คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : หยุด ‘ฮั้ว’ ด้วยการสร้างมาตรฐานความโปร่งใส

เป็นเวลาประมาณกว่าหนึ่งเดือนแล้วที่หน่วยงานต่างๆ ได้ติดตามตรวจสอบคดีกำนันนก กรณีฮั้วประมูลโครงการของรัฐ ในช่วงแรกกระแสสังคมให้ความสนใจกับกรณีดังกล่าว มีรายการโทรทัศน์และสื่อหลายสำนักสัมภาษณ์ ทำสกู๊ปพิเศษ วิเคราะห์ความเป็นไปได้เกี่ยวกับการฮั้วที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งหลายคำตอบที่ออกมาในขณะนั้นก็พบว่าการฮั้วสามารถเกิดขึ้นได้ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐแม้จะเป็นการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า e-bidding และยังมีการแชร์ประสบการณ์ของผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว ว่า คงมีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงจะทำให้การฮั้วสำเร็จได้ ความคืบหน้าของคดีที่ทางดีเอสไอออกมาแถลง (เมื่อวันที่ 19 ต.ค.) คือ ยังอยู่ระหว่างการเข้าตรวจค้นและตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆและตรวจสอบว่ามีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบที่ค่อนข้างใช้เวลาเป็นอย่างมาก

ในความเป็นจริงแล้วการทุจริตที่เกิดขึ้นจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เกิดขึ้นอยู่เสมอและบ่อยครั้ง ทั้งในโครงการขนาดเล็กและโครงการขนาดใหญ่ และเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งการฮั้ว ปัญหาจากการกำหนดสเปกหรือทีโออาร์ ปัญหาจากราคากลางที่ไม่สะท้อนราคาตลาด ปัญหาจากสินค้านวัตกรรมที่ให้เงื่อนไขพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาจากการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ ระยะเวลาการจัดเตรียมเอกสาร การยื่นซอง ทำให้ในบางกรณีเกิดการผูกขาดกับคู่ค้าขาประจำกับหน่วยงานภาครัฐที่มี “ความเชี่ยวชาญ” ในการชนะการประมูล ปัญหาจากการส่งมอบงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาทำแล้วทิ้งแล้วก็ทำใหม่ ปัญหาสร้างแล้วไม่ได้ใช้ เป็นต้น และยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดจากสถิติของสำนักงาน ป.ป.ช. เฉพาะในปีงบประมาณ 2556 เกี่ยวกับกรณีการกล่าวหาการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่างบประมาณสูงถึง 2,092 ล้านบาท

แม้ว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตั้งแต่การมีพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่มีสาระสำคัญ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เน้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคม ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ มีการประเมินทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการ รวมถึงส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงมีความพยายามในการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ G-procurementให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนให้เกิดความสะดวกของผู้มีส่วนร่วมในการประมูล (ตามคำกล่าวอ้างของกรมบัญชีกลาง) และเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลให้การประมูลโครงการของภาครัฐเป็นไปอย่างโปร่งใสนั้น กลับยังไม่สามารถบรรเทาปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำได้ และหากพิจารณาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนทั่วไปในการค้นหาข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ก็จะพบว่ามีความยากในการใช้ระบบ เพราะการค้นหาข้อมูลให้สำเร็จได้นั้นต้องทราบเงื่อนไขต่างๆ เช่น รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง ระยะเวลาการดำเนินการโครงการ เป็นต้น ในขณะเดียวกันผู้เขียนยังทราบข้อมูลจากผู้รับจ้างที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐว่า การลงทะเบียนและการใช้งานระบบยังค่อนข้างมีความซับซ้อนและเป็นไปอย่างยุ่งยาก

ในต่างประเทศมีการส่งเสริมการใช้มาตรฐาน “สัญญาแบบเปิด” หรือ Open Contracting Data Standard สำหรับการเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งได้รับการนำไปใช้จากกว่า 30 รัฐบาลทั่วโลกภายใต้องค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) การเปิดเผยเผยแพร่และใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงประสิทธิภาพประสิทธิผลรวมถึงส่งเสริมความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ 2) ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลอย่างได้มาตรฐาน คอมพิวเตอร์ประมวลผลได้และส่งเสริมให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) มีการกำหนดมาตรฐาน และโครงสร้างของข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถทำความเข้าใจข้อมูลได้

สิ่งที่มาตรฐานสัญญาแบบเปิด อธิบายไว้เพิ่มเติม คือ ข้อมูลจะช่วยส่งเสริมความโปร่งใสและทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลในกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างลึกซึ้ง สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การทุจริตที่เกิดขึ้นในระบบได้ ขณะเดียวกันการนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ร่วม กับข้อมูลที่ถูกจัดเก็บอย่างมีมาตรฐานจะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมของผู้ที่เข้ามาประมูลในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะข้อมูลจะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์การใช้จ่ายงบประมาณได้ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและสามารถใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพภายในองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการและขั้นตอนรวมถึงระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งหากกรมบัญชีกลางให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสจริงตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 การนำมาตรฐานดังกล่าวมาบังคับใช้กับการจัดเก็บข้อมูลรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่อยู่ในอำนาจของกรมบัญชีกลางน่าจะเป็นส่วนช่วยทำให้นำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวดียิ่งขึ้น

แม้ว่าในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีความพยายามใช้มาตรฐานดังกล่าวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการเปิดเผยข้อมูลเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสของกรุงเทพมหานคร แต่ เนื่องจากอำนาจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดยังอยู่ที่กรมบัญชีกลาง จึงอาจจะทำให้การดำเนินการดังกล่าวทำไม่ได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควร แต่ก็พอมีความคืบหน้าให้คนกรุงเทพฯ ทุกคนได้ชื่นใจบ้างว่า แม้กรุงเทพมหานครจะติดข้ออุปสรรคต่าง ๆ แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะทำให้สำเร็จ

และถือว่าเป็นความโชคดีของคนไทยทุกคนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกรมบัญชีกลาง และยังเป็นถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอีกด้วย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันกับที่ขึ้นเวที “วันต่อต้านคอร์รัปชัน” ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ที่ได้ประกาศบนเวทีไว้อย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ทันสมัยและตรวจสอบได้ตามแนวทาง Open Government หรือรัฐบาลแบบเปิด ได้แต่หวังว่าท่านนายกฯ จะยังพอมีเวลาเหลือ จากการเร่งรัดทำนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต มาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐควบคู่ไปด้วย และทำให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่ท่านยังดำรงตำแหน่งอยู่….

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

ณัฐภัทร เนียวกุล

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ลู่วิ่งเทวดา 7 แสนบาท

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาผู้อ่านหลายท่านน่าจะได้ยินข่าวลู่วิ่งราคา 7 แสนของ กทม. และอาจจะได้เห็นภาพผม (ต่อภัสสร์) ไปร่วมแถลงข่าวกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในเรื่องนี้ด้วย บางท่านทักมาถามส่วนตัวว่า เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร และผมไปเกี่ยวข้องอะไรกับ กทม. บางท่านถึงกับต่อว่า ว่าผมไปปกป้องผู้ว่าฯ

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ข้อตกลงคุณธรรม : เครื่องมือสำคัญของประชาชน เพื่อต่อสู้คอร์รัปชัน เมื่อรัฐบาลเมินเฉย

ในยุคที่ปัญหาคอร์รัปชันยังคงเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมไทย แต่รัฐบาลกลับดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ประชาชนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะทำอะไรได้บ้าง? คำตอบที่สำคัญมากข้อหนึ่งคือ “ข้อตกลงคุณธรรม” ซึ่งเป็นเครื่องมือทรงพลังที่ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ในยามที่ภาครัฐไม่ใส่ใจ

You might also like...

บทความวิจัย : ทัศนคติของประชาชนและพรรคการเมืองต่อการปฏิรูปประเทศไทย ในระยะเปลี่ยนผ่าน

ทำความเข้าใจทัศนคติของประชาชนและพรรคการเมืองในการปฏิรูปประเทศไทย พบว่า ประชาชนเห็นชอบต่อการจัดตั้งรัฐบาลทหารเพื่อปฏิรูปประเทศ ขณะที่พรรคการเมืองเชื่อว่าพลังในการปฏิรูปมาจากประชาชน

บทความวิจัย : การประเมิน “เครื่องมือประเมิน” พิชิตความโกงของ ป.ป.ช. กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย

เมื่อการประเมิน ITA ถูกประเมินเสียเอง พบว่า เครื่องมือประเมินคุณธรรมความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในหน่วยงานภาครัฐได้ (กรณีศึกษา จังหวัดเชียงราย)