แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : 11 ปี ACT มีอะไรดีขึ้นบ้าง?

ทุกวันที่ 6 กันยายน ถือเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของคุณดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้ริเริ่มรวบรวมพลังจากภาคเอกชนและประชาชนก่อตั้งเป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ในวันนี้ และในวันที่ 6 กันยายน 2565 นี้ ก็จะครบรอบ 11 ปีขององค์กรภาคประชาสังคมแห่งนี้แล้ว เราจึงอยากทบทวนการเกิดขึ้นและมีอยู่ของ ACT พร้อมฝากข้อคิดและคำถามจากเราสองคนไปถึงองค์กรแห่งนี้ด้วย

ต่อตระกูล : ผมจำได้ว่าได้รับโทรศัพท์จากคุณดุสิต นนทะนาคร มาคุยชักชวนเข้าร่วมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ในช่วงแรกๆ ที่ยังสะกดคำว่าคอร์รัปชันว่า “คอร์รัปชั่น” แบบที่ยังมีไม้เอกอยู่เลย) ผมสนับสนุนเต็มที่เลย เพราะอยากเห็นกลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่ ร่วมมือกันมาช่วยกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย ที่เป็นปัญหาใหญ่มาก เห็นกันแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขได้โดยการพึ่งพานักต่อสู้ ที่กล้าตาย ตะลุยเปิดโปงคนทุจริตโกงชาติไปทีละกรณีๆ ไปได้ นักต่อสู้ที่กล้าตายสู้ไปเดี่ยวๆ ก็มักจะจบลงในที่สุดเหมือนๆ กันด้วยการถูกบีบให้เลิกราไปเอง หรือถ้าหนักหน่อยก็หายตัวไปหรือถูกเก็บไปเลย

ช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มทำงานเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ผมก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นเรื่องอันตราย จนกระทั่งเพื่อนๆ และคนรู้จัก เมื่อพบกันก็มักจะอวยพรให้ผมรอดปลอดภัย เสมือนว่าผมกำลังจะไปออกศึกสงคราม ที่น่าจะไม่รอดกลับมา หรือในทางตรงกันข้ามเลยบางคนที่ร่วมกิจกรรมอุทิศตัวให้กับงานส่วนรวมในมหาวิทยาลัยมาด้วยกันมา ซึ่งนึกว่าจะให้กำลังใจกัน กลับบอกว่าพี่ทำเรื่องพวกนี้ ขอผมอยู่ไกลๆ พี่ดีกว่า มันอันตรายกับธุรกิจของผมด้วย! จนผมกลายเป็นคนน่ารังเกียจในสายตาหลายคนไป อาจจะเป็นเพราะในอดีตมีแนวคิดที่ว่าคนที่ต่อสู้กับคอร์รัปชันนั้นมีแต่พวกนักต่อสู้หัวรุนแรงกับพวกนักเปิดโปงมืออาชีพในคราบนักข่าว ซึ่งมีรายได้ประจำจากการขุดคุ้ยแล้วเรียกเงินค่าปิดปาก

ดังนั้น เมื่อมีคุณดุสิต ซึ่งอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นที่เชื่อถือของในองค์กรของธุรกิจมาเป็นผู้นำ ทำให้ได้มีคนมาร่วมสนับสนุนจำนวนมาก และแถมมีพลังสนับสนุนในเรื่องเงินทุนดำเนินการตามมาด้วยแต่สิ่งสำคัญที่ผมเห็นว่าการรวมตัวครั้งนั้นแตกต่างกว่าการต่อสู้ที่ผ่านๆ มา ก็คือ การที่เริ่มมีระบบการบริหารจัดการที่ดีด้วยความรู้และประสบการณ์ของนักบริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายคน มาใช้นำคนและทรัพยากรไปสู่จุดมุ่งหมายยิ่งใหญ่ได้สำเร็จได้

การเริ่มต้นขององค์กรแห่งนี้ สำหรับผมมันจึงเป็นความยิ่งใหญ่มากๆ เป็นการสร้างความหวังให้กับสังคมด้วยภาคเอกชนและประชาชนที่ไม่ได้มีอำนาจรัฐใดๆ ในมือ และไม่รับเงินทุนสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐด้วย เพื่อรักษาความเป็นอิสระในการทำงานป้องกัน ปลูกฝัง และเปิดโปงการคอร์รัปชันในประเทศไทยได้

ต่อภัสสร์ : ส่วนผมเองได้เริ่มมีโอกาสมาร่วมงานกับ ACT เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน จากการที่ทำงานวิจัยเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นวิทยานิพนธ์ สิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับว่า ACT สามารถทำได้ดีมากคือการสร้างความรับรู้เรื่องการคอร์รัปชันในสังคมไทย เพราะอย่างที่พ่อเล่ามาข้างต้น สมัยก่อนเรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องน่ากลัวมาก คนที่ต่อต้านคอร์รัปชันก็ดูเป็นนักสู้ดุดันกล้าตาย ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนธรรมดาจะไปเกี่ยวข้องเลย จึงไม่แปลกใจที่ผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อหลายปีก่อน ชี้ว่าคนไทยจำนวนมากเห็นคอร์รัปชันเป็นเรื่องไกลตัว เมื่อเทียบกับวันนี้ที่คนไทยเกิน 90% คิดว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องใกล้ตัว และประชาชนอย่างเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ถึงแม้ว่าสถานการณ์คอร์รัปชันจะยังไม่ดีขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้ แต่การปลุกพลังสังคมให้มาสนใจเรื่องคอร์รัปชันได้มากขนาดนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหานี้ได้ ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐหรือกฎหมายได้อย่างเดียว แต่ต้องมีประชาชนจำนวนมากที่ร่วมกันติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจและงบประมาณของชาติ

ความท้าทายต่อไปของ ACT คือเมื่อมีพลังจากประชาชนมากขนาดนี้แล้วจะชวนไปทำอะไรต่อ เพราะแค่การแสดงพลัง ออกมาพูดว่าไม่ยอมรับคอร์รัปชัน มันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแน่นอน และถ้ายังดั้นด้นที่จะทำเพียงเท่านี้เพื่อตอบโจทย์เดิมเมื่อเริ่มก่อตั้งต่อไปอาจจะกลายเป็นผลร้ายได้เสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อลุกขึ้นมาแสดงพลัง แต่ไม่รู้จะต้องทำอะไร แล้วสถานการณ์ก็ไม่เปลี่ยน คนที่ลุกขึ้นมาพร้อมร่วมต่อสู้ก็จะหมดกำลังใจความหวังที่เคยมีอาจพลิกกลับเป็นความผิดหวังและท้อใจ ยอมรับความพ่ายแพ้กับปัญหาไปอย่างสิ้นหวัง

ดังนั้นในวันนี้ที่ ACT เริ่มขยับมาสร้างเครื่องมือติดอาวุธให้ประชาชนด้วยข้อมูล จึงเป็นก้าวต่อมาในทิศทางที่ดูมีความหวัง ในเวทีวันต่อต้านคอร์รัปชันเมื่อ6 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างและความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองและนักการเมือง สำหรับให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้อย่างง่ายดาย และเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน และให้เจ้าหน้าที่รัฐแจ้งเบาะแสอย่างปลอดภัย ไปสู่หน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำผิดโดยตรง โดย ACT ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน คอยติดตามให้ว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว และคอยกระทุ้งหน่วยงานตรวจสอบเหล่านี้ให้ทำงานอย่างยุติธรรม ตรงไปตรงมา และรวดเร็ว

จากก้าวแรกที่ปลุกพลัง สร้างความหวังให้สังคม ด้วยการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ จนสามารถปลุกกระแสให้คนไทยจำนวนมากลุกขึ้นมาพูดเรื่องคอร์รัปชันได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น มาจนถึงก้าวต่อมาในการเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนด้วยข้อมูล ชี้ช่องทางให้คนที่ลุกขึ้นมาแล้วสามารถทำเพื่อแก้ไขปัญหาได้จริงด้วยตัวเอง โดยง่ายดายและปลอดภัยในวันนี้ นับว่าตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ACT เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่สร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการก้าวเดินของ ACT ก็ได้พบเจอกับคำครหาต่างๆ และคำถามจากสังคมมากมาย ต่อประสิทธิภาพการทำงาน การขยายขนาดผลกระทบการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่หลากหลาย หรือแม้กระทั่งความเป็นกลางไม่เลือกข้างทางการเมือง ดังนั้นเราก็คงต้องติดตาม เพื่อทั้งให้กำลังใจ และทักท้วงพร้อมให้ความเห็นกับทิศทางและกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งนี้ต่อไป

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น