
ในโอกาสวันสตรีสากลนี้ ทางศูนย์ KRAC ขอนำเสนอบทความน่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศสภาพกับปัญหาคอร์รัปชันซึ่งเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และถือเป็นช่องว่างสำคัญที่ยังไม่ได้รับความใส่ใจจากหน่วยงานภาครัฐเท่าที่ควร
แม้หลายปีมานี้ประเทศไทยจะพยายามอย่างมากในการส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไปจนถึงการส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในข้อเท็จจริงเรากลับพบว่ายังคงมีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศสภาพที่แตกต่างกันอยู่
แน่นอนว่าปัญหาคอร์รัปชันก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ประสบการณ์ต่อการเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงก็แตกต่างกันด้วย เนื่องจาก “ผู้หญิงไม่เพียงแต่ถูกเรียกสินบนเท่านั้น แต่ยังถูกขอเรื่องเซ็กส์ด้วย” หนึ่งในข้อมูลสำคัญจากงานศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่ตั้งคำถามว่า “เพศสภาพส่งผลอย่างไรต่อประสบการณ์การคอร์รัปชันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
งานศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) พบว่า เพศสภาพส่งผลต่อประสบการณ์ในการเผชิญกับคอร์รัปชัน โดยเฉพาะ คอร์รัปชันทางเพศ (Sexual Corruption) ซึ่งหมายถึงการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากสตรีในบริบทของการใช้อำนาจในทางที่ผิด เช่น การเรียกร้องบริการทางเพศเพื่อแลกกับโอกาสในการทำงาน การศึกษา หรือการเข้าถึงบริการสาธารณะพื้นฐาน
ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีรายงานว่าผู้หญิงอาจเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันในรูปแบบที่แตกต่างจากผู้ชาย โดยอาจถูกข่มขู่ให้มีการจ่ายสินบนในรูปแบบทางเพศ หรือถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ อย่างไรก็ตาม ผู้ชายก็อาจเป็นเหยื่อของคอร์รัปชันในรูปแบบอื่น เช่น ถูกบังคับให้จ่ายสินบนเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ หรือถูกกดดันจากระบบอุปถัมภ์ที่ไม่เป็นธรรม
ข้อมูลจากงานศึกษาหลายชิ้นระบุว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันยังคงละเลยมิติทางเพศ ไม่มีมาตรการเฉพาะในการปกป้องผู้แจ้งเบาะแสที่เป็นสตรี และขาดการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ
งานศึกษายังพบว่า ผู้หญิง 35% ที่เคยร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต เคยถูกข่มขู่หรือคุกคามทางเพศ และมากกว่า 40% ของผู้แจ้งเบาะแสที่เป็นผู้หญิง ไม่ได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอจากหน่วยงานรัฐ
ในแต่ละปีเราจะเห็นข่าวซ้ำ ๆ กันถึงข้อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือกันในบางสิ่งบางอย่าง หรือการใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อทำการล่วงละเมิดทางเพศของเจ้าหน้าที่
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติเชิงอำนาจที่เกิดวนเวียนซ้ำ ๆ กับผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเพศสภาพที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาสำคัญคือกฎหมายยังคงเลือกบังคับใช้แบบเสมอหน้ากัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงอาจมีความสุ่มเสี่ยงจะถูกรีดสินบน และล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าผู้ชายจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ
การคอร์รัปชันทางเพศถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นในวงสตรีนิยม (Feminism) เพราะสตรีนิยมมองว่าการกดขี่ทางเพศสภาพเป็นรากฐานของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และการคอร์รัปชันทางเพศก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการกดขี่ที่ว่านี้ โดยผู้มีอำนาจ (ซึ่งมักเป็นผู้ชาย) ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากสตรี
แม้ว่าจะยังมีการถกเถียงกันมากว่าแท้จริงแล้วประเทศไทยเป็นสังคมชายเป็นใหญ่จริงหรือไม่ แต่ในสถานการณ์ความเป็นจริงเราพบว่าปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจากการใช้อำนาจในทางมิชอบของผู้ชายต่อผู้หญิงมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนชัดเจนว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและปรากฏชัดในสังคมไทย
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลจำนวนมากยังชี้ให้เห็นว่าการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการจำเพาะในการปกป้องผู้หญิง ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายมากกว่าผู้ชายในกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการคอร์รัปชัน
ประเด็นทั้งสองนี้สอดคล้องกับการเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเลนส์เรื่องเพศสภาพ ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่ระบุชัดว่า “นโยบายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงละเลยต่อมิติทางเพศสภาพ ไม่มีมาตรการเฉพาะสำหรับการปกป้องผู้แจ้งเบาะแสที่เป็นสตรี และมีช่องว่างทางกฎหมายค่อนข้างมากในมิติทางเพศเกี่ยวกับการทุจริต”
งานวิจัยชิ้นนี้ยังสะท้อนถึงความท้าทายและช่องว่างในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันทางเพศ รวมถึงข้อจำกัดทางกฎหมาย การตระหนักรู้ การรายงาน การตีตรา และการเยียวยาสำหรับเหยื่อ รวมถึงยังเน้นย้ำถึงจุดเชื่อมโยงระหว่างการคอร์รัปชันทางเพศกับจุดอ่อนอื่น ๆ เช่น การค้ามนุษย์ และการแสวงประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติหญิง เป็นต้น
ฉะนั้นอาจสรุปได้ว่าเมื่อเกิดกรณีเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน ผู้หญิงอาจมีแนวโน้มที่จะเผชิญความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย อันเป็นผลจากสภาพสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ผนวกกับช่องว่างเชิงโครงสร้างที่ยังคงไม่มีกฎหมายรองรับและให้การปกป้องต่อผู้หญิงเกี่ยวกับการรายงานการทุจริต
ในโอกาสวันสตรีสากลนี้ ศูนย์ KRAC ขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงสำคัญ ที่อยากส่งไปยังรัฐบาล ให้มีการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยาน และการแจ้งเบาะแสการคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองเฉพาะกับผู้หญิงทุกคนในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ที่เสนอมาตรการในการยกระดับประเด็นเหล่านี้ กล่าวคือ
การปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแส โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม
- การพัฒนากลไกการแจ้งเบาะแสที่ปลอดภัย เช่น ช่องทางออนไลน์ที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
- การเพิ่มบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องผลประโยชน์ทางเพศ
- การศึกษาและรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ในหมู่ข้าราชการและภาคประชาชนเกี่ยวกับคอร์รัปชันทางเพศ
- รายงานเรื่อง “CORRUPTION THROUGH A GENDERED LENS: ASIA AND THE PACIFIC (2023) โดย Dr Caryn Peiffer
- บทความเรื่อง “KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I TI ชี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นเหยื่อจากสินบนด้วยการคุกคามทางเพศมากขึ้น” (2567) โดย ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
หัวข้อ
มาแล้ว !! โอกาสพัฒนาความรู้สู่การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ
ชวนเรียนหลักสูตรต่อต้านคอร์รัปชัน และการส่งเสริมธรรมาภิบาลร่วมสมัยกับ 6 ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จของหน่วยงานรัฐ ในการสร้างธรรมาภิบาล ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
สร้างความสำเร็จในหน่วยงานด้วย “หลักธรรมาภิบาล” ตามแผน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีตัวอย่าง 6 หน่วยงานรัฐไทยที่ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จในการสร้างธรรมาภิบาล…ปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง ? และผลลัพธ์ของการมีธรรมาภิบาลจะเป็นเช่นไร ? มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?