KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบหน่วยงานรัฐ แล้วใครตรวจสอบ สำนักงาน ป.ป.ช.

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีบทบาทอย่างไรในการปราบโกง

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหลายครั้งการตรวจสอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ก็ถูกตั้งคำถามว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่อย่างถูกต้องหรือไม่ ? และเกิดคำถามในสังคมว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบหน่วยงานรัฐ แล้วใครกันที่เป็นผู้ตรวจสอบสำนักงาน ป.ป.ช. ? 

 

KRAC จึงอยากชวนทุกคนมาศึกษางานวิจัยเรื่อง “โครงการองค์กรอิสระกับการสร้างประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้: กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” (2562) โดย รงค์ บุญสวยขวัญ และวิเชียร ตันศิริคงคล ที่ได้ศึกษาองค์กรอิสระ 2 องค์กรในไทย คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) เพื่อประมวลสังเคราะห์แนวคิด การออกแบบเชิงโครงสร้าง การกำหนดบทบาทหน้าที่ และเพื่อวิเคราะห์เหตุผล ความเหมาะสม และผลกระทบของบทบัญญัติต่าง ๆ ของสำนักงาน ป.ป.ช. และ ส.ต.ง. 

ประชาชนเองก็สามารถตรวจสอบ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้

โดยการศึกษาในงานวิจัยพบว่า สิทธิของประชาชนในการตรวจสอบสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ได้ปรับปรุงใหม่จากฉบับเดิมในปี 2554 ทำให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้มี กฎหมายทั้งหมด 200 มาตรา จากเดิมที่มีเพียง 133 มาตรา ซึ่งได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างหลายด้านในการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ดีขึ้น เช่น การเพิ่มคุณสมบัติกรรมการสำนักงาน ป.ป.ช. ให้สูงขึ้นเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพมาเข้ารับตำแหน่ง หรือการเพิ่มคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งกรรมการเพื่อป้องกันผู้ที่เคยทุจริตเข้ามาทำงานในสำนักงาน ป.ป.ช. นอกจากนี้ ยังมีการวางกลไกให้ประชาชนมีสิทธิ์ตรวจสอบสำนักงาน ป.ป.ช. โดยเนื้อหานี้เขียนแยกไว้เป็น หมวดที่ 1 ส่วนที่ 3 ว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบการทำงานของกรรมการ สำนักงาน ป.ป.ช. 

 

เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จากมาตรา 43 กำหนดให้กรรมการสำนักงาน ป.ป.ช.ทุกคน มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งหากกรรมการสำนักงาน ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่ มาตรา 45 กำหนดให้สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งในห้าของสมาชิกที่มีอยู่หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20,000 คน สามารถเข้าชื่อกันยื่นต่อประธานรัฐสภาได้ หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัย ก็ให้เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระขึ้นสอบสวนกรณีดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นกลไกพิเศษที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะสำหรับกรณี กรรมการ สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ถูกกล่าวหา 

ทำความเข้าใจกับกลไกการเอาผิดและถอดถอนกรรมการ สำนักงาน ป.ป.ช. 

ในส่วนของกลไกการเอาผิดและถอดถอนกรรมการ สำนักงาน ป.ป.ช. นั้น แตกต่างจากระบบเดิมภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2554 เพราะกฎหมายเดิมวางกลไกแยกเป็นสองกรณี ได้แก่

  1. กรณีที่หนึ่ง หากกรรมการสำนักงาน ป.ป.ช. มีพฤติการณ์เสื่อมเสีย สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งในสี่หรือประชาชน 20,000 คน สามารถเข้าชื่อกันยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาลงมติด้วยเสียงสามในสี่เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง
  2. กรณีที่สองคือ หากกรรมการ สำนักงาน ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่เสียเอง สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งในห้าสามารถเข้าชื่อยื่น ต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ต่อมากฎหมายฉบับใหม่ได้ยกเลิกกลไกการถอดถอนโดยวุฒิสภาออก รวมถึงการเข้าชื่อของประชาชาชนเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่สร้างระบบคณะผู้ไต่สวนอิสระขึ้นมาแทน ซึ่งประชาชนยังคงมีความสำคัญในการตรวจสอบอยู่

โดยสรุป พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้กรรมการสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และหากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริต สมาชิกรัฐสภาหรือประชาชนสามารถเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้คณะผู้ไต่สวนอิสระตรวจสอบและถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ที่ทุจริตได้

 

ดังนั้น เราทุกคนในฐานะประชาชนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะตรวจสอบหรือร้องเรียนต่อการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพหรือมีการทุจริต โดยเฉพาะกับองค์กรที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบยิ่งต้องโปร่งใส ซึ่งพลังของประชาชนอย่างเรามีส่วนสำคัญอย่างมาก และนี่การทำหน้าที่ของพลเมืองเพื่อประโยชน์สังคมของตัวเราเอง

 

งานวิจัยเรื่อง “โครงการองค์กรอิสระกับการสร้างประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้: กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” (2562) โดย รงค์ บุญสวยขวัญ และวิเชียร ตันศิริคงคล ยังมีการศึกษาบทบาทและกลไกขององค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัยได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

รงค์ บุญสวยขวัญ และ วิเชียร ตันศิริคงคล. (2562). โครงการองค์กรอิสระกับการสร้างประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้: กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (2562). สถาบันพระปกเกล้า.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2568
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

เปลี่ยน Trainees เป็น Rookies ตัวท็อปของวงการ : ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 เพื่อปูพื้นฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 ที่จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน ผ่านแนวคิดทางวิชาการ และเรียนรู้แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน

คัดสรรงานวิจัยไทยต่อต้านคอร์รัปชัน ที่คุณอาจไม่รู้ (จัก) มาก่อน : ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทย 24 ชิ้น เพื่อทำความเข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทยที่ KRAC คัดสรรมาให้คุณ เพื่อจะทำให้คุณเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภายใต้บริบทของประเทศไทย

You might also like...

องค์กรอิสระกับการสร้างประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้: กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

การศึกษาผลการดำเนินงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พบว่า ทั้งสองหน่วยงานยังมีงบประมาณและบุคลากรที่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณงาน และอำนาจหน้าที่ที่ยังไม่ครอบคลุม ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิด

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ชวนถอดรหัส “วัฒนธรรมองค์การต้านโกง” จาก ฮ่องกง สิงคโปร์และฟินแลนด์

ชวนส่องแนวทางสร้างค่านิยมสุจริตจาก 3 ชาติที่โปร่งใส ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และฟินแลนด์ ซึ่งแต่ละประเทศมีวิธีการที่น่าสนใจที่ไทยสามารถนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?