KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จของหน่วยงานรัฐ ในการสร้างธรรมาภิบาล ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ความท้าทายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือเป็นแผนแม่บทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้ “หลักธรรมาภิบาล” แต่การนำยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หน่วยงานภาครัฐต่างเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ความซับซ้อนของยุทธศาสตร์ชาติ ข้อจำกัดด้านทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน

 

งานวิจัยเรื่อง “ความท้าทายในประเด็นธรรมาภิบาลกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ” (2562) โดย ปิยากร หวังมหาพร และอภิญญา ดิสสะมาน ได้ทำการศึกษาความท้าทายในประเด็นธรรมาภิบาลภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของหน่วยงานรัฐ 6 แห่ง เพื่อสำรวจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐว่ามีแนวทางอย่างไรในการดำเนินงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์

 

โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจ ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมบังคับคดี กรมธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ข้อค้นพบว่า หน่วยงานทั้ง 6 แห่งประสบความสำเร็จในการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยความสำเร็จนี้มาจากหลายปัจจัย จะมีปัจจัยใดบ้าง มาร่วมหาคำตอบกัน

ปัจจัยความสำเร็จของ 6 หน่วยงานรัฐ ในงานวิจัย

1. กรมการท่องเที่ยว

 

ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจากปัจจัยที่สำคัญคือ การมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีซึ่งเอื้อต่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ หรือก็คือ ในการดำเนินงานต่าง ๆ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ลักษณะงานมีความสนุกและท้าทาย ทั้งยังเปิดโอกาสให้บุคลากรได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่และพัฒนาศักยภาพการทำงานอยู่เสมอ นอกจากนี้ผู้บริหารของกรมยังมีการกำหนดเป้าหมายเพื่อปรับสมดุลและพัฒนาระบบการทำงานอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน 

 

2. กรมกิจการผู้สูงอายุ

 

ประสบความสำเร็จโดยมีการพัฒนาและการขับเคลื่อนงานกฎหมาย 4 ระดับเป็นปัจจัยหลัก โดยการพัฒนานี้มีทั้งหมด 4 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับนโยบายประเทศชาติ คณะกรรมการกรมกิจการผู้สูงอายุจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการส่งเสริมกิจกรรมของผู้สูงอายุ 2. ระดับหน่วยงาน คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ 3. ระดับจังหวัด กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการระดับจังหวัด (กสจ.) และสำนักงานพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (สนง.พมจ.) ขับเคลื่อนงานในระดับจังหวัด 4. ระดับพื้นที่ หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พอช.) ชมรมผู้สูงอายุ สถาบันการศึกษา ขับเคลื่อนงานใกล้ชิดกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เพื่อให้งานสำเร็จ

 

3. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

 

ประสบความสำเร็จจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. นโยบายที่ชัดเจน ทั้งจากผู้บริหารกรมและรัฐบาล 2. บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง 3. การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยใช้ KPI นอกจากนี้ การพัฒนาคนในระดับท้องถิ่นก็สำคัญเช่นกัน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนโดยตรง ตัวอย่างการดำเนินงานที่สะท้อนถึงความสำเร็จ คือ การพัฒนาบุคลากรผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และความชัดเจนของนโยบายผ่านแผนปฏิรูปและการประเมินผล

 

4. กรมบังคับคดี

 

ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและการขับเคลื่อนงานกฎหมายได้ด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ 1. ผู้นำเชิงรุก ผู้บริหารกรมมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการทำงานเพื่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป้าหมายนี้ให้บุคลากรทุกคนเข้าใจตรงกัน ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ 2. การมีส่วนร่วม กรมบังคับคดีเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทั้งบุคลากรภายในและบุคคลภายนอก เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น 3. การใช้เทคโนโลยี กรมบังคับคดีได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการประชาชน เช่น การประกาศข้อมูลทรัพย์สินรอการขายบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน LED Debt Info ที่ช่วยให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลการอายัดเงินได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบประมูลขายทอดตลาดทรัพย์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (E-Offering Auction) และการนำ Big Data มาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายทรัพย์สิน

 

5. กรมธุรกิจการค้า

 

