KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | รางวัลแด่คนช่าง “แจ้ง”

คุ้มค่าแค่ไหน ถ้าได้แจ้งคอร์รัปชัน ?

 

“คอร์รัปชัน” เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ แม้ภาครัฐจะพยายามจัดตั้งองค์กรเพื่อปราบปรามมากเท่าไร ก็มีคดีอื่นผุดขึ้นมาใหม่ไม่ยอมหมดไปเหมือนแมวไล่จับหนู ดังนั้น การจัดการปัญหาคอร์รัปชันจึงไม่ใช่แค่การจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อปราบปรามทุจริตเท่านั้น

แต่กุญแจสำคัญที่จะช่วยจัดการคอร์รัปชันได้ คือ “การมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส” เพราะถ้าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบคอร์รัปชันภายในหน่วยงานรัฐ ช่วยกันแจ้งเบาะแส จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกกดดัน กลัวจะถูกจับได้และไม่กล้าคอร์รัปชัน ภาครัฐจึงมีความพยายามอย่างมากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

วันนี้ KRAC จึงอยากชวนมาดูกันว่า แล้วประเทศไทยผู้แจ้งเบาะแสคอร์รัปชันได้อะไรบ้าง ? จากข้อมูลของงานวิจัยเรื่อง “โครงการเสริมสร้างประสิทธิผลของระบบการให้เบาะแสในประเทศไทยและการส่งเสริมความร่วมมือในระดับพื้นที่ภาคใต้เพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ” โดย วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์ และคณะ (2561ที่ได้ศึกษาระบบการแจ้งเบาะแสของประเทศไทยเปรียบเทียบกับสากล เพราะในหลายประเทศก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของการแจ้งเบาะแสด้วยเช่นกัน

อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่ชื่อว่า False Claims Act (FCA) ซึ่งจะให้ค่าตอบแทนเป็นเงินให้กับคนที่แจ้งเบาะแส 15-30 % ของทรัพย์สินที่ยึดคืนมาได้ หรือในเกาหลีใต้ที่มีการตอบแทนเงินให้ผู้แจ้งเบาะแสคอร์รัปชัน โดยตั้งแต่ปี 2551-2562 เกาหลีใต้ได้จ่ายเงินให้กับผู้ที่แจ้งเบาะแสคอร์รัปชันไปแล้วเกือบ 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการให้รางวัลอาจจูงใจให้ผู้แจ้งเบาะแสรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะเสี่ยงถ้ารับค่าตอนแทน หรือรู้สึกว่าไม่เสียเวลาหรือค่าเดินทางโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะแจ้งเบาะแสคอร์รัปชันได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ งานวิจัย “Cash-for-Information Whistleblower Programs: Effects on Whistleblowing and Consequences for Whistleblowers” จาก Harvard Business School ยังยืนยันว่าการให้รางวัลตอบแทนช่วยทำให้คนมีแรงจูงใจในการแจ้งเบาะแสการคอร์รัปชันมากขึ้น อีกทั้ง คดีคอร์รัปชันที่มาจากการแจ้งเบาะแสประเภทนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นคดีสำคัญ มีความน่าเชื่อถือ และมีโอกาสดำเนินสำเร็จมากกว่า

แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าประเทศไทยก็มีการให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสด้วยเช่นกัน โดยแบ่งเป็นสองประเภท ได้เเก่ (1) ผู้มีสิทธิได้รับเงินสินบน และ (2) การให้รางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งทั้งสองรูปแบบจะมีการให้รางวัลแตกต่างกัน ดังนี้

  • การให้เงินสินบนกับผู้แจ้งเบาะแส หมายถึง คนที่แจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่ำรวยผิดปกติ หรืออยู่ ๆ ก็มีเงินขึ้นมาโดยไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินได้ ซึ่งหากการแจ้งเบาะแสนั้นส่งผลให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลและนำส่งกระทรวงการคลังแล้ว เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้แจ้งเบาะแสก็จะได้รับเงิน 15 % ของมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดได้ แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท 
  • การให้รางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้แจ้งเบาะแส หมายถึง คนทำความดีที่เป็นการช่วยป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน ซึ่งจะมีเงื่อนไขและรางวัลที่แตกต่างจากการให้เงินสินบนกับผู้แจ้งเบาะแส โดยคนที่ได้รับการพิจารณาให้รางวัลตอบแทนต้องเป็น ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแส และต้องไม่เป็นคนที่มีส่วนร่วมทำผิด หรือเคยได้รับรางวัลในการแจ้งเรื่องเดียวกัน และไม่ใช่การกระทำจากการปฏิบัติหน้าที่ หากคุณสมบัติผ่านก็จะได้รับการเสนอชื่อรับรางวัลเชิดชูเกียรติพร้อมใบประกาศเกียรติคุณจากสำนักงาน ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. โดยอาจมีเงินรางวัลด้วยแต่ต้องไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท 

การให้รางวัลทั้ง 2 รูปแบบ ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะคนทำดีก็ควรมีรางวัลตอบแทนให้ โดยเฉพาะประชาชนที่อาจได้รับความเสี่ยงจากการแจ้งเบาะแสผู้มีอำนาจแม้จะสามารถแจ้งเรื่องเพื่อขอรับความคุ้มครองได้ก็ตาม และในอนาคตรัฐอาจมีการพิจารณารางวัลที่เหมาะสมมากขึ้น รวมถึงนโยบายอื่น ๆ เช่น การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสที่เข้มงวดมากขึ้น การป้องกันการใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสม  เพื่อดึงดูดประชาชนให้พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และนำไปสู่การตรวจสอบ และแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้หมดไปจากสังคมไทย 

แล้วถ้าอยากแจ้งเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่ไหน ? หากต้องการแจ้งเบาะแสสามารถแจ้งผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ www.nacc.go.th โดยเลือกคลิกที่หัวข้อ “ศูนย์ร้องเรียน” จากนั้นให้ไปที่หัวข้อ “ร้องเรียน Online” หรือร้องเรียนด้วยการโทรศัพท์ผ่านหมายเลข 1205 

นอกจากประเด็นเรื่องของรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส  ยังมีผลการศึกษาอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การศึกษาเปรียบเทียบนโยบายการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสจากประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สิงค์โปร์ มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในงานวิจัย เรื่อง “โครงการเสริมสร้างประสิทธิผลของระบบการให้เบาะแสในประเทศไทยและการส่งเสริมความร่วมมือในระดับพื้นที่ภาคใต้เพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ” โดย วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์ และคณะ (2561

#คอร์รัปชัน #whistleblower #แจ้งเบาะแส #แจ้งเบาะแสทุจริต #รัฐบาล #Corruption #KRAC 

——————

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์, อังศุธร ศรีสุทธิสอาด, ศิริรักษ์ สิงหเสม และปริญ นิทัศน์. (2561). การเสริมสร้างประสิทธิผลของระบบการให้เบาะแสในประเทศไทยและการส่งเสริมความร่วมมือในระดับพื้นที่ภาคใต้เพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย I มันจบแล้วครับ…(ถ้า) นาย (โกง) : รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะทุจริต

การแจ้งเบาะแส เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่สามารถลดการคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะคงไม่มีใครให้มีข้อมูลเชิงลึกได้เท่า “คนใน” องค์กรเอง แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนในองค์กรไม่กล้าให้แจ้งเบาะแสทุจริต คือ “ความกลัว”

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | รู้จัก 3 แนวทาง Support ผู้แจ้งเบาะแสทุจริต

ยิ่งมีคนแจ้งเบาะแสมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีการตรวจสอบและช่วยนำคนผิดมาลงโทษมากเท่านั้น แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้หลายคนที่มีข้อมูลไม่อยากแจ้งเบาะแส เพราะกลัวว่าถ้าแจ้งไปแล้วก็อาจจะโดนกลั่นแกล้ง

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | รางวัลแด่คนช่าง “แจ้ง”

กุญแจสำคัญที่จะช่วยจัดการคอร์รัปชันได้ คือ “การมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส” เพราะถ้าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบคอร์รัปชันภายในหน่วยงานรัฐ ช่วยกันแจ้งเบาะแส จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกกดดัน กลัวจะถูกจับได้และไม่กล้าคอร์รัปชัน ภาครัฐจึงมีความพยายามอย่างมากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

KRAC The Experience | EP 8: Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption

“การทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยเสริมสร้างการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ?” เรามีคำตอบมาให้จากแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระดับโลก🌏 ร่วมไขข้อสงสัยได้ที่ KRAC The Experience ตอน Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption