ลงมือสู้โกง : Bangkok Budgeting ร่วมสร้างสรรค์ ชวนจับตา ให้งบกรุงเทพฯ ถูกใช้อย่างจุด

ท่านผู้อ่านเคยต้องเลือกซื้อของขวัญให้คนที่เรารักไหมครับ? ไม่ว่าจะเป็นภรรยา สามี คุณพ่อ คุณแม่พี่สาว น้องชาย เพื่อนฝูง ฯลฯ ผมเชื่อว่าหลายท่านเคยเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ ทางฝั่งผู้ให้เองก็ประสบปัญหา ไม่ทราบว่าจะซื้ออะไรให้ถูกใจผู้รับ ครั้นจะถามก็เดี๋ยวผู้รับจะเกิดการเกรงใจหรือตอบกลับว่า “ตักบาตรอย่าถามพระ!” ก็ต้องมาทายใจ เดาใจว่าผู้รับนั้นอยากได้อะไร และก็ต้องมองไปในกระเป๋าสตางค์ของตนเองด้วยว่าสามารถที่จะซื้อหามาได้โดยไม่ลำบากจนเกินไปนักหรือไม่ ถ้าซื้อมาแล้วไม่เกิดอรรถประโยชน์ใดๆกับผู้รับก็คงจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

ฟากผู้รับนั้น เมื่อได้รับของขวัญก็คงดีใจในน้ำใจ ส่วนของที่ได้รับนั้นจะถูกใจ ถูกไซส์ ถูกจริตได้ใช้บ้าง หรือไม่ถูกใจก็ส่งต่อบ้าง เก็บเอาไว้บ้างก็มีหลากหลาย บ่อยครั้งเราจึงเห็นว่าของขวัญก็เป็นเงินสดใส่ซอง อยากได้อะไรก็ไปซื้อหาให้ถูกใจเอาเองเถิด อาจจะไม่ถูกใจอย่างเดียวก็คือจำนวนเงินนี่แหละครับ (ฮา)

จะว่าไปก็เหมือนกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐ ราชการ เทศบาล หรือ อบต. ต้องมาทำการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อทำโครงการพัฒนาบ้านเมืองให้กับประชาชน เพียงแต่ไม่มีกฎมารยาทว่าไม่ควรถามผู้รับ ไม่ต้องกังวลเรื่องต้องสร้าง เซอร์ไพรส์ให้กับผู้รับ สิ่งที่ต้องทำคือต้องถาม ต้องสำรวจความต้องการของประชาชน และที่สำคัญฟากผู้ให้ (บริการประชาชน) นั้นต้องคำนึงว่าของขวัญชิ้นนี้ถูกใจเฉพาะคนกลุ่มเดียวที่ผู้ให้รู้จักมักคุ้นทุกครั้งไปไม่ได้! เพราะประชาชนในสังคมนั้นๆ มีมากมาย มีความต้องการที่หลากหลาย และให้คุณค่าการพัฒนาในสัดส่วนที่อาจจะเหมือนกันบ้างและต่างกันบ้างภายใต้ทรัพยากรในการพัฒนาที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมจัดสรรทรัพยากรในการพัฒนาสังคมนั้นๆ

เมื่อเหลียวดูกลไกที่เคยมีมาแต่เดิม อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เรื่องยากในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจัดสรรทรัพยากรในการพัฒนาสังคมหากเราอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ใหญ่เกินไปนักคนในสังคมสามารถไปมาหาสู่กันในชุมชนได้สะดวก สามารถร่วมประชุมกับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่จัดสรรทรัพยากรได้อย่างสม่ำเสมอ และมีสถานที่รองรับ กระบวนการที่จะทำให้ ผู้ให้หรือผู้จัดสรรทรัพยากรทำงานได้ตรงตามความต้องการของ ผู้รับหรือประชาชน อาจเป็นการเรียกรวมผู้คนในพื้นที่มาประชุมกันเพื่อร่วมกันลงคะแนนว่าจะจัดสรรงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาอะไรบ้าง อะไรเป็นปัญหาที่จำเป็นเร่งด่วนและมีความสำคัญ ไปจนถึงการวัดผลความพึงพอใจเมื่อโครงการนั้นๆ เสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวก็ยังเป็นความท้าทายสำหรับสังคมขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครที่ผู้คนมีจำนวนมากและอาจจะไม่ได้มีเวลาว่างพร้อมกันมาประชุมให้ความเห็น

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านชาว กทม. ก็อย่าเพิ่งน้อยใจไปครับ เพราะเร็วๆ นี้ หลายองค์กรที่ทำงานภาคสังคม เช่น Glow Story, Punch Up, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT, HANDSocial Enterprise และ SIAM-lab เห็นปัญหาและโอกาสในการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม จึงได้ประยุกต์กระบวนการออกแบบงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ผนวกกับเทคโนโลยี พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า Bangkok Budgeting เพื่อเชิญชวนประชาชนทุกท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบงบประมาณและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเสนอโครงการกับงบประมาณในการพัฒนากรุงเทพมหานครครับ โดยสามารถเข้าไปได้ที่ https://projects.punchup.world/bangkokbudgeting

Bangkok Budgeting นี้เป็นแพลตฟอร์มที่นำข้อมูลการวางแผนในการแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานคร รวมถึงมูลค่าการใช้งบประมาณมาเปิดเผยในรูปแบบที่เข้าใจง่าย มีช่องทางให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและออกแบบการใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ว่าควรนำงบประมาณการพัฒนาเมืองเหล่านี้ไปใช้กับเรื่องใดบ้างผ่านการผลโหวตลงคะแนน ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกรวบรวมเพื่อนำเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปครับ

นอกจากนั้นแล้ว ผมยังขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมงาน Good Society Summit 2021 ในวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2564 โดยเฉพาะในวันที่ 19 นั้น ทางผู้จัดงานได้ร่วมกับ THE STANDARD จัดงานเสวนาออนไลน์ “From People’s Voice to Policy” เวลา 15.00 – 17.00 น. ที่จะมาเสวนากันเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการออกแบบนโยบาย โดยผู้เข้าร่วมวงเสวนาประกอบไปด้วย คุณอ๊อฟ-ชัยนนท์หาญคีรีรัตน์ ผู้ดำเนินรายการ, คุณพงศกร ขวัญเมืองโฆษกกรุงเทพมหานคร, คุณรสนา โตสิตระกูลผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร, คุณณัฐพงษ์เรืองปัญญาวุฒิ สส.กทม. พรรคก้าวไกล และคุณธีรรัตน์ สำเร็จวานิช สส.กทม. พรรคเพื่อไทยผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้บนช่องทางออนไลน์ของ THE STANDARD และเว็บไซต์ http://goodsociety.network หรือเฟซบุ๊ค Good SocietyThailand ครับ

ผมสังเกตว่าหลายปรากฏการณ์ในประเทศที่ผ่านมาในช่วงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรในช่วงวิกฤตการณ์โควิด เรื่องการตรวจสอบการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมอย่างเสาไฟกินรี เรื่องการร่วมกันรณรงค์ในการคัดค้านร่างกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือเสนอกฎหมายใหม่ๆ นั้น เป็นเครื่องชี้ชัดได้เป็นอย่างดีว่าประชาชนพลเมืองส่วนใหญ่นั้น มีความตื่นรู้และมีความสนใจในการมีส่วนร่วมพัฒนา “บ้านเมือง” ที่พวกเขาเหล่านั้นอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ผมหวังว่าแพลตฟอร์ม BangkokBudgeting นี้ จะเป็นช่องทางสำหรับทุกคนในการแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนากรุงเทพมหานคร และเป็นตัวช่วยผู้ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรให้มีข้อมูลในการพัฒนา “บ้านหลังใหญ่” ที่ประชาชนอาศัยอยู่ได้อย่างถูกใจประชาชน เพื่อสังคมที่ดี จะได้มี Good Society กันจริงๆ ครับ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2564
ผู้แต่ง

สุภอรรถ โบสุวรรณ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

ลงมือสู้โกง : บริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารแบบธรรมาภิบาล

รู้หรือไม่ ปี 64 เราสูญเสียงบจากการคอร์รัปชันกว่า 2 หมื่นล้านบาท !! งบประมาณเหล่านี้ แทนที่จะได้นำไปสร้างโครงการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับต้องไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง
.

You might also like...

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ

บทความวิจัย : นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันและการให้สินบน

การศึกษาสาเหตุของปัญหาคอร์รัปชันและการให้สินบน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ การปรับทัศนคติของสังคม และโครงสร้างทางอำนาจของรัฐ