ลงมือสู้โกง : 7 วัน อันตราย…เทศกาลซื้อขายความผิด

เริ่มต้นเดือนเมษายน บรรยากาศของกรุงเทพมหานคร ดูจะยิ่งคึกคักมากขึ้น การต้อนรับเดือนที่มีวันหยุดมากที่สุดในรอบปี เดือนที่หลายๆ คนในเมืองใหญ่ ตื่นเต้นที่จะได้ออกไปเที่ยว เดือนที่หลายคนรอคอยที่จะได้กลับบ้าน แต่ปีนี้เป็นปีที่พิเศษออกไป เพราะกรุงเทพฯเต็มไปด้วยป้ายหาเสียงผู้ว่าฯหลังจากที่ห่างหายมานานมากๆ รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังพุ่งตัวสูงขึ้นอย่างไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง ค่าน้ำมัน และค่าครองชีพก็พุ่งทะยานขึ้นฟ้า จนคนกรุงเทพฯแทบจะปรับตัวกันไม่ทัน

สงกรานต์ เทศกาลแห่งการสังสรรค์ การเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร กระจายตัวเข้าสู่เมืองต่างๆ เพื่อพบปะญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง รวมไปถึงการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วง 7 วันเทศกาลสงกรานต์นี้สูงมากในทุกปี ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ทรัพย์สินเงินทอง แต่รวมไปถึงการเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รักอีกด้วย อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ การเมาแล้วขับ การขับขี่รถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขับรถไม่ใช้หมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันกันได้ ด้วยจิตสำนึกที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมทั้งสิ้น แม้ว่าสงกรานต์ที่คุ้นเคยได้หายไปนานกว่า 3 ปีแล้วจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่รัฐบาลมีมาตรการงดจัดกิจกรรม ขอความร่วมมืองดเดินทาง ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตลงลดในปีที่ผ่านมา

แต่ในปีนี้นั้น ประชาชนขยับตัวเดินทางกันอีกครั้ง รัฐบาลได้ออกมาตรการ 3 ด่าน 3 ม. เพื่อช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุและการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 แล้ว ไม่เพียงแค่นั้น อีกปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับเทศกาลการเดินทางนี้ คือปัญหาการจ่ายและเรียกรับส่วยจากการกระทำความผิดของผู้ใช้รถใช้ถนนและผู้บังคับใช้กฎหมาย พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นเงินทอง ข้าวของที่สามารถทดแทนความผิดได้ ตั้งแต่ความผิดเล็กน้อยไปจนถึงความผิดที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จากต้องจับให้ใบสั่ง เปลี่ยนเป็นการเรียกและรับแทน พฤติกรรมเหล่านี้ แม้ว่าไม่ใช่เทศกาลก็มีให้เห็นโดยทั่วไป แต่จะเพิ่มปริมาณขึ้นในช่วงเดินทาง จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่คุ้นชินไปเสียแล้ว การจ่ายเงินเพื่อซื้อความผิดของตัวเอง มีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เมาแล้วขับ ขอจบเรื่องราวง่ายๆ แค่การจ่าย จบ แยกย้ายไปตามทางที่ตัวเองตัวการ หรือแม้กระทั่งปล่อยปละละเลยในการทำหน้าที่ตรวจค้นยาเสพติดของผิดกฎหมายจากรถผู้ต้องสงสัย การไม่ดำเนินการใดใดกับร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์เกินเวลา หลังจากการรับสินบนมาแล้วก็ตาม การคอร์รัปชันที่เกิดจากการต้องการซื้อความผิดที่ตัวเองได้ทำลงไป ไม่ว่าจากการประมาทหรือการตั้งใจ จ่ายเพื่อซื้อความสะดวกสบายในการจบปัญหาที่มีท่าทีว่าจะยุ่งยากวุ่นวายโดยเร็ว การไม่ตระหนักในความผิดเล็กน้อยของตัวเองทำให้การขยายตัวของตลาดซื้อขายความผิดกระจายตัวออกไปจนกลายเป็นวัฒนธรรมผิดๆ ไปเสียแล้ว ปัญหาเหล่านี้เกิดจากระบบความคิดที่ทำงานผิดพลาดไปหรือเพราะปัญหามันวนลูปไม่ได้รับการแก้ปัญหามายาวนานจนทำให้ประชาชนหรือตำรวจเองคิดไปว่าสามารถคอร์รัปชันได้ไม่เป็นความผิดอะไรขอแค่ให้ตัวเองได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็พอหรือเปล่านะ นี่เป็นคำถามที่ตอบได้ยากจริงๆ

อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่ออย่างสุดใจว่า ไม่ว่าจะเป็นความเคยชิน เป็นวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเป็นรากเหง้าของระบบที่เป็นปัญหา ทุกสิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นได้ ถ้าเราตั้งใจที่จะต่อสู้ พร้อมใจเปลี่ยนแปลงมันอย่างจริงจัง ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกคนที่แวะเวียนมา ร่วมกันตระหนักและสร้างกลไกความรับผิดชอบสังคมให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อย่างเช่น แฟลตฟอร์ม Veza ของประเทศแอฟริกาใต้ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดคอร์รัปชัน แพลตฟอร์มนี้ ช่วยให้ประชาชนรายงานการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจและประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูล Open source ในการเฝ้าระวังการเกิดคอร์รัปชันโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ ที่เกิดเหตุเลือกประเภทคอร์รัปชัน เลือกสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงสามารถระบุตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ โดยรายงานจะถูกแสดงผลเป็น Hotspot เพื่อให้ประชาชนกดเข้าไปดูรายงานในจุดต่างๆที่ประชาชนแจ้งเข้ามาได้ว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาคอร์รัปชันอะไร อย่างไร เครื่องมือนี้จะเป็นพื้นที่รวบรวมข่าว สถานการณ์คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เมื่อประชาชนมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส ปัญหาที่แจ้งได้รับการแก้ไขโดยมีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างชัดเจน ทำให้โอกาสในการกระทำความผิด ปัญหาการซื้อขายความผิดก็น้อยลงตาม เครื่องมือนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ให้เราได้คิดตามเพื่อพัฒนาเครื่องมือที่สามารถทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ มีความโปร่งใส่ และก่อให้เกิดกลไกความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน

7 วันอันตราย 2565 ที่ตำรวจได้เตรียมกำลังพลไว้มากกว่า 80,000 นาย เพื่อเฝ้าระวังอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้น หวังว่าเจ้าหน้าที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังเต็มที่เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และหยุดเป็นสะพานเชื่อมที่ทำให้ยอดความสูญเสียเพิ่มขึ้นจากการซื้อขายความผิดนี้อีกต่อไป อย่าปล่อยให้ผลลัพธ์ของความเคยชินจากการกระทำผิดส่งต่อไปยังลูกหลาน และทำให้ประเทศเราต้องมีตัวชี้วัดหลายๆ ตัวดิ่งลงเหว เหมือนตัวเลขผู้เสียชีวิตใน 7 วันอันตราย หยุดวงจรการซื้อขาย หยุดการเรียกรับสินบน ลุกขึ้นมารับผิดชอบสังคม และลุกขึ้นปฏิเสธการคอร์รัปชันร่วมกัน

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

เพียงกมล สุรางค์ไทย

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย

การตรวจจับที่ดีกับการเพิ่มโทษทางกฎหมาย คนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน ? นี่เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมานานในสังคม แม้กฎหมายการลงโทษที่รุนแรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจจับคนผิดมาลงโทษได้ การเพิ่มโทษก็คงไร้ความหมาย ในขณะเดียวกัน หลายครั้งกระบวนการตรวจจับก็มีขั้นตอนที่ชักช้า อย่างเช่นคดีคอร์รัปชันบางคดีที่กว่าจะตัดสินได้ก็ใช้เวลานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นได้ว่าทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น