ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันในประเทศของเรา มีให้ได้ยินอยู่ตลอดทุกปี ไม่ว่าจะปัญหาเสาไฟกินรีที่ตั้งอยู่บนทางรกร้าง ถนนหลุมบ่อและทางเท้าที่เหมือนค่ายกลทดสอบไหวพริบ หรือ ปัญหาการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาลที่ล่าช้า สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองไปที่นักการเมืองหรือคนที่มีอำนาจ แท้จริงแล้วยังมีหลุมพรางที่เรามองข้ามอยู่
ถ้านายเอ็มทำงานออฟฟิศในองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งในเวลาเลิกงานจะรับอาสาเป็นครูในสถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้า ส่วนวันหยุดยาวจะเดินทางไกลเพื่อเป็นครูอาสาในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง บ่อยครั้งที่นายเอ็มมักหยิบอุปกรณ์เครื่องเขียนของบริษัทมาให้เด็กๆ เพราะถือว่าเป็นการทำบุญและไม่ได้หยิบไปจำนวนมา
เหตุการณ์ของนายเอ็ม บางคนคิดว่าไม่สำคัญอะไร เพราะบริษัทไม่เสียเวลาสนใจเรื่องเล็กน้อยแบบนี้ อีกอย่างการให้ทานเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่หรือ แล้วเราจะมัวกังวลทำไมในเมื่อเขาคิดดีทำดี!
นั่นแหละครับ ประเด็นที่ควรจะคิดใหญ่ เพราะการกระทำของนายเอ็มอาจไม่ได้ทุจริตใหญ่โตจนทำให้บริษัทเสียหายหรือมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ถือเป็นการทุจริตอยู่ดี โดยเราเรียกพฤติกรรมเช่นนี้ว่า “ทุจริตสีขาว” กล่าวคือ การกระทำที่ไม่เลวร้าย ไม่ได้ตั้งใจและไม่คาดคิดว่าจะเป็นการคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นการกระทำที่คนส่วนใหญ่เห็นว่ารับได้ แต่ความร้ายกาจของทุจริตสีขาวคือการสร้างมายาคติหรือชุดความคิดที่ว่า “ใครๆ ก็ทำกัน”, “มองที่เจตนา” ฯลฯ ทำให้การ
กระทำเหล่านั้นถูกชำระล้างความผิดไปโดยสิ้นเชิง แล้วจริงๆ คนส่วนใหญ่มองว่าการทุจริตคอร์รัปชันมีหน้าตาอย่างไรกันแน่
หน้าตาของคำว่า ทุจริตคอร์รัปชัน มาพร้อมกับภาพของนักการเมืองหรือองค์กรขนาดใหญ่ คนส่วนมากจะนึกถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อกอบโกยผลประโยชน์หาพวกพ้องหรือตนเอง จนทำให้ส่วนรวมเกิดความเสียหายหรือสูญเสียโอกาสต่างๆ ไป ภาพใหญ่โตและการแสดงถึงอำนาจบางอย่างทำให้ประชาชนทั่วไปมองว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขลำบากและไม่ใช่หน้าที่ของเขา เลยขอโบกมือลาและเบือนหน้าหนีดีกว่า ซึ่งก็ไม่มีใครฉุกคิดเลยว่า การหยิบอุปกรณ์ของสำนักงานไป ลัดคิว การเบิกเงินเกินไปไม่กี่บาท ตลอดจนการให้สินน้ำใจแก่กัน คือน้ำเลี้ยงของพฤติกรรมทุจริตจนนำไปสู่ความเสียหายใหญ่โตในอนาคต
จากผลสำรวจในปี 2021 ของ ABAC ร่วมกับ NIDA ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชันทรัพย์สินในสำนักงานคิดเป็น 83.6% และ 87.6% ส่วนใหญ่ลัดคิวเพื่อซื้อสินค้าและบริการ นอกจากนั้น 80.2% เคยติดสินบนในการทำงานที่ผ่านมา ข้อมูลเหล่านี้เน้นย้ำให้เราเห็นว่า คนไทยกำลังเคยชินกับพฤติกรรมเหล่านี้มานานแค่ไหนแล้ว หันกลับมามองในบริษัทที่นายเอ็มเป็นพนักงานอยู่ ถ้ารู้ว่าการลักทรัพย์เป็นความผิดทางจริยธรรมแล้ว นายเอ็มจะทำอีกหรือไม่
คำตอบอาจจะฟันธงเลยไม่ได้ แต่การศึกษาของ Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม ให้ข้อมูลกับเราว่า การตัดสินเชิงจริยธรรมเป็นผลพวงมาจากตัวแปรหลักคือ โอกาสในการกระทำผิดและต้นทุนการทำผิด กล่าวคือ การทุจริตยิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก หากต้นทุนวัตถุสิ่งของนั้นมีมูลค่าน้อย โน้มนำให้เกิดการทุจริตจำนวนไม่มากแต่เนิ่นนานจนอาจสูญเสียมูลค่ามหาศาล อย่างกรณีของนายเอ็มที่เห็นว่าวัสดุหรือเครื่องเขียนของบริษัทที่ทางองค์กรได้จัดสรรมาใหม่ทุกๆ ปี มีต้นทุนไม่สูงมากนักที่จะทำให้บริษัทเสียหาย และสิ่งของเหล่านั้นได้ไปมอบให้เด็กขาดโอกาส ยิ่งทำให้การทำผิดถูกแทนที่ด้วยเจตนาดี โดยสถานการณ์แบบนี้เรากำลังใช้ Moral Licensing หรือใบอนุญาตกระทำผิดมาพิจารณาการกระทำของนายเอ็ม ส่วนนายเอ็มเองก็อาจจะมองตนเองว่ามีเจตนาที่ดี จึงเป็นข้อยกเว้นในการ
กระทำความผิด แล้วบริษัทจะมีทางแก้ไขได้อย่างไร
หน่วยงานหรือองค์กร ควรมีการตรวจสอบและกำหนดข้อบังคับให้ชัดเจน ขณะเดียวกัน อย่าเพิกเฉยต่อการทุจริตในรูปแบบต่างๆ การกระทำเพียงเล็กน้อยที่เมินเฉยนำมาสู่สถานการณ์ “ลอยนวล” ที่อาจจะทำให้เกิดการทุจริตในรูปแบบอื่นที่กระจายวงกว้างมากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด บริษัทเองอาจจะไม่สามารถรู้ได้เองจึงต้องขอความร่วมมือจากทุกคนให้ช่วยดูแลทรัพย์สินของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ
Dan Ariely เขียนหนังสือ the (Honest) Truth about Dishonesty ได้บอกถึงปัจจัยหลักที่ทำให้คนเราทำผิดโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์นำไปสู่การโกงนั้นไม่ได้สร้างกระแสความกดดันให้กับสังคมที่ตระหนักว่าเป็นภัย คนส่วนใหญ่มักให้ความสนใจประเด็นคอร์รัปชันในระดับใหญ่ เช่น งบประมาณ
ที่ถูกใช้ไปอย่างน่าสงสัย หรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นภัยเงียบที่ฉาบด้วยมายาคติของเจตนาดี วัฒนธรรมอุปถัมภ์ ฯลฯ
กลับมาที่การกระทำของนายเอ็มถือว่าเป็นความผิดที่ต้องดำเนินการตามกฎหรือวินัยขององค์กร แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราเองต่างต้องตระหนักถึงภัยคุกคามของการทุจริต หมั่นตรวจสอบตนเองว่าการกระทำบางอย่างของเราได้ขัดต่อผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ เราทุกคนในฐานะพลเมืองควรต้องแยกแยะและพึงหลีกเลี่ยงการทุจริตในรูปแบบต่างๆ
ดังนั้น “เจตนาดี” จึงไม่เท่ากับ “คนดีเสมอไป”ความเคยชินต่อการโกงในรูปแบบทุจริตสีขาว เป็นเพียงการขุดหลุมขนาดใหญ่ที่รอวันให้พวกเราได้ตกลงไปในหลุมลึก ยิ่งเราเพิกเฉยยิ่งทำให้หลุมมีขนาดใหญ่มากพอให้ทุกคนตกลงไปในหลุมนั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่แน่ว่าในอนาคตเอง นายเอ็มอาจจะกลายเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจได้กระทำการทุจริตคอร์รัปชันให้พวกพ้องด้วยเจตนาดี ในขณะที่เราหรือคนที่เรารักต้องเสียผลประโยชน์หรือโอกาสไปโดยที่เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย
วรรณภณ หอมจันทร์
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น
แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เดินทางไกลเพื่อเรียนรู้การต้านโกง
สวัสดีจากซานฟรานซิสโก คุณอยู่กับต่อภัสสร์และนี่คือแก้โกงไกลบ้าน…ชวนอ่านว่าในต่างประเทศมีการพัฒนาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ? แล้วการเปิดเผยข้อมูลมีความสำคัญอย่างไร ?