เมื่อดุลยพินิจมากเกินไป แก้อย่างไรถึงจะเห็นผล ?
“ดุลยพินิจ” ตามความหมายของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา หมายถึง “การวินิจฉัยตามสมควรหรือการพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรม” ซึ่งในการกำหนดนโยบายและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของรัฐต่างก็ต้องมีคนที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยสามารถใช้ดุลยพินิจของตนเพื่อตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่หลายครั้งการวินิจฉัยกลับไม่เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม หรือเป็นการวินิจฉัยที่เบี่ยงเบนไปตามความพึงพอใจ อคติ หรือเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง จนเกิดเป็นการ “ทุจริต”
ตัวอย่างเช่น ระบบการเลื่อนขั้นข้าราชการที่ไม่มีเกณฑ์ประเมินผลงานที่ชัดเจน แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจจากดุลยพินิจของผู้มีอำนาจ กระบวนการดังกล่าวจึงไม่มีความโปร่งใสและอาจกลายเป็นการทุจริตได้ หรือกระบวนการยุติธรรมที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนเท่านั้นที่มีอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่อัยการไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ ตำรวจและพนักงานสอบสวนจึงสามารถเรียกรับผลประโยชน์เพื่อล้มคดีหรือบิดเบือนคดีได้ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม เป็นต้น
เมื่อดุลยพินิจที่มากเกินไปอาจนำมาสู่ปัญหาการทุจริต เราจึงอยากชวนมาดูปัญหาที่ว่าผ่าน 3 มุมมองจากผู้รู้หรือนักวิชาการ 3 ท่าน ในบทความวิชาการเรื่อง “ถก ซ่อม ‘ดุลยพินิจรัฐไทย’ ปิดช่องทุจริต หากินกับธุรกิจ-ประชาชน” (2559) ที่มาร่วมถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการใช้ดุลยพินิจของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อสังคม พร้อมข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
เริ่มจากมุมมองของ “คุณธิปไตร แสละวงศ์” นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ได้วิเคราะห์อันดับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจของประเทศไทย จากรายงานการจัดอันดับ Doing Business ของธนาคารโลก ปี 2559 ที่วิเคราะห์ผลกระทบจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐในฐานะผู้อำนวยความสะดวกทางธุรกิจทั้งหมด 10 ด้าน จากผลการประเมินพบว่าอันดับของประเทศไทยตกต่ำลงจากอันดับ 46 มาอยู่ที่อันดับ 49 จาก 189 ประเทศ แม้ว่าจากการประเมินจะมีบางด้านที่มีคะแนนดีขึ้น คือ ด้านการขอใบอนุญาตก่อสร้างจากการมีจุดบริการแบบเบ็ดเสร็จ ด้านการชำระภาษี และด้านการอำนวยความสะดวกในกระบวนการฟ้องร้องล้มละลาย แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าโดยภาพรวมแล้วการทำธุรกิจในประเทศไทยยังคงมีความยากอันเป็นผลมาจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐไทยในบางแง่มุมที่ยังคงมีปัญหาอยู่
ดังนั้น คุณธิปไตรจึงได้เสนอ 3 ด้านที่รัฐไทยต้องปรับปรุง ซึ่งเป็น 3 ด้านที่มีคะแนนลดต่ำลงชัดเจนที่สุดจากการจัดอันดับ Doing Bussiness คือ (1) ด้านการคุ้มครองนักลงทุนที่มีปัญหาผู้ถือหุ้นรายย่อยมีสิทธิน้อย (2) ด้านการบังคับใช้สัญญาที่ยังต้องปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการยุติธรรมในระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Court) และ (3) ด้านการขอสินเชื่อ ที่ SME ยังเข้าถึงแหล่งทุนยาก
มุมมองจาก “ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบัน TDRI
ได้ยกตัวอย่างขององค์กรอิสระ อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจสูงและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการจัดตั้งและหลักการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระของไทยในระดับสากลพบว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบองค์กรอิสระเท่าที่ควร โดยมี 3 ปัญหาหลัก คือ
- เรื่องของความไม่โปร่งใสในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะเรื่องการขาดกฎเกณฑ์ที่สร้างความโปร่งใสการติดต่อระหว่างผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแลกับธุรกิจภายใต้กำกับดูแลหรือบุคคลภายนอก
- การขาดการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่อสาธารณะ ได้แก่ รายละเอียดเงินเดือน ผลประโยชน์ที่ได้รับของคณะกรรมการ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง
- การออกกฎหมายต่างๆ ที่ยังขาดกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรฐานสากล
เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ ดร.เดือนเด่นได้กล่าวมา จะพบว่าปัจจุบันกสทช. มีหลายกรณีที่เกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจอย่างไม่สมควร เช่น การใช้อำนาจโดยมิชอบระงับการออกอากาศสถานีวอยซ์ทีวี หรือกรณีที่ประชาชนมองกว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีการควบรวมกิจการค่ายมือถือ ซึ่งหากมีการเปิดข้อมูลให้ชัดเจนหรือมีกระบวนการรับฟังความเห็นก็จะช่วยป้องกันการใช้ดุลยพินิจในทางที่ผิดได้
มุมมองของ “ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล” นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch
ได้เสริมเรื่องของ กสทช. ต่อจาก ดร.เดือนเด่น ว่า นอกจากการเปิดข้อมูลที่ต้องทำให้โปร่งใสมากขึ้นแล้ว กสทช. ยังขาดความชัดเจนในด้านการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุน เช่น การจัดการประมูลคลื่นความถี่ที่ไม่มีการบอกรายละเอียดที่ชัดเจน ไม่ทราบแน่นอนว่าจะมีการประมูลอีกหรือไม่ อย่างไร และกรณีการตีความกฎหมายในการเอาผิดผู้ประกอบการยังไม่นิ่ง ทำให้เกิดความสับสน ดังนั้นการมีข้อมูลและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงและอ้างอิงได้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ นักลงทุนและประชาชนในฐานะผู้บริโภค
จากมุมมองของนักวิชาการทั้ง 3 ท่าน ทำให้เห็นว่า การเปิดข้อมูล การมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม จะนำไปสู่การตรวจสอบและการป้องกันทุจริตจากการที่มาจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐอย่างไม่เที่ยงธรรมได้
บทความ “ถก ซ่อม ‘ดุลยพินิจรัฐไทย’ ปิดช่องทุจริต หากินกับธุรกิจ-ประชาชน (2559)” ยังมีมุมมองอื่น ๆ เช่น มุมมองจากภาคประชาชน โดย คุณสารี อ๋องสมหวัง หรือ มุมมองจากภาคธุรกิจ โดย คุณวิชัย อัศรัสกร ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในงานวิจัย เรื่อง “ประมวลองค์ความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน” (2558) โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
#คอร์รัปชัน # #จัดซื้อจัดจ้าง #ดุลยพินิจ #โครงการรัฐ #รัฐบาล #Corruption #KRAC
——————
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์. (2558). ประมวลองค์ความรู้ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการลดคอร์รัปชัน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เกาหลีใต้เอาชนะการทุจริตจากผู้มีอิทธิพลภาคธุรกิจได้อย่างไร ?
การทำธุรกิจนั้นมีการแข่งขันสูง หลายธุรกิจมีแรงกดดันที่ต้องเอาชนะคู่แข่งในตลาด ต้องพยายามลดต้นทุนให้น้อยลงและสร้างรายได้ให้มากขึ้น จนหลายบริษัทเลือกที่จะใช้ “ทางลัด” หรือคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบทางต้นทุน
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ภาคธุรกิจอาจเสียเงินเปล่าจากการจ่ายสินบน
ในการทำธุรกิจ หลายครั้งผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการต้องยอมจ่ายเงิน “สินบน” ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยให้การทำเรื่องเร็วขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะต้องรอทำเรื่องเป็นเวลานานหลายเดือน ซึ่งหลายคนก็ยอมจ่ายเล็กน้อยเพื่อให้กิจการคล่องขึ้น
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | CPI ไม่ใช่ทุกคำตอบของปัญหาคอร์รัปชัน
หากเราต้องการเห็นภาพรวมการทุจริตในประเทศไทยจริง ๆ การพูดคุยหรือเก็บข้อมูลจากประชาชน อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีการที่งานวิจัย เรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” ใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพการคอร์รัปชันในไทย มุมมองและประสบการณ์ของประชาชน