CPI ไม่ใช่ทุกคำตอบของปัญหาคอร์รัปชัน
เป็นที่รู้กันว่าคะแนน CPI หรือ ดัชนีการรับรู้การทุจริตเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ถูกหยิบมาใช้หลายครั้งเมื่อพูดถึงสถานการณ์คอร์รัปชันแต่ละประเทศ จนดูเหมือนเป็นตัวชี้วัดสารพัดประโยชน์ที่สามารถวัดการทุจริตได้ทุกรูปแบบ แต่ความจริงแล้วคะแนน CPI อาจไม่ได้ตอบโจทย์รอบด้านอย่างที่หลายคนคิด
เพราะการจัดทำคะแนน CPI ส่วนใหญ่มาจากทัศนคติของนักลงทุนระหว่างประเทศ นักวิชาการที่เคยอยู่ออกซ์ฟอร์ด นักข่าวสายการเงิน ทำให้คะแนนที่ออกมาอาจเป็นการสะท้อนภาพการคอร์รัปชันในภาคธุรกิจที่เหมาะสำหรับการลงทุนมากกว่าสภาพความเป็นจริงทั้งหมดในประเทศอย่างครอบคลุม
จึงเป็นเหตุผลว่า หากเราต้องการเห็นภาพรวมการทุจริตในประเทศไทยจริง ๆ การพูดคุยหรือเก็บข้อมูลจากประชาชน อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีการที่งานวิจัย เรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” ได้ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพการคอร์รัปชันในประเทศไทย มุมมองและประสบการณ์ของประชาชนมากขึ้น
โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการร่วมมือระหว่าง ศ. ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ดร.ยงยุทธ ไชยพงศ์ และ ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ที่ได้สำรวจเกี่ยวกับมุมมองและประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน จำนวน 6,048 คน ที่มีต่อหน่วยงานราชการในประเทศไทยในปี 2557 และนำข้อมูลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับผลสำรวจที่เคยทำไว้ในปี 2542 เพื่อทำให้เห็นภาพสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยภายในมากกว่าการอ้างอิงจากคะแนน CPI ซึ่ง @KRAC Corruption ก็ได้ Crack!! 3 ข้อมูลน่าสนใจที่คนส่วนใหญ่อาจคาดไม่ถึงมาให้อ่านกัน
หนึ่ง “สำนักงานที่ดิน” เรียกสินบนบ่อยที่สุด : ถ้าถามว่าข้าราชการกลุ่มไหนเรียกสินบนบ่อยที่สุด คนไทยหลายคนคงตอบอย่างรวดเร็วว่าเป็นตำรวจ เพราะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมาก ทั้งรับเรื่องร้องเรียนรายวันและการดูแลประชาชนบนท้องถนน แต่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่คิด
เพราะข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในงานวิจัยทั้งปี 2557 และข้อมูลในปี 2542 พบว่า หัวหน้าครัวเรือนถูกเรียกสินบนจาก “สำนักงานที่ดิน” บ่อยที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังสำนักงานที่ดินยังเป็นหน่วยงานเดียวที่เรียกสินบนเกิน 1 แสนบาท ในปี 2557
ในส่วนของมูลค่าความเสียหาย ปี 2557 กรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่มีมูลค่าสินบนมากที่สุด เป็นจำนวน 1,922 ล้านบาท และถ้าย้อนกลับไปปี 2542 งานวิจัยนี้ก็ยังพบว่ากรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่มีมูลค่าสินบนมากที่สุด เป็นจำนวน 5,100 ล้านบาท
ถึงแม้ข้อมูลจะทำให้รู้สึกเหมือนกรมที่ดินและสำนักงานที่ดิน มีการทุจริตในหน่วยงานค่อนข้างมาก แต่เมื่อลองเปรียบเทียบข้อมูลจะพบว่า ปี 2542 กับ 2557 มูลค่ารวมของสินบนลดลงมากกว่าสามเท่า และนอกจากนี้ยังพบว่าโอกาสที่หัวหน้าครัวเรือนจะถูกเรียกสินบนจากสำนักงานที่ดินก็ลดลงจาก 12 % เหลือแค่ 7 % ซึ่งทำให้เห็นสถานการณ์การทุจริตที่ดีขึ้น
สอง แป๊ะเจี๊ยะ “หลักพันล้าน”: “คุณจะให้เงินช่วยเหลือโรงเรียนเราเท่าไรดี ?” อาจจะเป็นคำถามแรกเมื่อเราต้องเข้าโรงเรียนดัง เป็นวัฒนธรรมการจ่ายเงินที่เรียกว่าแป๊ะเจี๊ยะซึ่งหลายคนน่าจะเคยเจอ โดยงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ปี 2542 ครัวเรือนที่มีลูกหลานต้องเข้าเรียน 2.8 % จะถูกเรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะ โดยจะอยู่ที่ 100-60,000 บาท และในปี 2557 พบว่า ครัวเรือนที่มีลูกหลาน 1.65 % จะถูกเรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะ ซึ่งพบว่ามีการเรียกเก็บเงินที่น้อยลง
ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่เรียกว่า “เงินพิเศษ” ที่ผู้ปกครองต้องจ่ายให้กับโรงเรียนหลังเข้าเรียนซึ่งในปี 2542 รวม ๆ แล้วทั้งหมดอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท และในปี 2557 รวม ๆ แล้วทั้งหมดอยู่ที่ 2,600 ล้านบาท ซึ่ง 75 % เป็นการจ่ายในกรุงเทพฯ
ข้อมูลจากการสำรวจทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนประเทศไทยก็ยังมีการจ่ายเงินทุจริตในระบบการศึกษามากเป็นหลักพันล้านต่อปี และแสดงให้เราเห็นถึงความรุนแรงของการโกงในระบบการศึกษา อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบระหว่างปี 2542 และ 2557 จะเห็นว่าครัวเรือนที่ถูกเรียกแป๊ะเจี๊ยะมีน้อยลง รวมถึงมูลค่ารวมของเงินพิเศษเองก็มีการลดลงด้วย
สาม กระบวนการ “ยุติธรรม” ที่คนเกือบ 50 % ไม่ได้รับ “ความเป็นธรรม” จากการถูกเรียกรับสินบน : ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยได้ถูกพูดในแง่ลบมานาน ซึ่งงานวิจัยนี้ก็ได้ทำให้ภาพของการทุจริตในกระบวนการชัดเจนขึ้น เมื่อพบคนเกือบครึ่งหนึ่งถูกเรียกสินบนในกระบวนการยุติธรรม
โดยงานวิจัยได้สำรวจหัวหน้าครัวเรือน 1,246 คน ในปี 2557 ก็พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งยอมรับว่าเคยโดนเรียกสินบนในกระบวนการยุติธรรม โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทนาย และเมื่อเทียบกับข้อมูลในปี 2542 จากการสำรวจหัวหน้าครัวเรือน 1,188 คน ก็พบว่า 1 ใน 3 เคยถูกเรียกรับสินบนในกระบวนการยุติธรรมซึ่งจะเป็นการจ่ายให้ผู้พิพากษา เลขานุการ อัยการ เสมียน
นอกจากนี้งานวิจัยยังสอบถามเพิ่มเติมถึงมุมมองความศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเปรียบเทียบปี 2542 กับปี 2557 พบว่าประชาชนมีศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมลดลง เชื่อว่าความยุติธรรมมีไว้สำหรับคนมีอำนาจและคนรวย
ข้อมูลที่เราหยิบยกขึ้นมาทำให้เห็นภาพของการคอร์รัปชันในสังคมไทยที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นทั้งในปี 2557 และ 2542 มากกว่าการดูเพียงภาพรวมของดัชนีการรับรู้ทุจริต ซึ่งสิ่งที่เราตั้งใจจะนำเสนอ คือข้อค้นพบที่น่าสนใจจากงานวิจัย แม้บางมุมอาจทำให้รู้สึกว่าคอร์รัปชันดูรุนแรง แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้เห็นว่าในช่วง 15 ปีนั้น ปัญหาคอร์รัปชันลดลงไปมากแค่ไหนด้วย ซึ่งก็มาจากการทำงานของเจ้าที่รัฐที่พยายามแก้ปัญหา เช่น การลดขั้นตอนการให้บริการ การทำประเมินการให้บริการ การเปิดช่องทางให้ร้องเรียน ฯลฯ ตามที่งานวิจัยได้เล่าไว้ ซึ่งเราอาจไม่เห็นภาพคอร์รัปชันชัดเจนเท่านี้ถ้าไม่มีข้อมูลการสำรวจจากงานวิจัย ความสำคัญของการสำรวจจึงเป็นข้อเสนอแนะของงานวิจัยที่มองว่าการทำข้อมูลลักษณะนี้ ควรมีการทำขึ้นในทุก ๆ 5 หรือ 10 ปี เพื่อให้กลายเป็นระบบข้อมูลที่จะนำไปตรวจสอบและแก้ปัญหาการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
หากท่านใดสนใจข้อมูลงานวิจัยสามารถอ่านเพิ่มเติมจากงานวิจัย เรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” (2557) โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร ยงยุทธ ไชยพงศ์ และธานี ชัยวัฒน์
#ราชการ #ตำรวจ #โรงเรียน #ทุจริต #โกง #KRAC
——————
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | CPI ไม่ใช่ทุกคำตอบของปัญหาคอร์รัปชัน
หากเราต้องการเห็นภาพรวมการทุจริตในประเทศไทยจริง ๆ การพูดคุยหรือเก็บข้อมูลจากประชาชน อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีการที่งานวิจัย เรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” ใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพการคอร์รัปชันในไทย มุมมองและประสบการณ์ของประชาชน
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | 3 มุมมองจากผู้รู้ สู่การแก้โกงจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐ
เมื่อดุลยพินิจมากเกินไป แก้อย่างไรถึงจะเห็นผล ? ในการกำหนดนโยบายและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของรัฐต่างก็ต้องมีคนที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยสามารถใช้ดุลยพินิจของตนเพื่อตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่หลายครั้งการวินิจฉัยกลับไม่เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม หรือเป็นการวินิจฉัยที่เบี่ยงเบนไปตามความพึงพอใจ อคติ หรือเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง จนเกิดเป็นการ “ทุจริต”
KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I ฟิจิปลุกแคมเพนโน้มน้าวใจข้าราชการต่อต้านการรับสินบน
อย่างที่เรารู้กันว่า “สินบน” เป็นรูปแบบหนึ่งของการคอร์รัปชันที่รุนแรงซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ทำลายระบบบริหาร และสร้างผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงฟิจิ ประเทศบนเกาะในภูมิภาคโอเชียเนีย …