ลงมือสู้โกง : เพิ่มคะแนน CPI…เดินหน้าแบบถอยหลัง ?

ปี 2565 กำลังจะผ่านพ้นไปแล้วครับ มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในปีนี้และหลายสิ่งก็กำลังจะพ้นไปพร้อมกับปี 2565 อย่างแรกคือวาระ 4 ปีของรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงต้นๆ ปีหน้า ปี่กลองการเลือกตั้งกำลังโหมกระหน่ำ สส.กว่า 30-40 ชีวิตลาออกย้ายพรรค สภาที่ล่มบ่อยอยู่แล้วก็ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะส่วนใหญ่เป็น สส.พรรครัฐบาล บางพรรคก็เริ่มเปิดนโยบายขายวิสัยทัศน์อนาคตประเทศไทย ในขณะที่บางพรรคเพิ่งจะเปิดตัว แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “พรรคใหม่แต่คนเดิมนะจ๊ะ” สำหรับแคนดิเดตนายกฯ นั้นก็มีให้ประชาชนคนไทยได้เลือกทั้งหน้าใหม่ หน้าเดิม ทั้งเคยเป็นมาแล้ว ทั้งที่อยากจะเป็น สิ่งที่ต้องรอลุ้นต่อไปก็คือ นโยบายที่นอกจากเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว จะมีพรรคการเมืองไหนที่ให้ความสำคัญกับนโยบายในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างชัดเจนจริงจังและเป็นรูปธรรมบ้าง

สิ่งที่สำคัญกว่ากระแสการเลือกตั้งในขณะนี้คือ ระยะเวลาที่กำลังจะหมดลงในการผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน หลายนโยบายทำได้ หลายนโยบายก็พบว่ายังทำไม่สำเร็จ หลายนโยบายบางพรรคลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าตัวเองเคยเสนอเอาไว้ ก็คงต้องใช้โอกาสนี้รวบรวมข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งที่จะถึงเร็วๆ นี้สักหน่อยว่า
พรรคไหน หรือ สส.คนไหนทำงานเป็นอย่างไรบ้าง หรือจะเข้าไปดูในเว็บไซต์ที่ชื่อ promisetracker.wevis.info ที่รวบรวมสัญญาของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เคยให้ไว้ว่าทำสำเร็จไปแค่ไหน ก็สะดวกดีครับ

ปี 2565 กำลังจะผ่านพ้นไปแล้วครับ พ้นไปพร้อมกับเป้าหมายคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (คะแนน CPI) ที่ประเมินโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ว่าประเทศไทยต้องได้ถึง 50 คะแนนภายในปีนี้ แต่จากการประกาศคะแนนของปี  2564 ประเทศไทยได้เพียงแค่ 35 คะแนน ต่ำกว่าแผนถึง 15 คะแนน ส่วนของปี 2565 ก็ต้องรอลุ้นช่วงประมาณเดือนมกราคม 2566 ว่าคะแนนจะเพิ่มหรือไม่ 

ปี 2565 กำลังจะผ่านพ้นไปแล้วครับ พร้อมกับ “คำพูด” ของผู้นำรัฐบาลที่เราได้ยินตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า จะแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างจริงจัง จะยกระดับคะแนน CPI ทั้งประกาศเป็นเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ กำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล เราได้เห็นการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่พยายามหาวิธีเพิ่มคะแนน CPI ทั้งทำการศึกษา หาแนวทางการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ ตั้งคณะทำงานหลายต่อหลายชุด ใช้งบประมาณทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเอาจริงกับการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ผลที่ได้ก็ไม่ได้ทำให้ค่าคะแนน CPI เปลี่ยนแปลงไปในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาและเมื่อเดือนก่อน คณะรัฐมนตรีก็ได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบระยะที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2566 ถึงปี 2570 ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้เสนอ ในการปรับเป้าหมายของปี 2566 เพิ่มคะแนน CPI ของประเทศไทยให้ได้ไม่ต่ำกว่า 51 คะแนนหรือติดอันดับที่ 53 ของโลก อ่านดูแล้วไม่รู้จะเริ่มสงสารใครก่อนดีเพราะเป้าหมายเดิมทำให้ได้ยังยากเลย

สิ่งที่ควรทำคือการตั้งคำถามต่อทิศทางและวิธีการในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มคะแนน CPI ตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ วิธีการยกระดับคะแนน CPI อาจไม่ใช่การเก็งข้อสอบเพื่อให้รู้ได้ว่าการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ ประเมินอย่างไร ถามใคร ด้วยคำถามอะไร แต่ควรจะเป็นการทำหน้าที่ตามปกติอย่างมีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชันของหน่วยงานตั้งแต่ระดับรัฐบาลไปสู่องค์กรทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ารัฐบาลและองค์กรต่างๆ เอาจริง ผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ ลงโทษผู้กระทำความผิดและดำเนินการต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่ขัดกับความรู้สึกของสังคม และที่สำคัญคือการทำงานอย่างเป็น “อิสระ” จากการเมืองและความเชื่อมโยงกับผู้นำรัฐบาล 

การบริหารงานของภาครัฐเองก็ควรดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ให้สำเร็จรวดเร็ว เช่นการปรับปรุงกฎหมาย ลดขั้นตอน ลดโอกาสและช่องว่างในการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐจากการขอใบอนุญาตและเอกสารต่างๆ ซึ่งทราบว่าดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่รัฐบาลก่อน จนตอนนี้ไม่รู้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร ปรับปรุงอะไรไปแล้วบ้าง อีกทั้งการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นผ่านการ “เปิดเผยข้อมูล” ของรัฐให้ประชาชนเข้าถึงได้ครบถ้วน ง่าย สะดวก ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อจำกัด และควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายข้อมูลข่าวสารเพื่อเพิ่มและยืนยันสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล ไม่ใช่เป็นการแก้กฎหมายเพิ่มสนับสนุนให้ภาครัฐปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลได้มากขึ้น อย่างที่ได้เคยพยายามทำในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะการเปิดเผยข้อมูลนั้นจะทำให้ประชาชนรับรู้การดำเนินการต่างๆ ของภาครัฐ รับรู้ขั้นตอนและการใช้งบประมาณ การมีข้อมูลที่ครบถ้วนที่ภาครัฐจริงใจในการเปิดเผยจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ เน้นย้ำอีกครั้งว่า “อยากโปร่งใสต้องเปิดเผย” 

ยกตัวอย่าง การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านหน้าเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. ที่มีกำหนดระยะเวลาในการเปิดข้อมูลเพียงแค่ 180 วัน ทั้งที่ข้อมูลนี้ควรจะเปิดตลอดเวลาเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลย้อนหลังได้ ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูเว็บไซต์นี้เมื่อวันก่อนก็หลงดีใจเห็นว่ามีการปรับปรุงหน้าเว็บไซต์ แต่ดันเป็นการปรับปรุง “แบบถอยหลัง” ที่ทำให้ไม่สามารถดาวน์โหลดข้อมูลออกมาได้เหมือนก่อน ดูข้อมูลก็ยากขึ้น หวังว่าในปี 2566 ทาง ป.ป.ช. จะเปลี่ยนใจและเปิดข้อมูลชุดนี้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย สะดวก มีมาตรฐานของข้อมูลและเปิดให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดข้อมูลไปใช้งานต่อได้ ไม่แน่ว่าแค่จุดเล็กๆ แบบนี้อาจจะทำให้คะแนน CPI เพิ่มได้ไม่รู้ตัว ก็ได้แต่หวังว่าในปี 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จะมีวิธีการและมาตรการใหม่ๆ ที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มคะแนน CPI และจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากกว่าที่ผ่านมา

…สวัสดีปีใหม่ 2566 ครับ…

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

ณัฐภัทร เนียวกุล

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เดินทางไกลเพื่อเรียนรู้การต้านโกง

สวัสดีจากซานฟรานซิสโก คุณอยู่กับต่อภัสสร์และนี่คือแก้โกงไกลบ้าน…ชวนอ่านว่าในต่างประเทศมีการพัฒนาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ? แล้วการเปิดเผยข้อมูลมีความสำคัญอย่างไร ?

You might also like...

บทความวิจัย : นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันและการให้สินบน

การศึกษาสาเหตุของปัญหาคอร์รัปชันและการให้สินบน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ การปรับทัศนคติของสังคม และโครงสร้างทางอำนาจของรัฐ

บทความวิจัย : การแก้ปัญหาคอรัปชันในยุคดิจิทัลตามแนวพุทธจริยธรรม

หิริโอตตัปปะ ฆราวาสธรรม และทิศ 6 หลักธรรมที่ควรนำมาประยุกต์เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาคอรัปชันในยุคดิจิทัล เพราะการแก้ปัญหาอาจต้องย้อนกลับไปแก้ไขที่รากเหง้า คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ

บทความวิจัย : กบฏโพกผ้าเหลือง กับเสถียรภาพทางการเมืองในวรรณกรรมสามก๊ก

“กบฎโพกผ้าเหลือง” สะท้อนให้เห็นว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนำมาสู่การล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ดังนั้น เพื่อเสถียรภาพทางการเมือง รัฐจะต้องมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอรัปชัน ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนให้อยู่ดีกินดี