คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและกระจายตัวอยู่อย่างกว้างขวาง และเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของสังคมไทยที่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงระบบที่กระจายไปในส่วนต่างๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม การมองหาวิธีในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐไทยได้ให้ความสำคัญ และถูกจัดให้อยู่ในสถานะเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภายใต้แผนงาน นโยบาย มาตรการ และแนวปฏิบัติของภาคส่วนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งในระดับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมต่างก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “คอร์รัปชัน” เท่ากับ “ปัญหา” ผ่านการศึกษาและเกิดเป็นข้อสนับสนุนทั้งในทางวิชาการและทางปฏิบัติ แต่ในการศึกษาเชิงวิพากษ์ของการคอร์รัปชันและการต่อต้านคอร์รัปชัน พบว่าหล่มใหญ่สำคัญที่เป็นเสมือนหลุมพรางที่ทำให้การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น คือ การมองปัญหาคอร์รัปชันผ่านแนวคิดระบบคู่ตรงข้าม ที่จะนำไปสู่การสร้างมโนทัศน์ที่ทำให้การมองเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันขาดความลื่นไหลอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เขียนจะชวนทุกท่านมาร่วมกันรื้อขนบของการมองปัญหาคอร์รัปชันด้วยมุมมองใหม่ ในบทความ ‘ยักษา’ กับ ‘เทวา’ : เมื่อคอร์รัปชันไม่มีตรงกลางระหว่างคำว่า ‘คนชั่ว’ และ ‘คนดี’
แล้วอะไรคือแนวคิดแบบระบบคู่ตรงข้าม
การอธิบายโลกแบบคู่ตรงข้าม เป็นแนวคิดในทางสังคมศาสตร์ที่อธิบายผ่านสกุลนักคิดแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) ซึ่งให้ความสนใจกับการค้นหาโครงสร้างบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในวิธีคิดและการดำเนินชีวิตของผู้คน ซึ่งสุดท้ายแล้วจะสะท้อนให้เห็นถึง “ระบบ” ที่มีอยู่ในสังคมที่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งโครงสร้างประการหนึ่งที่มีอยู่ในสังคมและได้ถูกประกอบสร้างขึ้น คือ การมองแบบคู่ตรงข้าม (Binary Opposition) ที่ได้อธิบายถึงการแบ่งทุกอย่างออกเป็นสองขั้ว เช่น ความดี/ความชั่ว, ความรวย/ความจน หรือผู้ชาย/ผู้หญิง เป็นต้น ซึ่งหลักสำคัญของการอธิบายสังคมด้วยแนวคิดแบบคู่ตรงข้ามนี้ คือ การพยายามจัดระบบระเบียบของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในสังคมให้มีตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจน รวมถึงกำหนดการรับรู้ทางสังคมแบบร่วมหมู่ของผู้คนในสังคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในการอธิบายสังคมด้วยแนวคิดแบบคู่ตรงข้ามนี้ คือ การที่แนวคิดดังกล่าวได้พยายามสร้าง “ความเป็นอื่น” ขึ้นมาในสังคมด้วยการมองโลกแบ่งเขา/แบ่งเรา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปิดกั้นและกดทับความเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างกัน จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างสองคู่ตรงข้ามที่ยืนอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ของความขัดแย้งและแบ่งฝั่งกันอย่างชัดเจน รวมไปถึงการทำให้สิ่งที่ “ไม่ใช่ทั้งเขาและไม่ใช่ทั้งเรา” ถูกละเลยไปจากการอธิบายทางสังคม และตกอยู่ในสภาวะระหว่างกลางแห่งความไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้เป็นหลักเกณฑ์ของสังคม จนนำไปสู่ความแปลกแยก (Alienation) และกลายเป็นความผิดปกติทางสังคมที่ถูกตีกรอบไว้ด้วยความคับแคบและนิ่งค้าง ภายใต้มุมมองของการมองโลกแบ่งเป็นสองขั้วตรงข้าม
ปรากฏการณ์คู่ตรงข้ามในมิติของการทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน
สำหรับการอธิบายการคอร์รัปชันด้วยแนวคิดว่าด้วยเรื่องของคู่ตรงข้ามในที่นี้ ผู้เขียนไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การวิพากษ์ว่าการคอร์รัปชันนั้นเป็นเรื่องที่ “ดี” และ “ไม่ดี” สำหรับสังคม เพราะจากการศึกษาตลอดระยะเวลาหลายช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในทางวิชาการเป็นจำนวนมากที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าการคอร์รัปชันเป็น “ปัญหา” ของการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในสังคม แต่สิ่งที่แนวคิดคู่ตรงข้ามได้ทำให้เกิดความไม่ครอบคลุมของการอธิบายปัญหาคอร์รัปชันในเชิงสังคม คือ การสร้างคู่ตรงข้ามของ “คนดี” และ “คนชั่ว” ให้เกิดขึ้นในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวคือ หากเปรียบเทียบโดยง่ายว่า คนชั่วที่คอร์รัปชันเป็นยักษ์และคนดีที่ต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเทวดา การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนทัศน์และมโนทัศน์เช่นนี้ จะกลายเป็นการมุ่งเน้นเรื่องการกำจัดคอร์รัปชันที่เป็นภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงของคนดี ที่จะต้องป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันให้หมดไปในสังคมให้หมดไปโดยสิ้นเชิง
ในการอธิบายภาพของการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยกรอบแนวคิดของการที่คนดีต้องมีหน้าที่ปราบคนชั่วเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคม ประการแรก คือ การแบ่งแยกคนในสังคมที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันว่าเป็น “คนดี” และคนที่คอร์รัปชันว่าเป็น “คนชั่ว” ที่ต้องเลือกที่จะเป็นเพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และทำให้คนทั่วไปที่นิยามตนเองว่า “ไม่ดีและไม่ชั่ว” ถูกละเลยไปจากกรอบการอธิบายแบบคู่ตรงข้าม ซึ่งในความเป็นจริงของสังคมแล้วคนที่ไม่เคยคอร์รัปชัน แต่ก็ไม่ได้ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมนับว่ายังมีอยู่เป็นส่วนมาก และการพยายามผลักให้คนที่อยู่ในพื้นที่ตรงกลางของความพร่าเลือนนี้ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจกลายเป็นดาบสองคมของการผลักให้คนตรงกลางเลือกที่จะเป็นคนชั่ว มากกว่าจะเป็นคนดีในการอธิบายโลกแบบคู่ตรงข้ามของการต่อต้านคอร์รัปชัน
ประการต่อมา คือ การเป็นคนดีที่อยู่ในโลกคู่ตรงข้ามของการต่อต้านคอร์รัปชันนี้ จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับตำแหน่งแห่งที่และภาระที่ต้องรับผิดชอบเพื่อปราบปรามการคอร์รัปชันให้หมดไป ซึ่งถ้าคนที่ถูกนิยามว่าเป็น “คนดี” เหล่านี้มีอยู่ในจำนวนที่ไม่มาก ภาระของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่มีความซับซ้อนและเป็นปัญหาของคนทั้งสังคมด้วยคนดีเพียงกลุ่มเดียว จะทำให้เกิดการแบกรับภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง และเกินขีดความสามารถของคนที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน และนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวของการทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน
ประการสุดท้าย คือ การอธิบายการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยแนวคิด “คนดี” และ “คนชั่ว” นี้ อาจทำให้เกิดภาพซ้อนทับกับขนบเชิงมายาคติทางสังคมที่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” ซึ่งแนวความคิดนี้อาจนำไปสู่การทำให้คนที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน เกิดอัตตาว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ตายตัว คือ ทำให้การคอร์รัปชันนั้นหมดไปจากสังคม แต่ในอีกแง่หนึ่งก็จะทำให้เกิดการขาดการพิจารณาและทวนสอบกระบวนทัศน์และแนวปฏิบัติที่มีอยู่ว่าทำแล้วได้ผลจริงหรือไม่ และทำให้การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันถูกตีกรอบด้วยภาพของความดี มากกว่าความมีประสิทธิภาพในการลดปัญหาคอร์รัปชันให้กับสังคม
ต้องข้าม “ดี” และ “ชั่ว” ให้พ้น เพื่อค้นหาวิธีการต่อต้านคอร์รัปชันให้เจอ
จากการใช้มุมมองเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับแนวคิดคู่ตรงข้าม ในการอธิบายถึงปัญหาคอร์รัปชันและการต่อต้านคอร์รัปชันในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ผู้เขียนได้พยายามที่จะชวนให้ผู้อ่านทุกคนได้ฉุกคิดและทบทวนถึงมายาคติที่อยู่ในคำอธิบายของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เห็นถึงอิทธิพลของวิธีคิดที่มีต่อการมองโลกของผู้คนที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งการทำความเข้าใจถึงปัญหาคอร์รัปชันและการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยแนวคิดที่หลากหลาย และตระหนักถึงข้อจำกัดของแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยทำให้เราสามารถเข้าใจปัญหาของการคอร์รัปชันและการต่อต้านคอร์รัปชันในฐานะของปรากฏการณ์ที่มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อที่จะนำไปสู่การทำให้ผู้อ่านสามารถค้นหาวิธีการหรือแนวทางการอธิบายใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสังคม
เจษฎา จงสิริจตุพร
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด