วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากกรมบัญชีกลาง จำนวน 40,000 โครงการ และนำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เป็นแหล่งการทุจริตคอร์รัปชันทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากในแต่ละปี การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีมูลค่าที่สูงมาก โดยในปี พ.ศ. 2559 วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอยู่ที่กว่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37 ของงบประมาณประจำปี
การศึกษานี้ จึงมุ่งไปที่การวิเคราะห์เหตุปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลาง จำนวน 40,000 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน
โดยนำข้อมูลดังกล่าว มาวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ และใช้ปัจจัยต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น ระยะเวลาการปิดประกาศ TOR กับการประกาศเชิญ ระยะเวลาของการประกาศเชิญชวนกับการเปิดให้ซื้อซองประมูล บริษัทที่ชนะการประมูลกับความถี่ของการชนะการประมูล รายชื่อกรรมการบริษัท เป็นต้น เพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และมาตรการ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
- ผลจากการศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีเกิดการแข่งขัน ที่จะส่งผลให้ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางมีทั้งหมด 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) ระดับการพัฒนาของจังหวัด ส่งผลให้มีผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่พร้อมเข้าแข่งขันในการประมูลมากกว่า ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณให้กับหน่วยงานรัฐ (2) มูลค่าโครงการ เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ มักมีส่วนต่างระหว่างราคากลาง กับ ราคาที่ประมูลได้มากกว่าโครงการขนาดเล็ก (3) การเป็นผู้เล่นรายใหม่ ถ้ามีผู้เล่นรายใหม่เข้ามามากเท่าไหร่ ย่อมส่งผลต่อระดับการแข่งขันในการประมูลโครงการเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้ร้อยละส่วนต่างของราคากลาง กับ ราคาชนะประมูลโครงการสูงมากขึ้นด้วย และ (4) วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบ e-bidding มีนัยสำคัญต่อร้อยละส่วนต่างของราคากลาง ซึ่งในกรณีของทั้งสามหน่วยงานที่ศึกษา สะท้อนให้เห็นว่าการใช้วิธีการประมูลแบบ e-bidding ทำให้มีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น
- ผลจากการศึกษาปัจจัยที่มีผลทำให้ส่วนต่างของราคากลางกับราคาประมูลน้อยลง พบว่าส่วนแบ่งตลาดของผู้รับเหมา ซึ่งคำนวณจากมูลค่าของโครงการที่ผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งประมูลได้ หารด้วยมูลค่าของโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ผลการประมวลดังกล่าว สะท้อนว่าหากผู้รับเหมาเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีส่วนแบ่งตลาดสู งหรือเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ที่รับงานก่อสร้างของภาครัฐ อาจมีอำนาจผูกขาดมาก ความเข้มข้นของการแข่งขันในการประมูลโครงการก็จะลดลง ส่งผลต่อร้อยละของส่วนต่างราคากลางกับราคาที่ชนะประมูลโครงการก็จะยิ่งน้อยลง
- ผลการศึกษาเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น พบว่ามีอดีตนักการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่ยังไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับ บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่รับงานขนาดใหญ่ทั้งระดับประเทศ (หมายเหตุ : ด้วยข้อจำกัดของข้อมูล คณะผู้วิจัย จึงไม่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าบริษัทดังกล่าวได้รับโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมากกว่าปกติในช่วงที่นักการเมือง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่)
- สำหรับผลการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อแนวทางป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เหมาะสมกับประเทศไทย พบว่าวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบ e-bidding ในมุมมองของการกำกับดูแลถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ และยังช่วยป้องกันบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาด และมีอำนาจต่อรอง สามารถเข้ามาสร้างแรงกดดันต่อระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ โดยเสนอให้กรมบัญชีกลางพิจารณาปรับรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวน และชื่อผู้เข้าร่วมประมูลในแต่ละโครงการ ระยะเวลาของการประชาสัมพันธ์โครงการ ระยะเวลาในการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับ ToR และการมีข้อตกลงคุณธรรม และเปิดเผยข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบของฐานข้อมูล เช่น excel เพื่อให้สะดวกต่อการนำไปวิเคราะห์ประมวลผลในการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการของภาครัฐต่อไป
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์, วีรวัลย์ ไพบูลย์จิตต์อารี, ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ, อุไรรัตน์ จันทรศิริ, ภวินทร์ เตรียนันท์, ศศิพงษ์ สุมา และศิราภรณ์ ธูปเทียน. (2562). โครงการศึกษาฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อออกแบบยุทธศาสตร์ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).
- เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
- วีรวัลย์ ไพบูลย์จิตต์อารี
- ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ
- อุไรรัตน์ จันทรศิริ
- ภวินทร์ เตรียนันท์
- ศศิพงษ์ สุมา
- ศิราภรณ์ ธูปเทียน
โครงการศึกษาฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อออกแบบยุทธศาสตร์ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากกรมบัญชีกลาง จำนวน 40,000 โครงการ และนำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
พัฒนาการของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ศึกษาพัฒนาการของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 103/7 วรรคแรกและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
ผลกระทบขององค์กรธุรกิจจากการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของ ปปช. มาตรา 103/7
ศึกษาประสิทธิภาพของกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาระบบการจัดซื้อจัดจ้างของไทยให้เป็นไปด้วยความรัดกุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
บทความวิจัย : ปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อมาตรการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐในกรุงเทพมหานคร
ส่งเสริมแนวทางการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยหลักธรรมาภิบาลและจิตพอเพียงต้านทุจริต