การทำความเข้าใจถึง “วัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน” ที่เกิดขึ้นในบริบทของสังคมไทยในรายละเอียด ด้วยการศึกษาถึงการใช้ภาษา การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคอร์รัปชันของผู้คนในสังคม มีส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีพื้นฐานเริ่มต้นมาจากความรู้และความเข้าใจที่มีต่อการคอร์รัปชันของประชาชนในสังคม และนำไปสู่ทางออกของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง เพื่อจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิผลในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
หากเราต้องการที่จะทำให้ “วัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน” เป็นเรื่องที่มีการยึดถือปฏิบัติร่วมกันของคนในสังคม การทำความเข้าใจถึงบริบทแวดล้อมที่ผู้คนในสังคมนั้นดำรงอยู่ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การออกเเบบวิธีการต่อต้านคอร์รัปชัน มีพื้นฐานอยู่บนวิธีคิดของผู้คนในแต่ละสังคม เเละกลายเป็นหลักที่ยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้ในระยะยาว
ซึ่งงานวิจัยของ ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ (2563) เรื่อง โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 ได้มีการออกแบบการวิจัยและกิจกรรมบนฐานคิดที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความหมายของคอร์รัปชันในบริบทของสังคมไทย โดยศึกษาถึงการใช้ภาษา การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคอร์รัปชันของผู้คนในสังคม เพื่อพัฒนาและออกแบบวิธีการทำความเข้าใจคนในสังคม ที่จะนำไปสู่การสร้างกลไกต้นแบบด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน (Prototype) และนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อทางออกของประเทศไทยในเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้กล่าวถึงการทำความเข้าใจคอร์รัปชันในบริบทของสังคมไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 ประการ ได้แก่
หนึ่ง การเข้าใจคอร์รัปชันด้วยการใช้ภาษา โดยจากการศึกษา พบว่า ในสังคมไทยมีการใช้คำที่สร้างอุปลักษณ์ของความน่ากลัวน่ารังเกียจให้กับการคอร์รัปชัน ซึ่งส่งผลทั้งในแง่ดีที่ทำให้การคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้สังคมไทย แต่ในแง่ลบก็เป็นการทำให้คนทั่วไปเกิดความรู้สึกไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่น่ากลัวและน่ารังเกียจ รวมไปถึงการผูกโยงการคอร์รัปชันว่าเกี่ยวกับตัวบุคคลว่าเป็นคนดีหรือคนชั่ว มากกว่าที่จะเป็นการให้ความสำคัญกับระบบของสังคมที่สามารถถูกแก้ไขหรือปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ทัศนคติของคนในสังคมที่พร้อมจะเข้ามาต่อต้านคอร์รัปชันยังมีไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้น งานวิจัยจึงได้ทำการทดลอง โดยการใช้คำพูดที่แตกต่างกันในการสร้างอุปลักษณ์ที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งในเชิงบุคคลและในเชิงระบบ และนำผลการศึกษามาสรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ การสร้างคู่มือการใช้ภาษา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงการเลือกใช้คำและจัดวางบริบทในการสื่อสารข้อเท็จจริง และความคิดเห็นเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกเต็มใจในการต่อต้านและป้องกันการคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมไทย
สอง การเข้าใจคอร์รัปชันด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยจากการศึกษาด้วยการเปรียบเทียบความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ด้วยกันเอง กับความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ พบว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนรุ่นใหม่ด้วยกันเองอยู่ในระดับที่สูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อภาครัฐ ดังนั้น การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หรือเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันของประชาชน ควรเน้นไปที่คนรุ่นใหม่เป็นหลัก เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพในสังคม
สาม การเข้าใจคอร์รัปชันด้วยความรู้เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน โดยจากการศึกษา พบว่า คนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียน ตรวจสอบ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเป็นอย่างดีนั้น มีสัดส่วนที่น้อยมาก เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจ โดยเฉพาะหากมีการถกเถียงในเชิงนามธรรมหรือจริยธรรม รวมถึงการประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการป้องกันหรือแนวทางแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรมนั้น มีสัดส่วนที่น้อยมาก เช่น ผู้ร้องต้องร้องเรียนที่ไหน ต้องเตรียมหลักฐานอะไร หรือหน่วยงานรับเรื่องมีกระบวนการตรวจสอบหลักฐานการร้องเรียนอย่างไร เป็นต้น ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียน ตรวจสอบ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน จึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว แม้ว่าประชาชนจะมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการคอร์รัปชันมากเพียงใด แต่พวกเขาจะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรมได้ หากขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการร้องเรียน ตรวจสอบ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ
จะเห็นได้ว่า การทำความเข้าใจถึง “วัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน” ที่เกิดขึ้นในบริบทของสังคมไทย จำเป็นที่จะต้องศึกษาและเข้าใจถึงวิธีคิดและการให้ความหมายที่มีต่อการคอร์รัปชันของผู้คนในสังคม เพื่อที่จะสามารถพัฒนากลไกและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีพื้นฐานเริ่มต้นมาจากความรู้และความเข้าใจที่มีต่อการคอร์รัปชันของประชาชน ดังนั้น ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยที่ได้กล่าวถึง ทั้งกระบวนการในระดับพื้นที่ ระดับกลไก และในระดับสังคม จึงนำมาสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับทางออกของประเทศไทยในเรื่องคอร์รัปชันที่อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง เพื่อการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลของสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้การร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันในไทยไม่ได้ผล
ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านกลยุทธ์ ด้านโครงสร้าง ด้านแรงจูงใจ ด้านกลไกระหว่างองค์กร และด้านบุคคล …
แล้วที่ผ่านมาเราต่อต้านคอร์รัปชันกันยังไง
“คอร์รัปชัน” และ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” ได้ถูกศึกษาและอธิบายถึงลักษณะและความหมายในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านประเด็นและมุมมองที่มีต่อปัญหาผ่านแนวคิดที่หลากหลาย …
ออกแบบเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันให้เท่าทันการโกง
ในการพัฒนาและออกแบบเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส และหลักความรับผิดชอบ …