ลงมือสู้โกง : Back to School จับตาดูงบเงินอุดหนุน

วนกลับมาอีกครั้งกับเทศกาล Back to School ช่วงเวลาแห่งการเปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษาใหม่ของคุณหนูๆ คุณผู้อ่านทุกท่านคงพบเห็นการวางขายสินค้าอุปกรณ์การเรียนมากมายตามที่ต่างๆ รวมถึงภาพและรายงานข่าวจากสื่อหลากหลายช่องทางเกี่ยวกับการจับจ่ายสินค้าทางการศึกษา ทั้งเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การเรียน

สิ่งที่น่าสนใจคือแม้จะอยู่ในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจค่อนข้างฝืดเคือง ข้าวของเครื่องใช้มีราคาแพง ทำให้หลายครัวเรือนต้องประหยัดและลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง แต่ภาพการเลือกซื้อสินค้าอุปกรณ์การเรียนให้บุตรหลานนั้นสวนทางไป เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่าเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การเรียนเป็นสิ่งจำเป็น โดยหลายท่านต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ของบางอย่างจำเป็นต้องซื้อใหม่เนื่องจากร่างกายของนักเรียนนั้นเติบโตขึ้น จนของเดิมที่มีอยู่ใช้งานไม่ได้หรือชำรุดไปบ้าง รวมถึงการมอบอุปกรณ์การเรียนใหม่ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีในการเรียกขวัญกำลังใจในการเรียนให้แก่บุตรหลาน เนื่องจากเป็นการกลับมาเปิดภาคเรียนอย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังจากที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์กันมายาวนานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องแบกรับนี้ จึงย้อนกลับเป็นคำถามที่หลายท่านอาจสงสัยและให้ความสนใจว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐฯ นั้นมีจริงหรือ? คำว่า เรียนฟรี หมายถึงฟรีอย่างไรบ้าง? แล้วมันเกี่ยวข้องกับการแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในส่วนของเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การเรียนบ้างหรือไม่?

หากลองแกะกล่องนโยบายเรียนฟรีของภาครัฐที่เริ่มขับเคลื่อนกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 และมีการปรับใช้เรื่อยมาตามความเหมาะสมจวบจนปัจจุบัน จะพบว่าภาครัฐนั้นมีแนวทางในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคณะรัฐมนตรีจะยื่นเสนอมติขออนุมัติตั้งงบประมาณเป็นรายปี เพื่อดำเนินงานสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับแผนงานการศึกษานั้น จะถูกจัดสรรออกเป็นหลายส่วนเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของผู้เรียน สังกัดโรงเรียน และแผนการศึกษา

ผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลงบประมาณที่ภาครัฐจัดสรร เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จากเอกสารแนวทางการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่เปิดเผยบนเว็บไซต์สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย รวมทั้งสิ้นกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนในสังกัดราว 6.7 ล้านคน จากสถานศึกษากว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ โดยงบเงินอุดหนุนดังกล่าวมาจากการจัดสรรค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา จำนวน 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน 22,030,552,700 บาท ค่าหนังสือเรียน 5,172,395,900 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 2,511,686,900 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 2,591,013,800 บาท และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4,241,681,600 บาท

แต่ทว่าในทางปฏิบัติส่วนงบประมาณข้างต้น ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนการเรียนตลอดปีการศึกษาของผู้เรียน โดยงบประมาณทั้งหมดนั้นจะถูกจัดสรรให้แก่โรงเรียนโดยตรง ซึ่งโรงเรียนมีหน้าที่ในการบริหารจัดการงบประมาณดังกล่าวตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการได้ระบุไว้ ทำให้ค่าใช้จ่ายบางส่วนถูกจัดสรรไปกับการบริหารจัดการเรียนการสอนภายในโรงเรียน เช่น ค่าตอบแทนบุคลากรอัตราจ้าง ค่าวัสดุ ครุภัณฑ์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าหนังสือเรียน ค่ากิจกรรมพิเศษอื่นๆ เป็นต้น จึงอาจทำให้ผู้เรียนและผู้ปกครองนั้นรู้สึกว่า เงินอุดหนุนนั้นไม่ตกถึงมือของผู้เรียนหรือผู้ปกครองโดยตรง เพราะมันถูกจัดสรรและใช้จ่ายไปกับการบริการและสวัสดิการอื่นๆ ภายในโรงเรียน

ส่วนของงบประมาณที่ผู้เรียนและผู้ปกครองสามารถจับต้องได้โดยตรงนั้น ได้แก่ รายการค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งสถานศึกษาจะต้องจ่ายเงินสด ให้กับนักเรียน หรือผู้ปกครอง ตามอัตรางบประมาณสนับสนุนของนักเรียนแต่ละระดับชั้น ก่อนการเปิดภาคเรียน เพื่อให้ผู้เรียน/ผู้ปกครองสามารถจัดหาอุปกรณ์การเรียนและเครื่องแต่งกายได้ตามเหมาะสม ซึ่งสามารถถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายได้ โดยผู้เรียนจะต้องนำส่งใบเสร็จการใช้จ่ายเงิน เพื่อเป็นหลักฐานในการขอรับการสนับสนุน

งบประมาณค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวไปข้างต้นจึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองตามแนวทางในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกกันว่านโยบายเรียนฟรีของภาครัฐนั่นเอง จึงเป็นหน้าที่ของผู้เรียน/ผู้ปกครอง และภาคประชาชนที่ต้องติดตามและตรวจสอบ พร้อมทั้งร่วมประเมินคุณภาพของการจัดการศึกษา ว่าเงินอุดหนุนทั้งหลายที่ถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษานั้น ถูกจัดสรรและบริหารอย่างเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร?

เนื่องจากแนวทางการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐนี้ อาจเป็นทั้งเรื่องน่ายินดี และน่าจับตามองไปพร้อมๆ กัน เพราะงบประมาณจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานั้นจะถูกคำนวณมาจากสัดส่วนผู้เรียนรายหัวของสถานศึกษาแต่ละแห่ง และดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้กระจายไปยังสถานศึกษาตามสังกัดต่างๆ โดยภาครัฐ ถือเป็นการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการ และเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่หน่วยงานได้บริหารจัดการตามบริบทและความเหมาะสมของตนเอง แต่เป็นที่น่าเสียดายเพราะการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการนี้ กลับยังไม่มีแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลและการติดตามผลที่ชัดเจน และโปร่งใส ทำให้ภาคประชาชนไม่สามารถร่วมตรวจสอบการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มากเท่าที่ควร ช่องว่างของการเปิดเผยข้อมูลเพื่อติดตามผลนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เรายังสามารถพบเห็นการทุจริต และเหตุความไม่โปร่งใสในสถานศึกษาอยู่บ่อยครั้ง

…เพื่อเฝ้าระวัง และร่วมติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายงบเงินอุดหนุนส่วนนี้ต่อไป ผู้เขียนได้รวบรวมเหตุอันเป็นทุจริต ซึ่งสามารถเกิดจากช่องว่างในการจัดสรรงบเงินอุดหนุน รวม 4 ประการ ดังนี้

ประการแรกคือ เด็กผี การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเกินจำนวน ซึ่งเกิดจากการปลอมแปลงบัญชีรายชื่อของนักเรียนในสถานศึกษาให้ไม่ตรงกับจำนวนนักเรียนจริง อาจมีรายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อน ทำให้มีผลต่อการจัดสรรงบประมาณ โรงเรียนจึงควรเปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้เรียน และงบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนที่ชัดเจนให้สามารถทำการติดตามและตรวจสอบได้

ประการที่สองคือ เงินทอน การปลอมแปลงเอกสาร หลักฐานสำคัญในการใช้จ่ายเงินให้มียอดค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนอัตราการสนับสนุนเพื่อรับประโยชน์จากเงินส่วนต่างนั้น โดยส่วนนี้เอง จำต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการป้องกันปัญหา ทั้งผู้เรียน ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา และร้านค้า รวมถึงการติดตาม และตรวจสอบภายในสถานศึกษาเองด้วย

ประการสามคือ เงินบริจาค ในกรณีที่ผู้เรียนและผู้ปกครองไม่ประสงค์รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ หรือมีความประสงค์ที่จะบริจาคเงินที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวให้กับโรงเรียนด้วยความสมัครใจ โรงเรียนจะสามารถนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้ผู้เรียนและผู้ปกครองที่ประสงค์จะบริจาคเงินนั้นจะต้องแนบหลักฐานเพื่อแสดงเจตจำนงในการบริจาคเงินทุกครั้ง และทางโรงเรียนก็ต้องชี้แจงยอดงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าวด้วย

ประการสุดท้ายคือ การเอื้อประโยชน์ เนื่องจากสถานศึกษาสามารถดำเนินการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการจัดหาเครื่องแบบนักเรียนที่มีคุณภาพให้แก่นักเรียนได้ รวมถึงสามารถจัดซื้อ จัดจ้าง จัดหาตัวแทนในการดำเนินงานด้านอื่นๆ ผู้เรียนและผู้ปกครอง รวมถึงภาคประชาชนทุกท่านควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่มาในการสรรหาหรือใช้จ่ายงบประมาณนั้น ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานตามระเบียบที่ระบุไว้อย่างถูกต้องและโปร่งใส เพื่อป้องกันการขัดกันทางผลประโยชน์ (conflict of interest) ที่อาจเกิดขึ้นนั่นเอง

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีช่องทางหรือระบบที่สามารถติดตามการใช้จ่ายงบเงินอุดหนุนแยกตามรายการใช้จ่ายได้โดยตรง แต่ผู้เขียนขอนำเสนอ ACT Ai เครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันภาคประชาชน ที่รวบรวมข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมทั้งระบบวิเคราะห์ความเสี่ยงการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง มาเป็นตัวอย่างในการร่วมติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณบางประเภทที่เกี่ยวข้อง ทุกท่านสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ https://actai.co/ และสามารถสืบค้นการใช้จ่ายงบประมาณบางประเภทของโรงเรียนได้จากการสืบค้นผ่าน keyword เช่น “ชื่อสถานศึกษา” “ค่าหนังสือเรียน” “กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน” เป็นต้น

สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลแกะกล่องงบเงินอุดหนุนและแนวทางในการติดตามช่องว่างของการทุจริตงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ผู้อ่านทุกท่านร่วมรักษาสิทธิฯ ของตนเอง และมีส่วนร่วมในการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณในปีการศึกษาใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้น เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการบริหารจัดการสถานศึกษา และเพื่อผลประโยชน์อันสูงสุดในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของนักเรียนทุกคนนะคะ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

ศุทธิรัตน์ พัชรวุฒิพันธุ์

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

ลงมือสู้โกง : เปลี่ยนการศึกษาไทย ด้วยการเปิดข้อมูลโรงเรียน

เด็กนักเรียนไทย จะมีสิทธิตั้งคำถามและสามารถหาคำตอบให้กับข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจากการสืบค้นข้อมูลเองได้หรือไม่ ?

ลงมือสู้โกง : การศึกษาไทยหลังโควิด : รอยบาดแผลที่ต้องเร่งรักษา

เกือบ 2 ปี ที่เราเผชิญกับสถานการณ์ Covid-19 เช่นเดียวกันกับน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เป็นการเรียนออนไลน์ แทน

You might also like...

บทความวิจัย : มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ

แนวทางการดำเนินคดีสำหรับผู้ทุจริตการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนากฎหมายการทุจริตการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ

บทความวิจัย : ทางออกการป้องกันและการปราบปรามทุจริตในสังคมไทย

แนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งภาคประชาชนในการติดตามและตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ

บทความวิจัย : แนวทางพัฒนาจริยธรรมนักการเมืองไทย

การประเมินจริยธรรมของนักการเมืองโดยภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการพัฒนาจริยธรรม มาตรการกำหนดคุณสมบัติด้านจริยธรรม และมาตรการกำหนดบทลงโทษในกรณีทำความผิด เพื่อยกระดับจริยธรรมในนักการเมืองให้สูงขึ้น