไม่มีคุณค่าและผิดต่อศีลธรรม อย่างไรก็ตามทุกคนล้วนอยากมีอาชีพที่ได้รับสิทธิและความเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และทุกคนก็ต้องการได้รับโอกาสและการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน
ถ้าผู้อ่านสนใจในการสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพนักงานบริการทุกเพศ และกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งไทยและต่างชาติเพื่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสิทธิต่างๆ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของ SWING Thailand และถ้าผู้อ่านสนใจในเรื่องของการส่งเสริมการสร้างธรรมาภิบาลเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพในอีกหลายแง่มุมมอง อีกทั้งโครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการพัฒนาเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชัน สามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ค HAND Social Enterprise
ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะชักจูงหรือส่งเสริมให้ผู้คนหันมาทำอาชีพขายบริการ เพียงแต่อยากจะนำเสนอให้เห็นถึงความอยุติธรรมในรูปแบบของการเลือกปฏิบัติ การถูกเอาเปรียบ การถูกตีตราว่าแตกต่าง และการถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนที่อยู่ในรูปแบบของกฎหมายและมุมมองต่อศีลธรรมบางประการ ที่นำไปสู่ปัญหาของความเหลื่อมล้ำและการคอร์รัปชันเท่านั้น …“ทุกคนสามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ความเชื่อที่แตกต่าง แต่ความเป็นมนุษย์ไม่สมควรแตกต่าง”
รักษ์ป่า อู่สุวรรณ
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล
ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”