“ศิลปะ” ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารและแสดงออก ความผูกพันของมนุษย์และศิลปะมีมายาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเห็นได้จากภาพเขียนสีและการขูดขีดบนผนังถ้ำที่ถูกใช้เพื่อบันทึกเรื่องราวของมนุษย์ในยุคนั้น ต่อมาในยุคประวัติศาสตร์ศิลปะและมนุษย์ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างไม่อาจที่จะแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง โดยสามารถเห็นได้จากผลงานที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ล้วนเกิดขึ้นจากอิทธิพลทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของศิลปะที่รับใช้ศาสนาหรือศักดินา ศิลปะที่ถูกทำขึ้นเพื่อเชิดชูหรือต่อต้านกับอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง ศิลปะที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกทางการเมือง
ถ้าพูดถึงศิลปินที่มีบทบาทเป็นอย่างมากทางการเมืองของวงการศิลปะร่วมสมัยสากลในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นที่จะคิดถึง อ้ายเวยเวย (Ai Wei Wei) เขาเป็นผู้ที่มีบทบาททั้งในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเจ็บแสบและประท้วงรัฐบาลจีนในการใช้อำนาจโดยมิชอบละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เขายังเปิดโปงและให้ความจริงเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันที่รัฐบาลพยายามจะปกปิด ด้วยการขุดคุ้ยกรณีของโรงเรียนถล่มในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนเมื่อปี พ.ศ. 2551 สาเหตุที่ทำให้โครงสร้างของโรงเรียนนั้นไม่สามารถที่จะทนต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้คือการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลทำให้การก่อสร้างนั้นไม่ได้มาตรฐาน จนกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กนักเรียนจำนวนมาก นอกจากนี้อ้ายเวยเวยยังพยายามที่จะใช้สื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อพยายามที่จะปลุกให้คนรุ่นใหม่นั้นเกิดการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนเขาถูกเพ่งเล็งและคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยหลากหลายวิธี
เราลองมาดูกระแสของการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยในไทยบ้าง “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” เป็นหนังสือที่เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์ โดยใช้นามปากกาว่า“ทีปกร” ซึ่งในช่วงพ.ศ. 2498 – 2501 เขาได้มีโอกาสคลุกคลีกับนักเรียนศิลปะด้วยการเป็นอาจารย์สอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยบทความในหนังสือนั้นเป็นการตั้งคำถามกับแนวความคิดของผู้ทำงานศิลปะ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” (art for art’s sake) และสนับสนุนศิลปะเพื่อชีวิต (art for life) ทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นในหมู่นักเรียนศิลปะในสมัยนั้นอย่างกว้างขวาง และหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2561 คำว่า ศิลปะเพื่อชีวิต (art for life) ได้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง โดยมีการแสดงนิทรรศการกลุ่มเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งจัดโดยกลุ่มศิลปินที่ชื่อว่า “กลุ่มธรรม” โดยศิลปินที่เป็นผู้ก่อตั้งและผู้นำหลักของกลุ่มคือ ประเทือง เอมเจริญ โดยสนับสนุนแนวคิดว่าศิลปินสามารถที่จะรับใช้สังคมและประชาชนได้ด้วยการสะท้อนชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มศิลปินที่รวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ซึ่งพยายามที่จะสร้างศิลปะและวัฒนธรรมใหม่ให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ปฏิเสธการรับใช้ปัจเจกชน นายทุน ศักดินา และจักรวรรดินิยม แต่หลังจากช่วง 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มศิลปินเหล่านี้ต้องยุติบทบาทลงเพื่อหนีการปราบปรามและจับกุมของรัฐ
กลับมามองในปัจจุบันช่วงระยะเวลา 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เราสามารถเห็นถึงกระแสความเข้มข้นของการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองเป็นอย่างมาก รวมถึงพัฒนาการของกลุ่มศิลปินและผู้ที่ทำงานสร้างสรรค์ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มีการหยิบเอาประเด็นที่หลากหลายเชื่อมโยงกับสังคมขึ้นมาพูดอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงถูกคุกคาม และมีความพยายามในการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากอย่างไม่เป็นธรรมเพราะเพียงแค่พวกเขามีความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐ เป็นที่ทราบกันดีว่าในสังคมแบบประชาธิปไตย การที่พลเมืองมีส่วนร่วมต่อสังคมถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะของ Active citizen จึงเป็นหน้าที่ของศิลปินที่จะหยิบยกเอาประเด็นทางสังคมมาวิพากษ์ด้วยผลงานของพวกเขาหรือไม่? ถ้าการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างเสรีนั้นเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ในหลักประชาธิปไตย ศิลปินก็ควรมีเสรีภาพในการแสดงออกด้วยผลงานของพวกเขาเช่นกัน
การประเมินที่สามารถทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ว่าการให้เสรีภาพในการแสดงออกนั้นสามารถที่จะสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศได้ คือค่าดัชนีเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Index) และค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวได้คือประเทศที่มีเสรีภาพในการแสดงออกสูง ก็จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ของความโปร่งใสในประเทศเหล่านั้นสูงตามไปด้วย จึงถือเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่? ที่จะสนับสนุนเสรีภาพและพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกของศิลปินและผู้ที่ทำงานสร้างสรรค์ โอบรับคำวิพากษ์วิจารณ์และความคิดเห็นที่แตกต่าง สร้างสรรค์สังคมที่สามารถเกิดการพูดคุย ส่งเสริมวัฒนธรรมการถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างมีวุฒิภาวะ สุดท้ายนี้สำหรับผู้เขียนในฐานะของคนที่เคยเป็นนักเรียนศิลปะ ยังคงมีความหวังเล็กๆ ว่าเมื่อถึงวันหนึ่งที่โครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยวได้รับการแก้ไขและมีบริหารจัดการที่ดีมากพอ สังคมก็จะมีพื้นที่ให้สำหรับศิลปินและผู้ที่ทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น เมื่อสังคมที่ดีศิลปะก็จะดีตาม เพราะทั้งสองสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้
อธิชา สุทธิวีระวัฒน์
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด