บริษัทปลอม vs ศุลกากร : หนีภาษีเขาทำกันอย่างไร ?
“ภาษีศุลกากร” คือภาษีที่เรียกเก็บเวลาที่ต้องขนส่งสินค้าข้ามประเทศ หรือหลายคนเรียกว่า ภาษีนำเข้า ภาษีส่งออก ซึ่งภาษีจะถูกเรียกเก็บเพื่อให้รัฐนำเงินไปบริหารประเทศในอนาคต แต่ปัญหาที่ต้องเจอคือ หลายคนพยายามหาทางหลีกเลี่ยงภาษี โดยมีการวางแผนกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้รอดพ้นจากการตรวจสอบ และหนึ่งในวิธีการที่สำคัญคือจากการตั้งบริษัทที่ไม่มีการดำเนินงานจริง
ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษากลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย” โดย วัชรา ไชยสาร และคณะ (2561) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบของกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย โดยใช้วิธีการค้นคว้าจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก ทำให้เราได้เห็นวิธีการของกลุ่มคนที่หนีภาษี
จากการศึกษา พบว่า บริษัทที่ไม่มีการดำเนินงานจริงเป็นกลไกสำคัญของการทุจริตภาษีศุลกากร โดยบริษัทจะถูกจัดตั้งขึ้นแต่ไม่มีการทำธุรกิจจริง ใช้การปลอมเอกสารให้เหมือนกับว่ามีการซื้อขายสินค้าและบริการ มีการออกใบกำกับภาษีปลอมและรายงานธุรกรรมที่ไม่เกิดขึ้นจริง เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากรัฐ ซึ่ง KRAC ได้สรุปผลการศึกษาจากงานวิจัยนี้มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน
เบื้องหลังการทุจริตภาษีศุลกากร มีตัวละครอะไรบ้าง
กระบวนการจัดตั้งบริษัทปลอม เพื่อใช้เป็นแหล่งหนีภาษาศุลกากร อาจมาจากความร่วมมือของหลายฝ่าย เช่น
ผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการที่ตั้งใจทุจริตจะจัดตั้งบริษัทขึ้นมาโดยไม่มีการดำเนินงานจริง การกระทำเช่นนี้ทำให้พวกเขาสามารถออกใบกำกับภาษีปลอมโดยแสดงว่ามีรายได้จากการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ไม่มีการดำเนินธุรกิจจริง วิธีการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากรัฐได้โดยไม่ต้องจ่ายภาษีหรือเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและอนุมัติเอกสาร
เจ้าหน้าที่รัฐบางรายอาจละเลยหรือหลีกเลี่ยงการตรวจสอบการมีอยู่จริงของบริษัทเหล่านี้ ทำให้บริษัทปลอมผ่านการตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ในบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เช่น สินบนหรือผลตอบแทนในรูปแบบอื่น เพื่อช่วยให้บริษัทปลอมสามารถผ่านการตรวจสอบหรือขอคืนภาษีได้อย่างสะดวก
ที่ปรึกษาด้านบัญชีและกฎหมาย
กลุ่มที่ปรึกษาด้านบัญชีและกฎหมายจะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำในการสร้างเอกสารบัญชีที่ดูน่าเชื่อถือ รวมถึงวิธีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายให้เป็นประโยชน์ พวกเขาอาจช่วยจัดเตรียมเอกสารสำคัญหรือรายงานทางการเงินที่แสดงการดำเนินงานของบริษัทให้ดูเหมือนว่าเป็นธุรกิจที่ถูกต้อง เพื่อให้กระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมีความสมบูรณ์และยากต่อการตรวจจับจากหน่วยงานภาครัฐ
นักการเมือง
นักการเมืองบางรายที่มีอำนาจและมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ประกอบการ อาจใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนในการช่วยสนับสนุนหรือปิดบังการจัดตั้งบริษัทปลอม เพื่อเอื้อให้การขอคืนภาษีดำเนินไปได้อย่างราบรื่น อีกทั้ง นักการเมืองอาจช่วยให้บริษัทเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือผ่านการตรวจสอบโดยไม่มีอุปสรรคในเชิงกฎหมาย
วิธีป้องกันบริษัทปลอม แหล่งหนีภาษาศุลกากรหลักหมื่นล้าน !!
จากกระบวนการจัดตั้งบริษัทปลอมเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่ว่านี้ ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณอย่างมาก
โดยงานวิจัยพบว่าในปี 2557 มีคดีทุจริตภาษีถึง 217 คดี และทุนทรัพย์ที่ยื่นฟ้องรวมสูงถึง 11,520 ล้านบาท เพื่อที่จะลดหรือป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตประเภทนี้ งานวิจัยได้แนะนำแนวทางเพื่อแก้ปัญหา ดังนี้
(1) นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้
เช่น ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดฝหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจจับความผิดปกติในเอกสารบัญชีและการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถติดตามและวิเคราะห์รูปแบบการทุจริตได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
(2) จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจสอบเฉพาะด้านภาษี
เพื่อดูแลการคืนภาษีโดยตรง นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทที่ไม่มีการดำเนินงานจริงสามารถยื่นขอคืนภาษีได้
(3) ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยเฉพาะการอุดช่องโหว่ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดโอกาสที่บริษัทที่ไม่ได้ดำเนินการจริงจะใช้ช่องโหว่เหล่านี้ในการทุจริต และช่วยเพิ่มความโปร่งใสในระบบภาษีและเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการสุจริต รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณถึงความจริงจังของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบ
ปัญหาการทุจริตภาษีศุลกากรผ่านบริษัทที่ไม่มีการดำเนินงานจริง ไม่ได้เป็นแค่การกระทำทุจริตที่ผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ทำให้เงินที่ควรถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศต้องหายไป สร้างวัฒนธรรมการทุจริตในภาครัฐและการเมือง และส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ที่จ่ายภาษีอย่างถูกต้อง
ภาครัฐ เอกชน และประชาชนจึงต้องร่วมมือกันป้องกันปัญหาด้วยการไม่รับสินบน ไม่จ่ายสินบน และร่วมแจ้งเบาะแสเมื่อรับรู้ว่ามีการทุจริตอยู่ เพื่อให้สังคมโปร่งใสและนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างที่ควรจะเป็น
งานวิจัยเรื่อง “การศึกษากลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย” โดย วัชรา ไชยสาร และคณะ (2561) ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตโดยการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรในรูปแบบอื่น ๆ ที่น่าสนใจ โดยสามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัยได้ที่ลิงก์ด้านล่าง
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
วัชรา ไชยสาร, วรวุฒิ รักษาวงศ์, ทศพนธ์ นรทัศน์, อดิเรก คิดธรรมรักษา, นัทพล เพชรากูล และณฐพร ถนอมทรัพย์. (2561). การศึกษากลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | แก้เกมฟอกเงิน แก้โกงงบประมาณ
ปัญหาฟอกเงินไทย อะไรคือจุดอ่อน ? ชวนสำรวจแนวทางการป้องกันฟอกเงินด้วยการแก้กฎหมายบางมาตรา และสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดความโปร่งใส จากงานวิจัยเรื่อง การต่อต้านการคอร์รัปชัน: มาตรการการควบคุมการเคลื่อนไหวของเงิน (2558)
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เบื้องหลังการทุจริตภาษีศุลกากร: เมื่อบริษัทปลอมกลายเป็นเครื่องมือเลี่ยงภาษี
บริษัทปลอม vs ศุลกากร : หนีภาษีเขาทำกันอย่างไร ? วิธีป้องกันบริษัทปลอม แหล่งหนีภาษาศุลกากรหลักหมื่นล้าน !! กระบวนการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ? แต่ละตัวละครทำหน้าที่อะไร สรุปมาให้เเล้วจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษากลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย” (2561)
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เกาหลีใต้เอาชนะการทุจริตจากผู้มีอิทธิพลภาคธุรกิจได้อย่างไร ?
การทำธุรกิจนั้นมีการแข่งขันสูง หลายธุรกิจมีแรงกดดันที่ต้องเอาชนะคู่แข่งในตลาด ต้องพยายามลดต้นทุนให้น้อยลงและสร้างรายได้ให้มากขึ้น จนหลายบริษัทเลือกที่จะใช้ “ทางลัด” หรือคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบทางต้นทุน