KRAC ร่วมกับ เพจต้องแฉ หยิบเอาคำถามเรื่องคอร์รัปชันที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังสับสนในความเข้าใจ มาตอบด้วยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญให้คลายความสงสัย ครบจบในที่เดียว
คอลัมน์ “CORRUPTION SUM UP : เรื่องคอร์รัปชันที่คุณสงสัยเราสรุปไว้ให้แล้ว” เป็นการจัดทำชุดข้อมูลความรู้นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ KRAC กับ เพจต้องแฉ (Facebook : mustshareofficial) พื้นที่ออนไลน์ให้ประชาชนร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้วยกระบวนการ Crowdsourcing หรือการร่วมกันให้ข้อมูลเบาะแสการทุจริต
โดยหยิบเอาคำถาม มาตอบด้วยข้อมูล หรือผู้เชี่ยวชาญภายใต้ KRAC ให้คลายข้อสงสัย อันจะนำไปสู่การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ที่สนใจ ประกอบด้วยชุด Infographic และคลิปวีดิโอสั้น จำนวน 5 ชุด ซึ่งจะช่วยปูพื้นฐานความรู้เรื่องคอร์รัปชันสำหรับคนที่สนใจเรื่องคอร์รัปชันแต่อาจจะยังสับสนในความเข้าใจ ประกอบด้วย
- EP 1 : โกง กับ คอร์รัปชัน หลายคนคิดว่าสองคำนี้เหมือนกัน แต่ความจริงแล้วมีส่วนที่ต่างกันอยู่ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
- EP 2 : บัญชีม้าคืออะไร ? แล้วแบบไหนถึงจะเข้าข่ายเป็นบัญชีม้า ? และผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร
- EP 3 : ใครอยากแจ้งเรื่องคอร์รัปชัน แต่ยังกลัว ๆ อยู่บ้าง ?
- EP 4 : แจ้งเมื่อเจอคนคอร์รัปชัOน
- EP 5 : Checklist เรื่อง คอร์รัปชันที่เคยเจอในโรงเรียน
มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันใน #CorruptionSumup
Corruption Sum Up EP 1 : โกง VS คอร์รัปชัน ต่างกันยังไง?
โกง กับ คอร์รัปชัน หลายคนคิดว่าสองคำนี้เหมือนกัน แต่ความจริงแล้วมีส่วนที่ต่างกันอยู่ จะมีอะไรบ้าง KRAC Corruption และ ต้องแฉ จะพาไปดู
[นิยาม]
- โกง หมายถึง การทำผิดกฎหรืออาศัยช่องโหว่ของกติกาเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว
- คอร์รัปชัน หมายถึง การใช้ ‘อำนาจ’ โกงทรัพยากรส่วนกลางเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัว
[ขนาด]
- การโกงจะเกิดขึ้นระดับบุคคล หรือระดับเอกชน
- การคอร์รัปชันจะเกิดขึ้นในระดับกว้างและมีความซับซ้อนกว่า แต่มีผู้เสียประโยชน์ที่ไม่ชัดเจน ทำให้การคอร์รัปชันปราบยากกว่าการโกง
[ตัวอย่าง]
- การโกง เช่น โกงข้อสอบ แอบใช้สารกระตุ้นในการแข่งกีฬา
- การคอร์รัปชัน เช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่ การฮั้วประมูลล็อกสเปค การใช้เส้นสายขึ้นสู่ตำแหน่ง
[ผลที่ตามมา]
- การโกงทำให้ถูกตัดสิทธิ์ตามกติกาที่วางไว้ อาจเป็นการกระทำที่ผิดหรือไม่ผิดกฎหมายก็ได้
- การคอร์รัปชัน ส่งผลต่อประชาชน เกิดความความเสียหายต่อประเทศ และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
[สรุป]
- จุดที่เหมือนกันของการโกงและการคอร์รัปชัน คือ เป็นการกระทำที่ได้ประโยชน์ที่ไม่สมควรจะได้ สร้างความเสียหายต่อบุคคลอื่นและสังคม
[ตามไปฟังได้ที่]
Corruption Sum Up EP 2 : คิดดี ๆ ก่อนรับเปิดบัญชีม้า
รับเปิดบัญชีม้า’ ไม่ดีตรงไหน แค่เปิดบัญชีก็ได้เงินไปใช้สบายใจ ถ้าคุณกำลังคิดแบบนี้ เราให้โอกาสคิดใหม่ !!
KRAC Corruption และ ต้องแฉ จะพาไปดูวังวนของ “บัญชีม้า” ที่ใครเผลอเข้ามาก็ถอนตัวไม่ขึ้น รู้ตัวอีกทีก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนทำผิดกฎหมายให้มีเงินใช้ สบายๆ
ม้ามีเงินใช้ :
รับจ้างเปิดบัญชีม้า ได้เงินประมาณบัญชีละ 800-20,000 บาท
ม้ารู้…ม้าชี้ :
เปิดบัญชีม้าพร้อมแพ็กเกจบัตรประจำตัวประชาชนและซิมการ์ดชื่อเจ้าของบัญชี โดยไม่รู้ว่าคนซื้อบัญชีม้า จะเอาบัญชีเราไปใช้ทำอะไร
ม้าทางผ่าน :
เป็นบัญชีทางผ่านให้กับเงินที่ผิดกฎหมาย เช่น เงินจากการค้ายาเสพติด เงินจากแก๊งคอลเซนเตอร์ เงินจากการพนัน
ม้าทางผ่าน(อีกตัว) :
เป็นบัญชีทางผ่านอีกทอดของเงินผิดกฎหมาย
ม้า(หัว)หมุน :
โดนจับ เพราะการรับเปิดบัญชีม้าเป็นการทำผิดกฎหมาย โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คนทำผิดกฎหมายมีเงินใช้จ่ายง่ายผ่านการฟอกเงินด้วยบัญชีม้า แต่เรากลับต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกตรวจสอบหรือถูกอายัดบัญชี เสียค่าปรับหรือเข้าคุก รู้อย่างนี้ คิดดี ๆ ก่อนรับเปิดบัญชีม้า ไม่งั้นคุณอาจต้องจมอยู่ในวังวนนี้ต่อไปและไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมอีก
[ตามไปฟังได้ที่]
Corruption Sum Up EP 3 : ใครอยากแจ้งเรื่องคอร์รัปชัน แต่ยังกลัว ๆ อยู่บ้าง ?
มีใบไหม แจ้งไปแล้วไงต่อ !! ใครอยากแจ้งเรื่องคอร์รัปชัน แต่ยังกลัว ๆ อยู่บ้าง ?
KRAC Corruption และ #ต้องแฉ จะพาคุณไปรู้จักกฎหมายที่คุ้มครองพยานในประเทศไทย เพื่อให้คุณแจ้งเรื่องโกงได้อย่างมั่นใจขึ้น
ผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower) คือใคร
ผู้เเจ้งเบาะเเส มีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลการทุจริต การทำผิดกฎหมาย และเรื่องราวฉาว ๆ ในองค์กร แต่หลายครั้งพวกเขาต้องเก็บความลับไว้ในใจเพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย
กฎหมายที่คุ้มครองพยานในประเทศไทย:
แม้ว่ายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสโดยตรง แต่มีระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน พ.ศ. 2562 ที่คุ้มครอง ผู้กล่าวหา ผู้เสียหายผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต รวมคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานหรือบุคคลอื่น ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด
ยื่นขอคุ้มครองพยานได้ทั้ง 3 ช่องทาง :
- ยื่นคำร้องด้วยตัวเอง ที่สำนักงานป.ป.ช.ทั่วประเทศ
- ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานอื่น เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ยื่นผ่านทางอีเมล
สิ่งที่ได้รับเมื่อเข้าสู่มาตรการคุ้มครองของ ป.ป.ช. :
- สิทธิที่จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
- สิทธิที่จะได้รับค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้
- สิทธิที่จะได้ค่าที่พักเมื่ออยู่ใน Safe House
- สิทธิที่จะได้ค่าอาหาร
- สิทธิที่จะได้ค่าทดแทนเมื่อเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียงและทรัพย์สิน เพราะมีการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาเนื่องจากการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแส
การเปิดโปงคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ ‘ถูกต้อง’ และส่งผลต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมระบบยุติธรรมให้โปร่งใส ทำให้สังคมเท่าเทียมและน่าอยู่ขึ้น
หากยังไม่มั่นใจสามารถแจ้งเรื่องคอร์รัปชันแบบไม่เปิดเผยตัวตนได้ที่ www.nacc.go.th/allcomplaint หรือแจ้งเบาะแสมาทางเพจต้องแฉได้เลย !!
[ตามไปฟังได้ที่]
Corruption Sum Up EP 4 : แจ้งเมื่อเจอคนคอร์รัปชัน
สงสัยว่ามีการคอร์รัปชัน แต่ไม่รู้จะแจ้งที่ไหน ?
วันนี้ KRAC Corruption และ #ต้องแฉ ขอแชร์วิธีแจ้งเมื่อเจอคนโกง
- ถ้าเจอเรื่องสงสัยแต่ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับการทุจริต สามารถหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการของรัฐผ่าน www.actai.co เพื่อตรวจสอบและเก็บหลักฐาน หลังจากนั้นกดปุ่ม ‘แจ้งเหตุสงสัยทุจริต’ ในเว็บไซต์ เพื่อแจ้งเบาะแสผ่านไลน์ฟ้องโกงด้วยแชตบอต (@corruptionwatch) ได้ทันที
- แจ้งผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th/allcomplaint
กรณีไม่เปิดเผยตัวตน สามารถตั้งรหัสผู้ใช้ กำหนดรหัสผ่านและแจ้งเบาะแสได้ทันที โดยติดตามสถานะได้ผ่านทางเว็บไซต์และขอรับการคุ้มครองได้ในอนาคต
กรณีเปิดเผยตัวตน ระบุ e-mail และเลขประจำตัวประชาชน เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อ หลังจากนั้นระบุรหัสผ่าน สำหรับใช้ในการติดตาม สามารถขอรับการคุ้มครองได้ในอนาคตได้เช่นเดียวกัน - โทรสายด่วน ป.ป.ท. 1206
หากพบข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ทุจริตหรือประพฤติผิดโดยมิชอบ สามารถแจ้งเบาะแสร้องเรียนได้ทันที - ส่งเบาะแสให้ เพจต้องแฉ หรือ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน
ถ่ายรูปเป็นหลักฐานแล้วส่งมาทางช่องแชต ทางเพจจะช่วยแชร์และชวนคนมาตรวจสอบเรื่องที่อาจเข้าข่ายทุจริตในวงกว้างได้ - ส่งบัตรสนเท่ห์แจ้งเรื่องไปที่ส่วนกลาง
บัตรสนเท่ห์ เป็นจดหมายกล่าวหาข้าราชการ ชี้เบาะแส หรือส่งหลักฐานโดยไม่ระบุตัวตน โดยการส่งบัตรสนเท่ห์ต้องระบุหลักฐาน กรณีแวดล้อมชัดเจน และชี้พยานบุคคลที่แน่นอน
แจ้งคอร์รัปชันง่ายขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเจอ #คอร์รัปชัน เมื่อไรแจ้งมานะ..แจ้งมา เรื่องแบบนี้ #ต้องแฉ อยู่แล้วปะ
Corruption Sum Up EP 5 : Checklist เรื่อง คอร์รัปชันที่เคยเจอในโรงเรียน
โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน’ ในความจริงแล้วโรงเรียนของคุณเป็นยังไงบ้าง?
วันนี้ KRAC Corruption และ #ต้องแฉ ชวนทุกคนไปย้อนวันวาน ลอง Checklist เรื่องคอร์รัปชันในโรงเรียนที่เคยเจอกัน !
ถ้าพูดถึง #คอร์รัปชันในโรงเรียน หลายคนคงนึกถึงเรื่องใหญ่ ๆ เช่น การโกงค่าอาหารกลางวัน การจัดซื้ออุปกรณ์ แต่ความจริงคอร์รัปชันในโรงเรียนใกล้ตัวกว่านั้นมาก จนบางครั้งเรานึกไม่ถึงด้วยซ้ำ
แล้วคุณล่ะ? รู้หรือไม่ว่าถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนเป็นการ ‘คอร์รัปชัน’
- ครูให้ทุนกับลูกศิษย์คนโปรด : อาจทำให้คนที่มีปัญหาด้านการเงินจริง ๆ ไม่ได้รับทุน
- ครูทำโทษโดยการเก็บเงิน : เงินเข้ากระเป๋าครู ไม่ได้นำไปพัฒนาโรงเรียนต่อ
- ครูเก็บค่ากิจกรรมพิเศษแต่ไม่ได้นำเงินไปใช้ : ครูได้เงินไปใช้ ส่วนนักเรียนเสียค่าใช้จ่ายแต่ไม่ได้ประโยชน์
- ผอ.รับเงินแป๊ะเจี๊ยะแรกเข้านักเรียน : ผอ.ได้เงินแต่เด็กบางคนเสียโอกาสในการเข้าเรียน
- โรงเรียนบังคับซื้ออุปกรณ์การเรียนเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น : นักเรียนไม่มีทางเลือกในการซื้ออุปกรณ์ อาจได้ของที่ราคาสวนทางกับคุณภาพ
- อาหารกลางวันไม่มีคุณภาพ : โรงเรียนเก็บส่วนต่างค่าอาหารกลางวัน ทำให้เด็ก ๆ ขาดสารอาหาร
- ฝ้ารั่ว สนามพัง ห้องน้ำใช้ไม่ได้ : อาจมีการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้งบประมาณที่ได้มา ไม่ได้นำมาพัฒนาโรงเรียน
ถ้าเคยเจอเรื่องแบบนี้ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกโรงเรียนทำกันเพราะผลกระทบล้วนตกไปที่ ‘นักเรียน’ ทั้งเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองและเสียทุนทรัพย์เกินกว่าเหตุ ในขณะที่ผอ. ครู หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ จากโรงเรียนที่เคยน่าอยู่ ก็อาจกลายเป็นโรงเรียนที่น่าอาย
Tips สำหรับคนอยากแชร์ !
รู้หรือไม่ การแชร์และแลกเปลี่ยนข้อมูลช่วยให้เรื่องน่าสงสัยถูกชี้แจงและแก้ไขได้ ซึ่งตอนนี้มีเว็บไซต์ที่เปิดเผยข้อมูลโรงเรียน และมีฟังก์ชันในการประเมิน รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงเรียนได้ด้วย มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งและเริ่มก้าวแรกที่จะช่วยตรวจสอบโรงเรียน ได้ที่ schoolgov.actai.co
ศูนย์ KRAC
- เพจต้องเเฉ
เปลี่ยน Trainees เป็น Rookies ตัวท็อปของวงการ : ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 เพื่อปูพื้นฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน
ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 ที่จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน ผ่านแนวคิดทางวิชาการ และเรียนรู้แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน
มาแล้ว !! โอกาสพัฒนาความรู้สู่การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ
ชวนเรียนหลักสูตรต่อต้านคอร์รัปชัน และการส่งเสริมธรรมาภิบาลร่วมสมัยกับ 6 ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
คัดสรรงานวิจัยไทยต่อต้านคอร์รัปชัน ที่คุณอาจไม่รู้ (จัก) มาก่อน : ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทย 24 ชิ้น เพื่อทำความเข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชัน
ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทยที่ KRAC คัดสรรมาให้คุณ เพื่อจะทำให้คุณเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภายใต้บริบทของประเทศไทย