ประสบความสำเร็จจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1. มีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับบุคลากรในทุกระดับ โดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรมหรือโครงการ และความสำคัญหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นแต่ละส่วนงาน 2. มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มงบประมาณและบุคลากรด้านไอที 3. ดำเนินงานอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ 4. ยึดหลักผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน พิจารณาขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างและประเมินผลงานภายหลังทุกโครงการ หากโครงการไหนมีผลเสียมากอาจจะต้องพิจารณาหน่วยงานที่จะมาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการใหม่

 

6. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

 ประสบความสำเร็จจาก 8 ปัจจัย ได้แก่ 1. มีกฎหมาย วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมและโปร่งใส สามารถตรวจสอบการทำงานได้ 2. มีเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น 3. มีบุคลากรที่มีความสามารถตรงกับสายงาน 4. การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง 5. สร้างความเข้าใจและพัฒนาความร่วมมือในการบูรณาการการทำงาน และความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 6. มีการเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมและเสนอความคิดเห็น 7. จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรม และการให้ข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์ผ่านสื่อออนไลน์ 8. มีระบบการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่ยึดถือแนวทางปฏิบัตินี้ร่วมกันอย่างเคร่งครัด

รากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนธรรมาภิบาล

จากการศึกษาจะเห็นได้ว่า แม้แต่ละหน่วยงานจะมีปัจจัยความสำเร็จที่แตกต่างกันไป แต่ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีรากฐานมาจาก “หลักธรรมาภิบาล” ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาวะผู้นำที่ดี การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนภายใต้หลักธรรมาภิบาล และแผนยุทธศาสตร์ชาติ

 

งานวิจัยเรื่อง “ความท้าทายในประเด็นธรรมาภิบาลกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ (2562)” โดย ปิยากร หวังมหาพร และอภิญญา ดิสสะมาน ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการภายใต้หน่วยยุทธศาสตร์ชาติอื่น ๆ ให้ศึกษา เช่น แม้ว่าทั้ง 6 กรมจะสำเร็จด้านการดำเนินธรรมาภิบาลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติแต่มี 3 กรมที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณธรรมในปี 2560 หรือรายละเอียดที่ว่า ทั้ง 6 กรมต้องพบกับอุปสรรคอะไรบ้าง ? สามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญของวิจัยเพิ่มเติมได้ที่บทความสรุปงานวิจัยที่ลิงก์ด้านล่าง 

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

ปิยากร หวังมหาพร และอภิญญา ดิสสะมาน. (2562). ความท้าทายในประเด็นธรรมาภิบาลกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ. สถาบันพระปกเกล้า.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2568
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จของหน่วยงานรัฐ ในการสร้างธรรมาภิบาล ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สร้างความสำเร็จในหน่วยงานด้วย “หลักธรรมาภิบาล” ตามแผน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีตัวอย่าง 6 หน่วยงานรัฐไทยที่ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จในการสร้างธรรมาภิบาล…ปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง ? และผลลัพธ์ของการมีธรรมาภิบาลจะเป็นเช่นไร ? มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

You might also like...

บทความวิจัย : การเสริมสร้างเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาญจนบุรี

แนวทางการพัฒนาเครือข่ายการต่อต้านทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสื่อสารระหว่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน การสร้างตัวอย่างที่ดี การสร้างสังคมหิริโอตัปปะ และการสนับสนุนระบบการร้องเรียน ความโปร่งใส การป้องกันการทุจริต รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้บริหาร

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ส่งเสริมธรรมาภิบาลให้กว้างไกลด้วยการสร้างรางวัลให้องค์กร

พาทุกคนมาศึกษาจุดเริ่มต้นของธรรมาภิบาลในประเทศไทยช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจไทย 2540 ที่นำมาสู่การมอบรางวัลเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลไทย ซึ่งจะทำให้เห็นถึงพัฒนาการและภาพรวมของธรรมาภิบาลในประเทศไทยมากขึ้น และการมีธรรมาภิบาลจะช่วยลดคอร์รัปชันได้อย่างไร ?

บทความวิจัย : การพัฒนาคู่มือแนวทางการนําหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้สําหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษา

แนวทางในการส่งเสริมหลักสูตรด้านคุณธรรมจริยธรรมเพื่อต่อต้านการทุจริตในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ควรมีการกําหนดหลักการ กระบวนการ และแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน และควรมีแผนการเรียนรู้และสื่อการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนในสถานศึกษา