จากภาพเล็กสู่ภาพใหญ่ : ทำความรู้จักว่าใครทำอะไรในงานต่อต้านคอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันกว่า 30 หน่วยงาน ทั้งในระดับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งมีพันธกิจโดยตรงและที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันในด้านวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และรูปแบบการทำงานขององค์กร ทั้งยังมีความพยายามของหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อประสานทรัพยากรระหว่างหน่วยงาน ที่จะนำไปสู่การสร้างแรงกระเพื่อมในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่มีพันธกิจโดยตรงและที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยกว่า 30 หน่วยงาน ซึ่งมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ขององค์กร และรูปแบบการทำงานที่มีลักษณะร่วมกัน ดังนี้

ในองค์กรที่เป็นองค์กรภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง รวมถึงมีอำนาจทางกฎหมายในการสืบสวน สอบสวน และลงโทษผู้กระทำผิด ได้แก่

(1) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ซึ่งมีหน้าที่ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ทั้งในด้านการป้องกันและปราบปรามตามกฎหมายที่สามารถตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิด เพื่อถอดถอนข้าราชการระดับสูงหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่ง และดำเนินคดีอาญา

(2) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบกรณีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงลงมา และการบูรณาการงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของภาครัฐทั้งหมด

(3) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐเกี่ยวกับความถูกต้องตามกระบวนการและความคุ้มค่า

(4) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน รวมถึงจัดทำและตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นอกจากทั้ง 4 องค์กรภาครัฐในข้างต้น ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการต่อต้านคอร์รัปชันแล้ว ยังมีองค์กรภาคประชาสังคมที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของประชาชน ที่มีประสบการณ์และความความเข้าใจในกระบวนการขั้นตอนการทุจริตและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และเป็นส่วนสำคัญในการร่วมตรวจสอบ เปิดโปงการคอร์รัปชัน รวมถึงชี้แนะการพัฒนาเครื่องมือที่เสริมสร้างประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แก่

(1) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านแนวคิด 3 ป. คือ ป้องกัน เปิดโปง และปลูกฝัง ที่เกิดเป็นโครงการต่าง ๆ มากมาย เช่น โครงการปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เพจต้องแฉ (Must Share) และระบบค้นหาข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ACT Ai เป็นต้น

(2) องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) ซึ่งเน้นไปในด้านการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ให้ความรู้ และสร้างจิตสำนึกของคนในการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหลัก

(3) แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) ซึ่งมีหลักการแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action) สร้างมาตรฐานการไม่จ่าย-รับสินบนร่วมกันในภาคธุรกิจ ด้วยการสนับสนุนให้บริษัทเอกชนกำหนดนโยบาย ประเมินความเสี่ยง และวางแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการคอร์รัปชันและสร้างระบบนิเวศของการทำธุรกิจที่โปร่งใส 

(4) มูลนิธิเพื่อคนไทย ซึ่งมีการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในหลายด้าน เช่น การร่วมก่อตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย และกองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม เป็นต้น

นอกจากองค์กรภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง และองค์กรภาคประชาสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนและกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ แล้ว ยังมีบางองค์กรที่จดทะเบียนและดำเนินการในลักษณะบริษัทเอกชน แต่มีพันธกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน หรือการจัดระเบียบและเปิดเผยข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แก่

(1) กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund) ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 11 บริษัท ที่ร่วมกันกำหนดกลุ่มหลักทรัพย์ที่กองทุนสามารถเข้าไปลงทุนร่วมกัน และบริจาคเงิน 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการให้กับองค์กรหรือโครงการด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันอย่างโปร่งใส

(2) บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งมีพันธกิจหลักในการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเป็นที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ การทำงานวิจัย และการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงประสานการทำงานขององค์กรด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน

(3) บริษัท สุจริตไทย จำกัด ซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสุจริต และปลูกฝังค่านิยมความสุจริต ผ่านการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ให้กับประชาชนทั่วไปและบุคลากรในองค์กร

(4) สำนักข่าวอิศรา สำนักข่าวไทยพับลิก้า และสื่อสาธารณะต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสื่อสืบสวนสอบสวน ซึ่งมีการนำเสนอข่าวเชิงลึกเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อเท็จจริงในการตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการคอร์รัปชัน รวมไปถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ

จากข้อมูลของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างขององค์กรที่มีพันธกิจโดยตรงและที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยบางส่วน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งในรูปแบบของลักษณะองค์กร การบริหารจัดการ พันธกิจ และกิจกรรมที่ดำเนินงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงภาพของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย ที่ได้มีความพยายามในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อประสานทรัพยากรระหว่างหน่วยงาน ที่จะนำไปสู่การสร้างแรงกระเพื่อมในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
มีนาคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้การร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันในไทยไม่ได้ผล

ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านกลยุทธ์ ด้านโครงสร้าง ด้านแรงจูงใจ ด้านกลไกระหว่างองค์กร และด้านบุคคล …

แล้วที่ผ่านมาเราต่อต้านคอร์รัปชันกันยังไง

“คอร์รัปชัน” และ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” ได้ถูกศึกษาและอธิบายถึงลักษณะและความหมายในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านประเด็นและมุมมองที่มีต่อปัญหาผ่านแนวคิดที่หลากหลาย …

ออกแบบเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันให้เท่าทันการโกง

ในการพัฒนาและออกแบบเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส และหลักความรับผิดชอบ …

You might also like...

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้