คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : เสียงที่ดังก้อง แต่ไร้การตอบรับ : ช่องว่างของเด็กและเยาวชนในกระบวนการนโยบาย

การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายถือเป็นสิ่งสำคัญเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ส่งผลต่ออนาคตของพวกเขาเอง แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่ามีช่องว่างและข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง บทความนี้จึงสำรวจช่องว่างในระบบโครงสร้างของเด็กและเยาวชนที่ภาครัฐอาจใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำ โดยเสนอแนวทางการปฏิรูปที่มุ่งเน้นการเพิ่มความโปร่งใส เท่าเทียม และการมีส่วนร่วมที่แท้จริงให้กับเด็กและเยาวชนในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน นั่นคือพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ระบุโครงสร้างอำนาจต่างๆ สำหรับการจัดตั้งเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือสภาเด็กและเยาวชน (สดย.) ที่มีโครงสร้างครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ มีการคัดเลือก“ผู้บริหาร” กันเองจากสมาชิกทุกปี โดยผู้ถูกเลือกจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานโยบายและแก้ไขปัญหาตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้สามารถใช้ทรัพยากรที่ภาครัฐจัดสรร โดยมีสโลแกนที่มักถูกนำเสนอโดยภาครัฐว่า“เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”

จากสถานการณ์ต่างๆ กลับพบว่าเด็กและเยาวชนบางกลุ่มยังคงเลือกแสดงออกผ่านการประท้วงและชุมนุมโดยที่ไม่ได้ใช้ช่องทาง สดย. แม้โครงสร้างนี้จะมีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศและประชาชนทุกคนล้วนเป็นสมาชิกตามกฎหมายโดยกำเนิดตั้งแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกจนถึงอายุ 25 ปี ซึ่งก็อาจมีสาเหตุที่ไม่ใช้ช่องทางนี้จากหลายปัจจัย เช่น ไม่รับรู้ถึงการมีอยู่, ภาพจำที่เห็นสมาชิกภายในพยายามให้คุณค่าและปวารณาตนเองเป็นกลไกที่เป็นทางการประหนึ่งเครื่องมือของรัฐที่แสนดี, ขั้นตอนพิธีทางราชการต่างๆ ที่อาจไม่ทันสมัยสอดคล้องกับการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงวัฒนธรรมการดำเนินการที่ไม่ส่งเสริมให้สมาชิกมีพื้นที่กล้าคิด กล้านอกคอก กล้านอกกะลา ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถแสดงออกหรือมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ หลายคนจึงเลือกใช้ช่องทางอื่นที่ส่งเสียงของพวกเขาได้ดังกว่า แต่การส่งเสียงดังต่อเนื่องของเยาวชนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าเสียงของพวกเขาไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่อิสระหรือมีโครงสร้างรองรับก็อาจถูกปฏิบัติอย่างไร้ความหมายหากขาดการรับฟัง

มีคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ต้องการมีส่วนร่วมในโครงสร้าง สดย. แต่น่าเสียดายที่ช่องทางการเข้าถึงกลับอยู่ในวงจำกัด มีกระบวนการอันยุ่งยากซับซ้อน ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการคัดเลือกกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมนั้นส่งผลอย่างยิ่งต่อการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาดำเนินงานในวาระ 2 ปีถัดไป แต่หน่วยงานรัฐมักเลือกใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การติดประกาศรับสมัครคัดเลือกตำแหน่งผู้บริหาร ขนาด A4 ที่บอร์ดสำนักงานเพียงช่องทางเดียว หรืออาจมีการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ราชการที่เด็กและเยาวชนไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายในการใช้งาน ร่วมกับส่งหนังสือเชิญผู้แทนจากสถานศึกษาในพื้นที่มาร่วมคัดเลือก ซึ่งบ่อยครั้งสถานศึกษาอาจส่งผู้แทนเข้าร่วมโดยขาดการรับรู้จากผู้เรียนส่วนใหญ่ในสถานศึกษา เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้นำไปสู่การคัดเลือกที่เป็นประชาธิปไตยเฉพาะกลุ่มคนเท่านั้น การพัฒนากระบวนการคัดเลือกที่เปิดกว้างและเข้าถึงง่ายในพื้นที่ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ สถานศึกษา และพื้นที่อื่นๆ จะมีผลดีในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในระยะยาว จะช่วยสร้างโอกาสให้พวกเขาสามารถส่งเสียงมีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตนได้

อีกหนึ่งสถานการณ์ที่สะท้อนปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมตัดสินใจของเด็กและเยาวชน คือเรื่องประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีผู้แทนเด็กและเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชน (สดย.) เพียงกลุ่มเดียวที่สามารถเข้าไปสะท้อนปัญหาเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขในระดับชาติ โดยมีผู้แทนเด็กและเยาวชนเพียง 3 คน จากกรรมการจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 30 คน ที่เป็นผู้ใหญ่ในการร่วมตัดสินใจ แต่กระนั้นผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ในระดับที่สามารถตัดสินใจได้กลับไม่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง แต่มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาลำดับถัดลงมาเข้าร่วมแทน ส่งผลให้ไม่สามารถตัดสินใจในภาพรวมของกระทรวงได้ ข้อมูลจากการประชุมย้อนหลัง 16 ครั้ง ในช่วง ครั้งที่ 1/2559 – 1/2564 พบว่าไม่มีข้าราชการระดับปลัดจากกระทรวงใดเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง ยกเว้นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีหน้าที่โดยตรงในการสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ในคณะอนุกรรมการภายใต้ กดยช. ทั้ง 12 ชุด พบว่ามีเพียง 5 ชุด หรือไม่ถึงกึ่งหนึ่งที่มีผู้แทนเด็กและเยาวชนเข้าไปร่วมพิจารณาอยู่ด้วย

ในส่วนของการมีส่วนร่วมของผู้เรียนที่เป็นเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา พบว่ายังขาดการส่งเสริมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย แม้หลายโรงเรียนจะมีการตั้งคณะกรรมการนักเรียนขึ้นมาเพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของนักเรียน แต่หน้าที่กลับจำกัดอยู่ในกรอบงานเล็กๆ เช่น การช่วยงานกิจกรรมทั่วไป การช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมตามคำสั่งของครู ไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อผู้เรียนโดยตรง เช่น การพิจารณากฎระเบียบของโรงเรียน การกำหนดจัดกิจกรรม หรือการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโรงเรียน สะท้อนภาพของการเป็นไม้ประดับที่ขาดอำนาจบทบาทตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ ในสถานศึกษา

ส่วนกลไกอำนาจที่มีอยู่ในการตัดสินใจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับสภาการศึกษาที่มีหน้าที่พิจารณาเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติ หรือแม้แต่คณะกรรมสถานศึกษาซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้เรียน พบว่ามีการให้อำนาจบุคคลจากหลายสัดส่วน เช่น ผู้อำนวยการ ครู ผู้ปกครองศิษย์เก่า ไปจนถึงพระภิกษุและผู้แทนองค์กรศาสนา แต่กลับไร้เงาของผู้เรียนตัวจริง ส่งผลให้นโยบายขาดมุมมองที่ตรงตามความต้องการ

แม้ว่ามีการจัดตั้งให้มีโครงสร้างเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีข้อจำกัดต่างๆ ทำให้พวกเขาขาดอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง หน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ควรจะให้การสนับสนุนในการมีส่วนร่วม กลับเป็นผู้ควบคุมบังเหียนกำหนดทิศทางในการตัดสินใจผ่านการสร้างความชอบธรรมด้วยกลไกราชการที่เป็นทางการมีระบบรับรองการประชุมให้ดูเป็นมติร่วมกัน แต่ไส้ในนั้นกลับขาดการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริงในบางพื้นที่ เช่น

– การประชุมที่ถูกแทรกแซง : การประชุมเพื่อผ่านการตัดสินใจที่เป็นทางการในแต่ละครั้งมักถูกแทรกแซงจากผู้ใหญ่ที่มานั่งหัวโต๊ะแทนคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงขั้นที่ร่วมตัดสินใจหรือลงมติต่างๆ เอง ซึ่งผิดวิสัยผู้นำประชุมที่ต้องวางตนเป็นกลางในวงพูดคุยที่ควรเป็นการตัดสินใจของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ทำให้พวกเขากลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ใหญ่ในหน่วยงานรัฐมีภาพไว้ปรับเลื่อนตำแหน่ง

– การตัดสินใจที่ไม่มีการตรวจสอบ : ไม่มีการตรวจสอบสมาชิกภาพหรือเอกสารมอบอำนาจมาประชุมแทนของผู้มาร่วมประชุม มีการแอบอ้างเป็นสมาชิกเพื่อเข้าร่วมประชุม อภิปราย ลงคะแนนคัดเลือกและลงสมัครรับคัดเลือก ทำให้การนับองค์ประชุม การใช้สิทธิ์ออกความเห็นการคัดเลือก และการลงมติต่างๆ ผิดพลาดทั้งการประชุม

– กระบวนการคัดเลือกที่ไม่โปร่งใส : กระบวนการคัดเลือกผู้แทนของคนรุ่นใหม่ไม่ถูกระบุในกำหนดการหรือระเบียบวาระการประชุมล่วงหน้า ไม่มีการแจ้งให้ผู้เข้าร่วมเตรียมข้อเสนอมาเพื่อหารือถึงวิธีคัดเลือกร่วมกัน มีการนำผู้ลงสมัครบางคนออก และนำผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนมารับคัดเลือกแทน ไม่มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอวิธีในการคัดเลือกอื่น ทำให้สมาชิกไม่ได้คัดเลือกผู้แทนกันเอง

– การปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง : เจ้าหน้าที่รัฐได้ขอมติจากที่ประชุมในการงดประท้วงขณะประชุม ทั้งกระตุ้นผู้เข้าร่วมประชุมให้ยกมือสนับสนุนในทิศทางที่ต้องการ ด้วยการยกมือประกอบพร้อมตะโกนว่า “ยกมือขึ้นหน่อยครับ” หรือ “ยกมือสูงๆ ค่ะ!” เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงมติและนับคะแนน โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องการได้รับมติสนับสนุน สะท้อนถึงการประชุมที่จำกัดโอกาสในการแสดงออกที่หลากหลายและเปิดรับความคิดเห็น

– การปิดบังข้อมูล : เอกสารทางราชการต่างๆ เป็นเอกสารที่ประชาชนควรตรวจสอบและเข้าถึงได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ปิดบังหรือไม่อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงให้กับสมาชิก สดย. ที่มาเข้าร่วมประชุมและบุคคลทั่วไป ทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลในดำเนินงานต่อ ติดตาม หรือตรวจสอบการทำงานใดๆ ได้

หน่วยงานรัฐมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อขออนุมัติโครงการ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การขาดพื้นที่ทางความคิดให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมออกแบบในกระบวนการพัฒนาต่างๆ ก่อนที่จะร่างแผนงบประมาณ ทำให้ข้อเสนอและความคิดเห็นของพวกเขาหายไปตั้งแต่ต้นทาง หน่วยงานรัฐมักเลือกใช้ไอเดียจากโครงการเก่าๆ นำกลับมาจัดใหม่ทุกปี โดยมีโครงการยอดฮิต เช่น โครงการต่อต้านทุจริต โครงการต้านภัยยาเสพติด โครงการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ ที่อาจมีรูปแบบการจัดไม่สอดคล้องกับความสนใจของเด็กและเยาวชน ส่งผลให้การสนับสนุนของรัฐกลายเป็นเรื่องซ้ำซากไร้ความหมาย

ด้วยเหตุนี้ รัฐควรมีนโยบายในการสนับสนุนการมีส่วนร่วม เพิ่มสัดส่วนผู้แทนเด็กและเยาวชนในขั้นตอนการพิจารณา มีกระบวนการเปิดรับความคิดเห็น เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมตัดสินใจในการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาได้อย่างอิสระจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณให้ตรงกับความต้องการและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อชีวิตของพวกเขาในระยะยาว เด็กและเยาวชนจะไม่เป็นเพียงอนาคตของชาติตามคำกล่าวที่หวานหู แต่จะเป็นผู้ใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนในสังคมปัจจุบันอย่างมีความหมาย ทั้งนี้ การรับรู้ว่าพวกเขาเป็นพลเมืองที่มีความสามารถและมีความเห็นที่มีคุณค่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเด็กและเยาวชนไม่ใช่ผู้รับบริการที่ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง แต่พวกเขาคือกลุ่มคนที่มีความสามารถในการแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งรอบตัว ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ พวกเขาจึงควรมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายและกระบวนการที่ส่งผลต่อชีวิตของตนเองได้อย่างแท้จริง

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

ดุษฎี ถิรธนกุล

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

KRAC The Experience | EP 8: Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption

“การทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยเสริมสร้างการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ?” เรามีคำตอบมาให้จากแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระดับโลก🌏 ร่วมไขข้อสงสัยได้ที่ KRAC The Experience ตอน Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption