สรุปการเสวนาหัวข้อ โครงการริเริ่มสนับสนุนการพัฒนาการกำกับดูแลและส่งเสริมการบริหารการเงินที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ (Initiatives to Promote Transparent and Accountable Financial Management) ภายใต้การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 (International Conference on Anti-Corruption Innovations in Southeast Asia)
ผู้ดำเนินรายการ: คุณAlvin Nicola Program Manager for the Department of Democratic Governance, Transparency International จากประเทศอินโดนีเซีย
ผู้ร่วมเสวนา:
- คุณวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จากประเทศไทย
- คุณธนิสรา เรืองเดช ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up /WeVis จากประเทศไทย
- คุณ Shreya Basu Deputy Director ,Country Support, Open Government Partnership (OGP) จากประเทศสิงคโปร์
สรุปประเด็นการนำเสนอของ คุณวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จากประเทศไทย
คุณวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ยกตัวอย่างสองโครงการสำคัญที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ดำเนินการ ได้แก่ โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ประเทศไทย ซึ่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีบทบาทร่วมตรวจสอบและติดตามการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีกระบวนการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการดังกล่าว ช่วยให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณไปได้มากกว่า 7 หมื่นล้านบาท
สำหรับความเป็นมาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เริ่มจากการรวมตัวขององค์กรภาคเอกชน และขยายไปสู่การสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในเรื่องการคอร์รัปชันสู่สังคม ผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน สำคัญ ได้เเก่
- การให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคคลสาธารณะ
- การป้องกันการคอร์รัปชัน
- การสร้างแพลตฟอร์ม สำหรับผู้ที่ต้องการร้องเรียน และติดตามผล รวมถึงตรวจสอบผู้กระทำความผิด
นอกจากงานข้างต้นเเล้ว องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ยังมีส่วนร่วมเป็นผู้ร่วมตรวจสอบอิสระของ โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ในประเทศไทย ซึ่งโครงการข้อตกลงคุณธรรม เป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันในกระบวนการจัดทำสัญญาโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีบทบาทในการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เข้าร่วมโครงการ หรือผ่านเกณฑ์ข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ เป็นอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญ หรือทักษะเฉพาะด้าน เช่น ด้านเทคนิค วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคม เป็นต้น ปัจจุบันทางองค์กรฯ มีผู้สังเกตการณ์ที่ปฏิบัติหน้าที่ จำนวนทั้งสิ้น 255 คน
สำหรับการบังคับใช้ข้อตกลงคุณธรรมกว่า 6 ปี ทำให้หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณไปได้มากกว่า 74,000 ล้านบาท และยังทำให้การเข้าถึงข้อมูลเพิ่มมากขึ้น จนเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของ โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งโครงการที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้มีส่วนร่วมดำเนินงาน โดยทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามความโปร่งใสของโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ผ่านการเข้าร่วมกับองค์กร CoST International ซึ่งตลอดการดำเนินงาน ได้มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างเข้าสู่กระบวนการของโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ประเทศไทย มากกว่า 3,000 โครงการ และได้มีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะแล้วกว่า 2,000 โครงการ ทำให้โครงการสามารถช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐบาลไปได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท
สรุปประเด็นการนำเสนอของ คุณธนิสรา เรืองเดช ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up /WeVis จากประเทศไทย
คุณธนิสรา เรืองเดช ได้เล่าถึง Pain Point ของการเข้าถึงข้อมูลรัฐที่มีความยาก และขาดการจัดการที่ดีพอ จึงได้คิดค้นการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาข้อมูลเปิด จนเกิดเป็นหลายโครงการที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกขึ้น และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณรัฐได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างชุดข้อมูลที่สำคัญในการนำมาพัฒนาเป็นเเพลตฟอร์ม คือ การเข้าถึงชุดข้อมูลด้านการติดตามการคอร์รัปชันที่สำคัญ เช่น ข้อมูลนักการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้ง หรือโครงการจัดซื้อจัดจ้างในประเทศไทย ซึ่งชุดข้อมูลนี้ พบข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเข้าถึงข้อมูลที่มีความยุ่งยาก ด้านรูปแบบของการเปิดข้อมูลในรูปแบบของไฟล์ pdf. ซึ่งยากต่อการนำไปวิเคราะห์ข้อมูล และใช้ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐโดยประชาชน
ด้วยเหตุนี้ ทางคุณธนิสรา เรืองเดช จึงได้เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบที่น่าสนใจ และออกแบบการนำเสนอให้ง่ายต่อการศึกษาและทำความเข้าใจสำหรับคนทั่วไป ซึ่งนำมาสู่ความพยายามในการพัฒนาโครงการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ผ่านการพัฒนาชุดข้อมูลเปิดและเทคโนโลยีการเปิดเผยข้อมูลใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การให้ข้อมูลที่มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง การติดตามทำงานของรัฐบาล และการตรวจสอบงบประมาณ
โดยมีตัวอย่างโครงการด้านการตรวจสอบงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐที่พัฒนาขึ้น ดังนี้
- แพลตฟอร์ม Thailand Budget 2566 เป็นแพลตฟอร์มเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการสำรวจงบประมาณปี 2566 โดยได้เปิดชุดข้อมูลงบประมาณของรัฐบาลปี 2566 ในรูปแบบข้อมูลที่สามารถประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ต่อได้ (Machine readable format) และเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจของคนทั่วไป
- แพลตฟอร์ม Local Budget หรือผ่างบเมือง เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและติดตามงบประมาณของจังหวัดของตนเองได้ โดยคุณธนิสราคาดหวังว่าแพลตฟอร์มนี้ จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ของตนเองได้ในอนาคต
- แพลตฟอร์ม Bangkok Budgeting เป็นแพลตฟอร์มเปิดข้อมูลงบประมาณของกรุงเทพมหานคร และการนำเสนอข้อมูลงบประมาณตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มนี้ยังมีฟีเจอร์ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร่วมโหวตโครงการที่อยากพัฒนาในอนาคต ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพมหานครได้
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างโครงการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบงบประมาณในประเด็นสังคม เช่น
- แพลตฟอร์ม Covid-19 Spending เป็นแพลตฟอร์มการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในวงเงิน 1.5 พันล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและติดตามการใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- แพลตฟอร์ม Build Better Lives by CoST เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการ CoST ประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการที่อยู่ภายใต้ CoST ประเทศไทย ในพื้นที่ของตนเองได้
บทเรียนที่สำคัญจากการทำงานด้านการเปิดข้อมูล พบว่าการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะเพียงอย่างเดียว อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งนี้ จะต้องเพิ่มพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุยกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความร่วมมือที่มากขึ้น ต่อการขยายการพัฒนา และต่อยอดเครื่องมือให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่จะทำให้โครงการเกิดความยั่งยืน คือ การนำโครงการและแพลตฟอร์มเหล่านี้ เข้าไปอยู่ในกระบวนการทางด้านนโยบาย หรือถูกบังคับใช้ผ่านนโยบายต่อไป
สรุปประเด็นการนำเสนอของคุณ Shreya Basu, Deputy Director, Country Support, Open Government Partnership (OGP)
คุณ Shreya Basu ได้นำเสนอบทบาทของภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership : OGP) ว่าเป็นองค์กรที่สนับสนุนการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐให้มีการเปิดข้อมูล และร่วมกันบริหารจัดการงบอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบัน Open Government Partnership (OGP) ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความโปร่งใสด้านงบประมาณ การตรวจสอบติดตามงบประมาณ และการมีส่วนร่วมในกระบวนการการออกแบบนโยบายอย่างมีส่วนร่วมในหลายประเทศ
ภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership) หรือ OGP เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 โดยมีความเชื่อว่าประชาธิปไตยนั้นไม่ควรจบลงแค่การเลือกตั้ง แต่ต้องมีความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ รวมไปถึงการสร้างความโปร่งใสของรัฐบาล และการต่อต้านการคอร์รัปชันในระดับประเทศและนานาชาติ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกกว่า 70 ประเทศทั่วโลกในการจัดทำรัฐบาลเปิด (Open Government) ผ่านการผลักดันประเทศสมาชิกไปสู่การเป็นรัฐบาลที่โปร่งใสผ่านการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานพัฒนารัฐบาลเปิด โดยการดำเนินงานของ Open Government Partnership (OGP) ยึดหลักความพร้อมของแต่ละประเทศ และให้อิสระแก่ประเทศสมาชิกในการตัดสินใจเรื่องความเหมาะสมของแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเองได้
ปัจจุบัน Open Government Partnership (OGP) สนับสนุนการดำเนินงานโครงการไปเเล้วกว่า 5,200 โครงการ และได้สร้างผลลัพธ์ในประเทศสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศสมาชิก ทั้งด้านการจัดทำรัฐบาลเปิดผ่านกรอบกฎหมาย และกระบวนการนิติบัญญัติ อีกทั้งยังได้ขับเคลื่อนโครงการเกี่ยวกับการสร้างความโปร่งใส และการตรวจสอบติดตามงบประมาณของประเทศสมาชิกหลายประเทศด้วย เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสด้านงบประมาณครอบคลุม โครงการในมิติของการออกนโยบายอย่างมีส่วนร่วม โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และโครงการตรวจสอบงบประมาณของรัฐ เป็นต้น
โดยมีตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จในประเทศสมาชิกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้
- ประเทศอินโดนีเซีย : Open Government Partnership (OGP) ได้ขับเคลื่อนมาตรการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ Covid-19 โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณทางด้านการศึกษา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละหมู่บ้านในการตรวจสอบงบประมาณของหมู่บ้านตนเอง
- ประเทศมองโกเลีย : Open Government Partnership (OGP) ได้ขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการงบประมาณ ได้แก่ โครงการ Glass Account ที่รัฐบาลได้มีการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณรายรับ รายได้ และรายจ่ายของรัฐบาล งบประมาณโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และงบประมาณการลงทุนของรัฐบาล รวมถึงขับเคลื่อนให้รัฐบาลจัดทำสัญญาเปิด
- ประเทศฟิลิปปินส์ : Open Government Partnership (OGP) ได้ขับเคลื่อนเรื่องการตรวจสอบงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ในกระบวนการตรวจสอบงบประมาณของประเทศ เช่น การมีสัดส่วนของประชาชนในการมีส่วนร่วมตรวจสอบงบประมาณของรัฐบาลในคณะกรรมการตรวจสอบงบประมาณภาครัฐ ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบโครงการที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณทางด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม โครงการจัดซื้อจัดจ้าง หรืองบประมาณการจัดการขยะ เป็นต้น
สำหรับบทเรียนและความท้าทายในการขับเคลื่อนงานภายใต้บทบาทของ Open Government Partnership (OGP) มีดังนี้
- ควรส่งเสริมให้มีการสร้างความตระหนักรู้ และเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ ก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณ
- การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องใช้เวลาในการสร้างความไว้วางใจ และความร่วมมือ
- ความคิดริเริ่ม หรือโครงการหลายโครงการ ยังขาดการขยายผล และการนำไปใช้ในระดับรัฐบาล ซึ่งโครงการเหล่านี้ ควรคำนึงถึงการวางแผนการดำเนินงาน และการวางกลยุทธ์การดำเนินงานของโครงการให้สอดคล้องกับกระบวนการนโยบาย และวงจรงบประมาณภาครัฐด้วย (Budget cycle)
- การมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับองค์กรภาคประชาสังคมในการวางแผนการพัฒนาโครงการ และการสร้างการมีส่วนร่วมและเครือข่ายร่วมกัน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามในภาคประชาชนในระยะยาว
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย I ในสังคมที่มีความร่วมมือหรือความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูง รัฐจะสร้างประโยชน์จากข้อค้นพบนี้อย่างไร ?
มุมมองของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐ หนึ่งกลุ่มจ่ายภาษี อีกกลุ่มเข้ามาทำหน้าที่พัฒนาบริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์ แต่มีหลายครั้งที่โครงการไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น ศาลาสร้างทิ้งไว้ไม่มีคนใช้ จนบางครั้งประชาชนต้องลงแรงทำกันเอง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | หลังฉากความสำเร็จการพัฒนาโครงการ งบประมาณถึงมือชาวบ้านหรือมือใคร ?
ทราบหรือไม่ว่ายังมีอีกหลายโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการพัฒนาชุมชน แต่กลับสูญเปล่า หรือไม่คุ้มค่ากับที่ตั้งใจไว้ ทำให้ชาวบ้านที่ฝันไกลว่าอยากให้ชุมชนพัฒนาแค่ไหน แต่งบประมาณกลับไปไม่ถึง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ตัดจบปัญหาคอร์รัปชัน ผ่านการสร้าง Big Data
Big Data มีความสำคัญอย่างมากในการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะสามารถนำข้อมูลการใช้จ่ายของรัฐที่ถูกจัดเก็บไว้มาวิเคราะห์หาความเสี่ยงในการคอร์รัปชันได้ หากใช้งานข้อมูลให้เป็น จะช่วยอุดช่องโหว่ความเสี่ยงคอร์รัปชันได้