UNODC จับมือหน่วยงานไนจีเรียจัดทำ “รายงานการทุจริตในไนจีเรีย” ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ได้มีการเผยแพร่รายงานการสำรวจที่จัดทำร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติไนจีเรีย (Nigeria’s National Bureau of Statistics: NBS) มูลนิธิแมคอาเธอร์ (the MacArthur Foundation) และรัฐบาลเดนมาร์ก จากข้อมูลที่ได้มีการสำรวจในปี 2566 นับเป็นการสำรวจข้อมูลครั้งที่ 3 !
รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย โดยรายงานฉบับนี้มุ่งเน้นเพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์การทุจริตของชาวไนจีเรีย พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบของการทุจริตด้วย
จากรายงานพบว่า ในปี 2566 ชาวไนจีเรียกว่าร้อยละ 70 ถูกเรียกร้องให้จ่ายสินบน และมีการปฏิเสธที่จะจ่ายสินบนอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อการถูกเรียกร้อง นอกจากนี้ จากรายงานยังพบว่าประชาชนที่ได้รับผลเชิงลบภายหลังการปฏิเสธคำร้องขอสินบนมีจำนวนลดน้อยลง จากร้อยละ 49 ในปี 2562 เหลือร้อยละ 38 ในปี 2566 แสดงให้เห็นว่า ชาวไนจีเรียรู้สึกสบายใจมากขึ้นในการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ที่ทำการทุจริตโดยไม่กลัวผลที่จะตามมา และไม่กลัวว่าจะถูกเรียกร้องให้จ่ายสินบนเพื่อดำเนินการอีก
นอกจากนี้ ข้อมูลในปี 2566 พบว่า มีจำนวนประชาชนที่จ่ายสินบนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จากร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 8.6 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลมาจากการตรวจสอบที่เข้มงวด ความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงช่องทางการร้องเรียนมากขึ้น และความพร้อมของสถาบันในการรับเรื่องร้องเรียน จนนำไปสู่การตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า ระหว่างปี 2562 ถึงปี 2566
แม้ว่าจะมีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่เพิ่มมากขึ้น แต่การทุจริตยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชาวไนจีเรีย รองจากค่าครองชีพ ความไม่ปลอดภัย การว่างงาน และยังเป็นความท้าทายในการดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศให้มีประสิทธิผล เพราะจากการสำรวจพบว่า ประชาชนมีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐถึง 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.35 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือค่า GDP (Gross Domestic Product) นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการจ่ายสินบนในภาคเอกชนมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากร้อยละ 6 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 14 ในปี 2566
ในรายงานยังมีการระบุว่า “ผู้พิการ” เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการถูกเรียกร้องให้จ่ายสินบนมากกว่าบุคคลทั่วไป เพื่อที่จะได้ใช้บริการสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการเพิ่มภาระให้กับกลุ่มผู้พิการ ดังนั้น จึงควรมีการศึกษา สำรวจประสบการณ์ และผลกระทบของการทุจริต ที่มีต่อกลุ่มคนที่ถูกละเลยหรือถูกกีดกัน เช่น ผู้พิการ สตรี และเยาวชนเพิ่มเติม เพื่อที่จะเข้าใจในปัญหา และหาแนวทางการแก้ไขอย่างครอบคลุม
จากประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นนำมาสู่การเกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลายประการ เช่น การเสริมสร้าง “ความรับผิดชอบ” ที่เจ้าหน้าที่รัฐ พลเมือง และผู้ที่อยู่ในระบบยุติธรรมทางอาญาและรัฐสภา ที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการเรียกร้องสินบนและการรับสินบน เพื่อสร้างพฤติกรรม และทัศนคติที่จะทำให้คนในสังคมไม่ทนต่อการทุจริต รวมถึงการเสริมสร้าง “กลไกการร้องเรียน” ให้แข็งแกร่ง ลดข้อจำกัดของช่องทางการร้องเรียนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการติดต่อระหว่างพลเมืองกับเจ้าหน้าที่สาธารณะ ซึ่งอาจช่วยลดจำนวนการจ่ายสินบนลงได้อีกด้วย
ในปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องสินบนเช่นกัน ทั้งการเรียกร้องสินบนระหว่างนักการเมือง การรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐจากภาคเอกชน และการจ่ายสินบนของประชาชนแก่เจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้อยู่ ด้วยการใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแจ้งเบาะแสการทุจริต เช่น เว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. (https://wbs.nacc.go.th) ที่จะนำไปสู่การดำเนินการตรวจสอบเพื่อขยายผลต่อไป หรือการส่งเบาะแสโดยไม่เปิดเผยตัวตนผ่านไลน์ (Line) “ฟ้องโกงด้วยแชตบอต” (@corruptionwatch) และ เพจต้องแฉ ที่เป็นพื้นที่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเบาะแสการทุจริต ค้นหาข้อเท็จจริง แบ่งปันความรู้ในการแก้ไขปัญหาผ่านแฟนเพจ รวมถึงสนับสนุนข้อมูลให้สื่อมวลชนในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalism) ต่อไป
สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถอ่านรายงานฉบับเต็ม ได้ที่ 👉🏻 https://bit.ly/3LJtxLM
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC Insight | สรุปงานเสวนา เทรนด์วิชาการต่อต้านคอร์รัปชัน 2024 มีอะไรน่าสนใจบ้าง ?
ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การคอร์รัปชันก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน เราจึงต้องการงานวิจัยและการค้นคว้า เพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ ในการป้องกันไม่ให้การคอร์รัปชันเกิดขึ้น
KRAC Insight | สรุปความร่วมมือเพื่อสร้างความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชันในงาน “SEA-ACN Roundtable Discussion”
ติดตามความก้าวหน้าของเครือข่าย SEA-ACN ในการประชุมระดมสมองวางแผนการขับเคลื่อนงานต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันร่วมกัน เพื่อสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I ประเทศหมู่เกาะแคริบเบียนจัดการประชุมระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน ! ผ่านการสนับสนุนการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างเข้าใจมนุษย์
แคริบเบียน เสนอใช้ AI ต่อต้านคอร์รัปชัน เเต่ใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ !?