แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริต : ศึกษากรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด

วิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงต่อการทุจริตของกระบวนการควบคุมน้ำหนักของหน่วยงานรัฐ เเละเสนอมาตรการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกที่มีประสิทธิภาพ พร้อมแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

การขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าพิกัดที่กฎหมายกำหนด ทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงทางหลวงและสะพาน ที่ได้รับความเสียหายจากการบรรทุกน้ำหนักเกินจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งปัญหาดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงต่อการทุจริตของกระบวนการควบคุมน้ำหนักของหน่วยงานรัฐ รวมถึงรูปแบบของการจัดการการทุจริตอย่างเป็นระบบและเครือข่าย เพื่อนำเสนอมาตรการในการควบคุมน้ำหนักบรรทุกที่มีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันการทุจริตได้พร้อมแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

โดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth Interview) การอภิปรายกลุ่มย่อย (Group Discussion) การรับฟังความคิดเห็น (Focus Group) รวมถึงการเก็บข้อมูลทางสถิติจริงภาคสนาม (Field Investigation)

สรุปประเด็นจากงานวิจัย

  • จากการศึกษา พบว่าปัญหาการบรรทุกน้ำหนักเกิน เกิดจากเหตุจูงใจในทางเศรษฐกิจ (Economic Incentive) เป็นสำคัญ โดยผู้ประกอบการต้องการลดต้นทุนของการขนส่ง ลงมากที่สุด (Cost Savings) เพื่อผลกำไรที่มากขึ้น อีกทั้งปัญหาการบรรทุกน้ำหนักเกินยังมีความเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับปัญหาการทุจริตติดสินบน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการทุจริตอยู่ที่ระบบและรูปแบบของการตรวจชั่งน้ำหนักตามกฎหมายที่ใช้กันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
  • ปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการทุจริตในรูปแบบของการจ่ายส่วยมาจากระบบและรูปแบบของการตรวจชั่งน้ำหนักที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ทำการตรวจชั่ง การบังคับ หรือควบคุมอุปกรณ์การชั่ง ดังนั้น วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ตรงประเด็น คือ การลดปฏิสัมพันธ์ และการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการตรวจชั่งน้ำหนัก โดยนำเอาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมมาปรับใช้ เพื่อให้การบังคับใช้ หรือการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นไปอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ ต้องทำให้ระบบดังกล่าว ดำเนินไปอย่างยุติธรรมโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 
  • เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักยวดยานด้วยระบบอัตโนมัติที่นำเสนอในงานวิจัยนี้ ได้แก่ เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High speed weigh-in-motion, HSWIM) เป็นการชั่งน้ำหนักในขณะที่รถเคลื่อนที่ผ่านแผ่นชั่งน้ำหนักที่ติดตั้งไว้ที่ผิวจราจร และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักยวดยานชนิดติดตั้งใต้สะพาน (Bridge weigh-in-motion, BWIM) เป็นการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกขณะเคลื่อนที่โดยอาศัยการติดตั้งอุปกรณ์วัดค่าความเครียด (Strain) ไว้บริเวณใต้สะพาน ทำให้สามารถวัดค่าความเครียดของสะพานเมื่อมียานพาหะนะแล่นผ่านได้ พร้อมทั้งบันทึกภาพถ่ายรถบรรทุก  ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ประกอบกับแนวคิดและหลักการทางกฎหมาย จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตกรณีบรรทุกน้ำหนักเกินได้
  • สำหรับข้อเสนอเเนะต่อการเเก้ไขปัญหาดังกล่าว มีดังนี้
    1. คณะผู้วิจัย เสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทำข้อเสนอต่อรัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยี WIM และ BWIM มาใช้ในการควบคุมน้ำหนัก และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยคณะกรรมการดังกล่าว ต้องมาจากบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก และกองบังคับการตำรวจทางหลวง เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้ง ควรศึกษาประเด็นความเป็นไปได้ของการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และข้อจำกัดด้านกฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมถึงประเด็นเรื่องงบประมาณ และความคุ้มค่าในเชิงประสิทธิภาพ
    2. คณะผู้วิจัย เสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอให้กระทรวงคมนาคม (โดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท) จัดทำฐานข้อมูลความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุดที่ปลอดภัยของสะพานแต่ละแห่งในเส้นทางการขนส่งสำคัญ เพื่อประกอบการวางแผนกำหนดเส้นทางที่สามารถเพิ่มน้ำหนักรถบรรทุกได้ รวมถึงเกณฑ์ค่าน้ำหนักรถบรรทุกที่ปลอดภัย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเสริมความแข็งแรงสะพาน และอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม
    3. หากผลการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในเชิงบวก สำนักงาน ป.ป.ช. ควรเสนอให้กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวง เป็นหน่วยงานนำร่องทดลองโครงการ โดยพื้นที่นำร่องที่เหมาะสม อาจเป็นบริเวณจังหวัดปริมณฑล หรือภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่ามีปริมาณรถบรรทุกหนักเกินพิกัดกฎหมายจำนวนมาก เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของระบบตรวจชั่ง และระบบการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ก่อนการดำเนินการในวงกว้างให้ครอบคลุมโครงข่ายถนนทั้งประเทศต่อไป
เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ทศพล ปิ่นแก้ว และอังคณาวดี ปิ่นแก้ว. (2560). รายงานวิจัย เรื่องแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริต : ศึกษากรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2560
ผู้แต่ง
  • ทศพล ปิ่นแก้ว
  • อังคณาวดี ปิ่นแก้ว
หน่วยงาน

หัวข้อ
Related Content

โครงการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจด้านการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของเจ้าหน้าที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดของประเทศไทย

ศึกษาและสํารวจข้อมูลระดับการรับรู้ของเจ้าหนาที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีต่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เพื่อลดพฤติกรรมความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ในอนาคต

โครงการศึกษาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาต โดยใช้อำนาจรัฐ

ศึกษาการตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการออกใบอนุญาต และศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเสนอแนะมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โครงการศึกษาความเหมาะสมและความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค.ศ.1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ

ศึกษาความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นภาคีตามอนุสัญญาองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค.ศ.1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ

แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริต : ศึกษากรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด

วิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงต่อการทุจริตของกระบวนการควบคุมน้ำหนักของหน่วยงานรัฐ เเละเสนอมาตรการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกที่มีประสิทธิภาพ พร้อมแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

You might also like...

KRAC Hot News I ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ

เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวล คือไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญยังเหมือนจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย…ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยยังแพง และมีบทเรียนจากต่างประเทศอะไรบ้าง

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