เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผม (ต่อภัสสร์) ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ไปร่วมเวทีเสวนาเรื่อง เทคโนโลยีกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ในงานประชุมนานาชาติเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ครั้งที่ 2 (2nd Summit for Democracy) ซึ่งเป็นการประชุมที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านการเกิดขึ้นของระบอบอำนาจนิยม ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ คอสตาริกา เนเธอร์แลนด์ แซมเบีย และอื่นๆอีกมากมาย
งานนี้ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของนานาประเทศ เจ้าภาพเกาหลีใต้ก็จัดอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีประธานาธิบดีเดินทางมากล่าวเปิดงานด้วยตัวเอง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพต้อนรับแขก และมีผู้แทนผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วมและกล่าวเปิดงานจำนวนมาก จึงถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมเวทีเสวนาในการงานนี้ด้วย
ที่สำคัญ หัวข้อหลักในงานปีนี้คือ การต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีการอธิบายความเชื่อมโยงว่า การคอร์รัปชันเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตย และในทางกลับกัน การที่ประเทศไม่มีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและเข้มแข็งจะส่งผลให้คอร์รัปชันสูงขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ในปีนี้เจ้าภาพได้เชิญองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ
Transparency International (TI) ผู้พัฒนาดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) อันโด่งดัง มาร่วมออกแบบเนื้อหาการเสวนา
ทีนี้มาถึงเรื่องหลักที่ผมอยากนำเสนอในบทความนี้ว่า แล้วในเวทีระดับโลก ที่รวมตัวเบอร์ต้นๆ ของวงการต่อต้านคอร์รัปชันจากนานาชาติมาเขาคุยอะไรกันบ้าง ในงานนี้แบ่งเวทีเสวนาออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย Noh Kong Lee รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม เกาหลีใต้, Raja Kumar ประธาน Financial Action Task Force, Thomas Stelzer คณบดี International Anti-Corruption Academy, และ Peter Eigen, ผู้ก่อตั้ง Transparency International โดยมี Sook Jong Lee ผู้แทน Asia Democracy Research Network เป็นผู้ดำเนินการสนทนา ซึ่งเนื้อหาหลักที่พูดคุยกันก็เป็นไปตามชื่อหัวข้อเลย โดยทุกคนเห็นด้วยว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ไม่มีเขตแดนประเทศ คนที่โกงเงินจากประเทศหนึ่งก็มักจะส่งเงินไปซ่อนไว้ที่อีกประเทศหนึ่ง แล้วก็หนีไปใช้ชีวิตสุขสบายที่อีกประเทศหนึ่ง หรือบางทีคนที่โกงเงินเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในหลายประเทศ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความซับซ้อน และการสืบสวนสอบสวนทำได้ยาก ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันนั้น ทำคนเดียวภายในประเทศตัวเองไม่สำเร็จอย่างแน่นอน ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพจากทั้งรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมที่แข็งแรง
ช่วงที่ 2 บทบาทขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ Maria Ressa ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2021 และ CEO ของสำนักข่าวสืบสวนสอบสวน Rappler ในฟิลิปปินส์, Arianne Kassman CEO ของ TI ในประเทศปาปัวนิวกินี, คุณวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการโครงการแม่น้ำโขงเพื่ออนาคต WWF ประเทศไทย, Kengo Nishigaki คณะกรรมการต่อต้านสินบนประเทศญี่ปุ่น, และ Siti Juliantari Rachman ผู้แทน Indonesia Corruption Watch โดยมี Ji Yoon Kim นักวิจัยอาวุโส Institute of Democracy and Education เป็นผู้ดำเนินการสนทนา เนื้อหาในช่วงนี้ก็น่าสนใจมาก โดยมีความเห็นค่อนข้างไปในทางเดียวกันว่า รัฐอย่างเดียวไม่สามารถมีประสิทธิภาพพอที่จะแก้คอร์รัปชันได้ รัฐต้องเปิดโอกาสและสนับสนุนบทบาทของภาคประชาสังคมและเอกชนในการเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วย โดย Maria Ressa ยังได้ยกประเด็นเรื่อง Fake news ที่อันตรายอย่างมากและเป็นอุปสรรคต่อการต่อต้านคอร์รัปชันด้วย
ช่วงที่ 3 เทคโนโลยีกับการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ Efosa Ojomo ผู้อำนวยการ Global Prospoerity research group at the Clayton Christensen Institute for Disruptive Innovation, ผม ต่อภัสสร์ ยมนาค ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Niklas Kossow,Team Lead Transformation City of Technologies Stiftung Berlin / CityLAB Berlin, และ Chien-Liang Lee,Director of Institutum lurisprudentiae, Academia Sinica จากไต้หวัน โดยมี Dr. Daniel Eriksson CEO TI เป็นผู้ดำเนินการสนทนา ในช่วงนี้ต้องขออธิบายยาวเสียหน่อย เพราะเป็นวงเสวนาที่ผมร่วมอยู่ด้วยครับ
ในส่วนของผมเอง ผมได้นำเสนอว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดต้นทุนการต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น ทำให้หาข้อมูลหลักฐานต่างๆ ง่ายขึ้น และการร้องเรียนปลอดภัยมากขึ้น แต่เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้คอร์รัปชันได้ แอปพลิเคชั่นจะดีแค่ไหนก็ต้องมีคนใช้ถึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการทำความเข้าใจคน เพื่อดึงดูดให้คนมาร่วมต่อต้านคอร์รัปชันมากๆ ด้วย จึงสำคัญไม่แพ้กัน ด้าน Dr.Niklas จากรัฐบาลเมืองเบอร์ลิน ก็เล่าการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง บล็อกเชนมาใช้ในการเก็บและเปิดเผยข้อมูล ว่าสามารถช่วยกระจายอำนาจผ่านการเปิดเผยข้อมูลเพื่อป้องกันการคอร์รัปชันได้ดี
อย่างไรก็ตาม Dr. Daniel CEO TI ก็ทักขึ้นมาว่า ที่ผู้ร่วมเสวนานำเสนอมานั้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขคอร์รัปชัน แต่อย่ามองข้ามไปว่า คนที่จ้องจะโกงอยู่นั้นก็สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อดึงอำนาจมาสู่ตนเองและพวกพ้องเพื่อคอร์รัปชันได้เช่นกัน เช่น รถยนต์ติดเครื่องดักฟังที่ช่วยจับนักการเมืองที่กำลังเจรจาจ่ายสินบนในไต้หวันได้นั้น ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เช่นกันดังนั้นเราจะกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไรให้เกิดเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าสนใจมากและจำเป็นที่จะต้องขบคิดกันตั้งแต่วันนี้
ในช่วงสุดท้าย คือการสร้างความโปร่งใสทางการเงิน โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ Sanjay Pradhan CEO of the Open Government Partnership (OGP), Cynthia Gabriel ผู้อำนวยการ Centre to Combat Corruption & Cronyism มาเลเซีย, Gretta Fenner กรรมการผู้จัดการ Basel Institute on Governance, Che Sidanius Global Head of Financial Crime and Industry Affairs of Refinitiv, และ Ramandeep Chhina ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมทางการเงิน โดยมี Anita Ramasastry ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัย Washington เป็นผู้ดำเนินการสนทนา ซึ่งมีการพูดคุยกันเรื่องการเปิดเผยบุคคลที่ได้รับประโยชน์ (beneficiary ownership) คือ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ที่แท้จริง แม้จะไม่มีชื่อเป็นเจ้าของตามกฎหมาย ทำให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมายตามปกติ ไม่สามารถสืบไปถึงได้ และปัจจุบันเป็นช่องทางหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของผู้มีอำนาจที่ใช้รับผลประโยชน์ต่างๆ จากการคอร์รัปชันได้ โดยผู้ร่วมเสวนามองตรงกันว่าเป็นประเด็นสำคัญมากที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากรัฐบาลต่างๆ เท่าที่ควร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เวทีระดับโลกด้านต่อต้านคอร์รัปชันในวันนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่อง ความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความโปร่งใส ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้ตรวจสอบได้ทั่วถึงทั้งความสัมพันธ์ทางกฎหมายและที่ไม่เป็นทางการ เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิผล
กลับมามองที่ประเทศไทย วันนี้เราเริ่มคุยเรื่องนี้แล้วบ้างแต่ยังไม่เห็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะจากภาครัฐที่ยังมุ่งแก้คอร์รัปชันด้วยการใช้การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก ดังนั้นผมจึงตั้งใจว่าจะผลักดันให้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันมากขึ้นในประเทศไทย โดยศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาล (KRAC) จะนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันในการสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ในเดือนมิถุนายนนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้จากบทความนี้เลยครับ
- รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
- ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน
โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า
หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !