รูปแบบการทุจริตและปัจจัยที่ก่อให้เกิดการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประกอบด้วย ปัจจัยภายในคือการขาดความสุจริตในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และปัจจัยภายนอก เช่น รายได้ที่ไม่เพียงพอ ระบบอุปถัมภ์ การขาดการกำกับดูแลที่ดี และอิทธิพลของนักการเมือง

จากข้อมูลการร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2565 มายังสำนักงาน ป.ป.ช. และได้รับการพิจารณาจากมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่ามีมูลความผิดฐานทุจริต พบว่า หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตมากถึง 6,199 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.89 ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนมูลค่าความเสียหายที่สูงมาก

จากสาเหตุดังกล่าว จึงนำมาสู่วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ คือ

  1. เพื่อศึกษารูปแบบและลักษณะของการทุจริตที่เกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
  2. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
  3. เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะหรือแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีการทุจริต 6 รูปแบบ ได้แก่ 1) การทุจริตในการบริหารงานบุคคล 2) การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง 3) การทุจริตในการจัดทำงบประมาณ/โครงการ หรือเบิกจ่ายเงินในโครงการเป็นเท็จ 4) การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 5) การทุจริต ยักยอกหรือเบียดบังเงินหรือทรัพย์สิน และ 6) การทุจริตเรียกรับสินบน ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการทุจริตในภาพรวมแบ่งเป็น ปัจจัยภายในของผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตและไม่แยกแยะระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม และปัจจัยภายนอก เช่น พนักงานระดับล่างได้รับเงินเดือนที่ไม่เพียงพอ การมีระบบอุปถัมภ์ อิทธิพลของนักการเมืองในการสรรหากรรมการของรัฐวิสาหกิจ การขาดระบบกำกับดูแลที่เหมาะสม เป็นต้น

สรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัย

  • คดีการทุจริตในรัฐวิสาหกิจที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดมากที่สุด คือ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รองลงมาเป็นการทุจริตยักยอกหรือเบียดบังเงินหรือทรัพย์สิน การทุจริตในการจัดทำงบประมาณ/โครงการหรือเบิกจ่ายเงินในโครงการเป็นเท็จ การทุจริตเรียกรับสินบน และการทุจริตในการบริหารงานบุคคล ตามลำดับ
  • การทุจริตเฉพาะรูปแบบของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีสาเหตุมาจากระเบียบการบริหารงานบุคคลที่กำหนดให้ใช้ดุลพินิจในการคัดเลือกแต่งตั้ง จึงเป็นโอกาสให้ผู้มีอำนาจสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับคนของตน และกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรงซึ่งอาจจะเป็นช่องทางให้ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

สรุปข้อเสนอแนะจากงานวิจัย

  • สำนักงาน ป.ป.ช. ควรปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเน้นการป้องกันการทุจริตในเชิงรุก ใช้เทคโนโลยีข้อมูลเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการทุจริตและหาแนวทางแก้ไข ลดขั้นตอนการตรวจสอบและการดำเนินคดีที่ไม่จำเป็นเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตมากขึ้นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านคดีและการลงพื้นที่
  • สำนักงาน ป.ป.ช. ควรพัฒนาองค์ความรู้และสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับพนักงานไต่สวนในการตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแต่ละรูปแบบเพื่อให้เพื่อให้พนักงานสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สำนักงาน ป.ป.ช. ควรสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยจัดทำเป็นเครือข่ายหรือการรวมกลุ่มเพื่อให้มีความเข้มแข็ง และมีการองค์ความรู้ที่ถูกต้องว่าการกระทำใดที่เข้าข่ายการทุจริต
เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

อนัญญา แม้นโชติ, ธีรวรรณ เอกรุณ, สยาม ธีระบุตร และ ธนพงษ์ ดิษยวณิช. (2566). ูปแบบการทุจริตและปัจจัยที่ก่อให้เกิดการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง
  • อนัญญา แม้นโชติ
  • ธีรวรรณ เอกรุณ
  • สยาม ธีระบุตร
  • ธนพงษ์ ดิษยวณิช
หน่วยงาน

หัวข้อ
Related Content

โครงการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจด้านการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของเจ้าหน้าที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดของประเทศไทย

ศึกษาและสํารวจข้อมูลระดับการรับรู้ของเจ้าหนาที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีต่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เพื่อลดพฤติกรรมความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ในอนาคต

โครงการศึกษาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยใช้อำนาจรัฐ

ศึกษาการตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการออกใบอนุญาต และศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเสนอแนะมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต: การแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินและเศรษฐศาสตร์การเมืองของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

เพื่อประมาณการต้นทุน รายรับ การขาดทุน ต้นทุนสวัสดิการสังคมของโครงการรับจํานําข้าวเปลือก และประมาณการผลตอบแทนส่วนเกินที่ตกแก่กลุ่มบุคคลต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์การแสวงหาค่าเช่า และศึกษาการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง

You might also like...

ยุุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชน

จากการวิเคราะห์ TOWS Matrix 4 ของโครงการต่าง ๆ ของรัฐ สามารถพัฒนาเป็นโมเดลยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชนได้

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อ ‘งบก่อสร้าง’ ไม่ได้สร้างแค่ถนน แต่สร้างรายได้พิเศษให้บางคนด้วย

จากที่ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในนามนักวิชาการอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ผมถือว่าหน้าที่นี้คือโอกาสสำคัญที่จะได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | การต่อต้านการทุจริต อาจต้องเริ่มที่ความเข้าใจของประชาชน

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิการรับรู้ข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 1,041 คน ในปี 2562 ชี้คนไทยครึ่งประเทศไม่รู้ว่า ตัวเองมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช.