การฝึกงานเปรียบเสมือนใบเบิกทางแห่งความสำเร็จสำหรับนักศึกษาหลายๆ คน เพราะนักศึกษาจะได้ไปทดลองทำงานจริงในบริษัทที่ตัวเองใฝ่ฝัน หรือได้ทำงานในอาชีพที่ตัวเองสนใจ ซึ่งการฝึกงานในองค์กรนักศึกษาจะได้พบเจอกับการทำงานที่ท้าทายหลากหลายรูปแบบ เป็นบททดสอบความสามารถของนักศึกษาเพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฝึกความอดทนในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้เรียนรู้วิธีรับมือและจัดการกับปัญหาในการทำงาน และยังได้ฝึกแบ่งเวลาพร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานให้กับตนเอง ในขณะเดียวกันความท้าทายของการฝึกงานเพื่อการเพิ่มศักยภาพเหล่านั้น อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงด้วยเรื่องงานที่มากเกินไป การได้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย หรือการโดนเปรียบเทียบในที่ทำงานมากมาย ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้ในห้องเรียนอาจไม่เคยสอนวิธีรับมือหรือการแก้ปัญหาให้กับนักศึกษาเมื่อเข้าไปอยู่ในโลกของการทำงาน
ปัญหาที่พบระหว่างการฝึกงานในบริษัทของเด็กฝึกงานที่ต้องเผชิญอ้างอิงจากบทความเรื่อง Five Common Challenges Faced by Interns Introduction (2022) เขียนโดย Nehal Jain นักการศึกษาด้านสื่อมวลชนและการสื่อสารสำหรับนักเรียน ซึ่งผู้เขียนได้ทำการสำรวจนักเรียน / นักศึกษา จาก InternMart’s Career discovery for high schoolers ที่ได้ถูกส่งไปฝึกงานในองค์กรต่างๆ ได้รวบรวมและสรุปปัญหาที่ลดประสิทธิภาพและสร้างบาดแผลในการทำงานของเด็กฝึกงานไว้ 4 ประการ ดังนี้
1. มีงานมากเกินไป การได้เข้าไปฝึกงานที่บริษัทบางครั้งถือเป็นเรื่องราวดีๆ สำหรับเด็กฝึกงานบางส่วนที่จะได้เข้ามาทดลองและเรียนรู้งานในอาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝัน แต่อาจไม่ได้คำนึงว่าบางครั้งเราในฐานะเด็กฝึกงานอาจถูกเอาเปรียบจากบริษัทที่มอบหมายงานอย่างไม่ปรานี ซึ่งผู้เขียนก็เคยเจอเหตุการณ์เหล่านี้การให้งานที่ไม่สอดคล้องกับเวลาที่มอบหมาย หรือต้องการงานจำนวนเยอะหรือมีคุณภาพในเวลาที่จำกัด ซึ่งเราในฐานะเด็กฝึกงานยังไม่มีประสบการณ์ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ นำไปสู่การกดดันตนเองจนเกิดภาวะเครียด เมื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้วอาจมีความเชื่อมโยงกับหลายๆ ปัจจัย เช่น การบริหารทรัพยากรบุคคล การรับเด็กฝึกงานอาจเป็นการลดค่าใช้จ่ายขององค์กรในการจ้างพนักงานที่จะต้องจ่ายทั้งเงินเดือนและสวัสดิการ ซึ่งงานเหล่านั้นมีจำนวนมากและงานถูกสั่งจนล้นมือทุกวัน ส่งผลกระทบต่อเวลาส่วนตัวจนทำให้ไม่มีช่วงเวลาพักผ่อนสิ่งนี้เป็นปัญหาที่เด็กฝึกงานกำลังเผชิญหน้าทั้งงานที่มีมากเกินไป พ่วงมากับปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เกิดจากความเครียด ความกดดัน การวิตกกังวลจากงานที่หนักเกินไปโดยที่บริษัทอาจไม่ได้คำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นหรือละเลยปัญหาตรงนี้ไป
2. งานที่ทำไม่เคยได้รับคำชม หากกล่าวถึงเรื่องการได้รับคำชมผู้เขียนอยากเล่าเรื่องราวของข้อดีที่ได้รับจากคำชม จากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน ผู้เขียนรู้สึกยินดีและมีกำลังใจในการทำงานทุกครั้งเมื่อได้รับคำพูดดีๆ มากมายจากการทำงานเพราะงานแต่ละชิ้นแน่นอนว่าต้องทุ่มเทมากๆ กว่าจะทำเสร็จ คำชมเหล่านี้เปรียบเสมือนยาวิเศษ สามารถทำให้งานที่คิดว่ายากเช่น งานเขียนสารคดีครั้งแรกในชีวิตของผู้เขียน ต้องไปลงพื้นที่สัมภาษณ์บุคคล เรื่องราวสินค้า ความเป็นมามากมาย แต่เมื่อเขียนงานเสร็จก็รู้สึกยังไม่โล่งใจเพราะเราต้องรอผลการตรวจงานกลับมาก่อน สิ่งนี้คือเรื่องที่กังวลมากที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะเราลงทุนลงแรงและตั้งใจทำงานชิ้นนี้มากๆ และเมื่อผลตอบรับออกมาดีถึงแม้จะเป็นคำชมที่เล็กน้อย ก็ถือเป็นกำลังใจที่อยากจะให้ผู้เขียนสร้างสรรค์และพัฒนางานต่อในอนาคต ความวิเศษของคำชมนี้สามารถอธิบายได้ด้วย งานวิจัย Growth Mindset (2014) โดย Carol Dweck ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จาก Stanford University ผู้ศึกษาเรื่องชุดความคิดที่ช่วยให้คนเติบโต พบว่าเด็กที่ได้รับคำชมด้วยคำว่า “เก่งมาก” “ฉลาดมาก” “ยอดเยี่ยมมาก” เพียงเพื่อให้ผ่านไป โดยไม่ได้รับความจริงใจจากผู้ใหญ่เลย มีแนวโน้มที่จะพึงพอใจกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ และไม่ขวนขวายที่จะพัฒนาตัวเอง ขณะที่เด็กที่ได้รับคำชมจากความสำเร็จของเขาจริงๆ เช่น “ครูเชื่อว่าความพยายามของเธอจะไม่ล้มเหลว” กลับมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัวเองไปได้ไกลมากกว่า
3. วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่คุ้นเคย ใครๆ ก็คงไม่อยากออกจากพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Zone ของตัวเองทั้งนั้นแต่จะทำได้อย่างไร เพราะเราจะต้องออกไปทำงานไปเจอกับสังคมที่ไม่คุ้นเคย หรือคนที่ไม่รู้จัก ผู้เขียนก็เช่นกันตอนเรียนในมหาวิทยาลัยเราเจอแต่กลุ่มเพื่อนไม่ได้ไปทำความรู้จักใครมากมายเลือกที่จะอยู่กับคนที่สบายใจ แต่เมื่อผู้เขียนได้มาลองทำงานแล้วทุกอย่างถูกเปลี่ยนใหม่หมดเพราะเราจะต้องคอยสังเกตและปรับตัวตลอดเวลา ทั้งเรื่องของสังคมการทำงาน เพื่อนร่วมงาน เป็นเหมือนอุปสรรคบางอย่างที่เด็กฝึกงานทุกคนต้องเคยเจอ สำหรับผู้เขียนได้เจอสังคมการทำงานที่หลากหลายสังคมและหลายอาชีพ เรื่องที่ต้องระวังคงจะต้องเป็นการวางตัวให้เหมาะสม ถ้าหากเราไม่ยอมลดความเป็นตัวเองและลองเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นการทำงานจะต้องลำบากอย่างแน่นอน เพราะการที่เด็กฝึกงานต้องไปอยู่ในสังคมที่ไม่คุ้นเคย จะต้องมีความกังวล กดดัน ทั้งในเรื่องการกระทำ และคำพูด ที่อาจสร้างความอึดอัดและผลกระทบทั้งในองค์กรและเพื่อนร่วมงาน การทำงานของเด็กฝึกงานที่จะช่วยลดความอึดอัดตรงนี้ได้ผู้เขียนอยากแนะนำวิธีการลองเริ่มที่จะก้าวออกจากโลกของตัวเองแล้วลองเปิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ผู้เขียนเชื่อว่าจะทำให้เด็กฝึกงานทุกคนจะได้พบกับประสบการณ์ดีๆ แน่นอน
4. การโดนเปรียบเทียบในที่ทำงาน การทำงานในบริษัทที่ทุกคนจะต้องเผชิญคือ การแข่งขัน ทั้งตัวเรา และเพื่อนร่วมงานต่างพยายามสร้างผลงานของตนเองให้ออกมาดีที่สุด ซึ่งจะทำให้คุณพยายามทำงานหนักขึ้นเพื่อที่จะสร้างผลงานให้ดีพอที่จะสามารถเป็นที่พึงพอใจในที่ทำงาน ทำให้เด็กฝึกงานเริ่มกดดันตนเองเพราะต้องการให้งานออกมาตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เลย ซึ่งอาจจะด้วยปัจจัยสังคมอาวุโสของไทยที่ผู้น้อยต้องยอมรับเชื่อฟังผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่บางท่านที่ปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็น เราอาจจะเริ่มที่ทำอย่างไรให้คนเชื่อมใจกันได้มากขึ้น ยอมรับความเห็นกันมากขึ้นโดยไม่กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ ทุกคนมีประโยชน์ขององค์กรเป็นเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน เป็นต้น
จากการรวบรวม 4 ปัญหาที่เด็กฝึกงานต้องเจอจากการโดนเอาเปรียบในการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดจากบริษัทหรือสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งผู้เขียนได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและอยากที่จะแนะนำแนวทางในการแก้ปัญหา โดยใช้หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) แนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยธรรมาภิบาลประกอบไปด้วยหลายหลัก แต่จากการพิจารณาแล้วผู้เขียนเล็งเห็นหลักการมีส่วนร่วม (Participatory) น่าจะเป็นหลักที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาปรับใช้ทั้ง 4 ปัญหาที่กล่าวมาเพราะเป็นการเปิดให้ทุกคนได้มามีส่วนร่วมในการทำงาน การแสดงออกทางความคิดหรือการเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนในองค์กร
ยกตัวอย่างองค์กรที่เปิดโอกาสให้เด็กฝึกงานได้มีส่วนร่วมในการทำงาน คือ Michelmores เป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสัญชาติอังกฤษ โดย Ben Luxton เป็นทนายความในทีมธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเมืองเอ็กซีเตอร์ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในเด็กฝึกงานได้ร่วมเปิดเผยเรื่องราวในการทำงานโดยองค์กรนี้ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมแบ่งปันความรู้ และข้อมูลในการทำงานร่วมกัน เด็กฝึกงานทุกคนจะมีพื้นที่ในการร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งองค์กรจะรับฟังและสนับสนุนทุกความคิดเห็นเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กร โดยไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด องค์กร Michelmores จะให้ความสำคัญกับทุกๆ คนในองค์กรให้เท่าเทียมกัน ซึ่งลดปัญหาที่จะทำให้เด็กฝึกงานเกิดความกังวล กลัว หรือไม่กล้าที่จะแสดงจุดยืนทางความคิดเห็น รวมถึงลดการเอาเปรียบเด็กฝึกงานในองค์กรด้วยการเปิดรับความคิดเห็นทุกๆ คน
ท้ายที่สุดผู้เขียนอาจนำเสนอแค่ปัญหาบางส่วนที่คิดว่าอยากจะให้ผู้อ่าน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในแต่ละหน่วยงาน/องค์กร เพื่อให้การฝึกงานถือเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่สำคัญของนักศึกษา ผ่านการมีส่วนร่วมในการทำงาน ได้แสดงความคิดเห็น และแสดงศักยภาพของการทำงานที่แท้จริงออกมาให้มากที่สุด
จิรภัทร์ ผุดผ่อง
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล
ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”