ลงมือสู้โกง : บริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารแบบธรรมาภิบาล

“รู้แล้วแก้อะไรได้บ้าง ใครๆ เขาก็รู้กันทั้งนั้น” “ก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็กินกันทั่วประเทศจะให้ทำยังไง” “โลกมันก็สีเทาแบบนี้แหละแค่อยู่ให้เป็น” ผู้อ่านเคยพบเจอหรือได้ยินประโยคเหล่านี้กันบ้างไหม ผู้เขียนมักจะเจอประโยคเหล่านี้ตามโพสต์ในเฟซบุ๊คที่รายงานเกี่ยวกับความล้มเหลวในการใช้งบประมาณก่อสร้างของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ตึก อาคาร และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สร้างมาแล้วไม่ได้ใช้งานถูกปล่อยทิ้งร้างหรือสร้างแล้วก็ไม่เสร็จสักที

ในช่วงนี้เพจที่ขับเคลื่อนด้านสังคม เช่น เพจชมรม Strong ต้านทุจริตประเทศไทย เพจต้องแฉ เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ฯลฯ ได้นำเสนอข้อมูลอาคารก่อสร้างที่ถูกทิ้งร้างในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เช่น อาคารศูนย์ OTOP ในหลายจังหวัด สนามกีฬา ตึกอาคารเรียนในมหาวิทยาลัย ถูกสร้างด้วยงบประมาณมากกว่าหลักสิบล้านบาท จึงเกิดคำถามขึ้นในใจของผู้เขียนว่า แล้วงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ใช้ในการก่อสร้าง เงินที่มาจากภาษีของประชาชนได้ถูกดำเนินการใช้ไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างที่มันควรจะเป็นหรือไม่

อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่สามารถสรุปได้ว่าสิ่งก่อสร้างถูกทิ้งร้างเหล่านี้จะเกิดจากการทุจริตในกระบวนการงบประมาณหรือไม่ แต่เมื่อดูจากรายงานในปี 2564 ของสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า ความเสียหายของงบประมาณจากข้อร้องเรียน มีมูลค่ารวมถึง 26,883,583,750 บาท ซึ่งเป็นความเสียหายของคดีทุจริตประเภทจัดซื้อจัดจ้างสูงถึง 8,773,668,079 บาท และประเภททุจริตในการจัดทำงบประมาณ/โครงการ/เบิกจ่ายเงินในโครงการเป็นเท็จ 5,837,687,275 บาท งบประมาณจำนวนมหาศาลเหล่านี้สูญสิ้นไปอย่างเปล่าประโยชน์ ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ในการดำเนินการก่อสร้าง การจัดทำโครงการมีไว้เพื่อแก้ไขปัญหา ตอบสนองความต้องการของประชาชน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า แต่กลับกลายเป็นช่องทางของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้อง ซึ่งมันได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบการเมืองการปกครอง ความศรัทธาและความเคารพจากภาคประชาชน จนท้ายที่สุดการกระทำเช่นนี้กลายเป็นเรื่องที่ ใครๆ ก็รู้กันทั้งนั้น แต่รู้แล้วจะทำอะไรได้…

ถ้าได้อ่านมาถึงตรงจุดนี้ผู้เขียนจะขอตอบคำถามประโยคที่ว่ารู้แล้วเราจะแก้ปัญหา หรือป้องกันได้อย่างไร? โดยจะขอยกวิธีการแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของการบริหารงบประมาณของภาครัฐ และบริหารแบบมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

ในส่วนของภาครัฐผู้เขียนจะขอยกข้อสรุปจากการบรรยายเชิงวิชาการงบประมาณภาครัฐ โดย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2563) ได้ระบุถึงวิธีการแก้ไขปัญหาการบริหารงบประมาณของภาครัฐไว้ว่า ภาครัฐจำเป็นต้องประมาณรายได้ให้ถูกต้อง โดยตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นวิทยาศาสตร์ โดยผู้รับผิดชอบไม่ถูกกดดันและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน (Conflict of interest) และภาครัฐจำเป็นต้องจัดทำแผนงบประมาณด้วยความรอบคอบ มีเป้าหมายชัดเจน มีการวิเคราะห์ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารต้องเข้าไปร่วมจัดทำแผนงบประมาณ ประมาณค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องประเมินความพร้อมของโครงการ หน่วยงานให้ความเห็นชอบต้องรับผิดชอบอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ภาครัฐจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการจัดทำแผนงบประมาณ และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของภาคประชาชน มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องปลูกฝังค่านิยมการไม่เพิกเฉยต่อการทุจริต สนับสนุนให้สังคมตื่นตัวต่อการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และมีความกระตือรือร้นในการติดตามการเปิดเผยข้อมูล เพื่อคอยสังเกตว่ามีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไหร่ มีความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดหรือไม่ รวมถึงสอดส่องขั้นตอนในกระบวนการงบประมาณ เพื่อลดความเสี่ยงในการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ทว่าการมีความตื่นรู้และลงมือปฏิบัติอาจจะยังไม่เพียงพอ การมีเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์และตรวจสอบเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การบริหารแบบมีส่วนร่วมนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผู้เขียนจะขอเสนอเครื่องมือที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสของภาคส่วนต่างๆ และประชาชนให้มีบทบาท ในการร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้มากขึ้น ได้แก่ ACT Ai เครื่องมือสู้โกงของภาคประชาชน เครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลโครงการที่อาจเกิดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และเครื่องมือ Build Better Lives by CoST เครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบโครงการก่อสร้างของภาครัฐในพื้นที่ 20กิโลเมตรรอบตัวว่ามีอะไรบ้าง ใช้งบก่อสร้างเท่าไหร่ คุ้มค่ากับสภาพหน้างานหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือ Corruption Watch จับตาไม่ให้ใครโกง และเครือข่ายสื่อภาคประชาชน เช่น เพจชมรม Strong ต้านทุจริตประเทศไทย เพจต้องแฉ เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ที่เป็นพื้นที่สำหรับรับแจ้งข้อมูลเมื่อเจอความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างหรือพฤติกรรมที่ส่อการเกิดทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ

จากวิธีการข้างต้น การนำแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาลมาปรับใช้จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ภาครัฐสามารถบริหารงบประมาณได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยภาครัฐจะต้องมีความรอบคอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการงบประมาณและความรับผิดชอบ(Accountability) ต่อการตัดสินใจในการใช้งบประมาณ รวมถึงจะต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้างความโปร่งใส (Transparency) ในการทำงานของภาครัฐ และสร้างการมีส่วนร่วม (Participation) จากภาคประชาชน ในส่วนของภาคประชาชนจะต้องตื่นรู้ในการป้องกันและตรวจสอบงบประมาณรายจ่าย นโยบาย และโครงการของรัฐ เพื่อช่วยกันปกป้องภาษีของตนเองและผลประโยชน์ของประเทศชาติ นอกจากจะเป็นพลเมืองตื่นรู้แล้วการลงมือปฏิบัติด้วยการมีเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ก็จะสามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการติดตาม ตรวจสอบ และลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทุจริตได้เช่นกัน ดังนั้นการบริหารแบบมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนก็จะสามารถส่งผลให้การบริหารงบประมาณของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเช่นกัน เพื่ออนาคตข้างหน้าจะไม่มีคำตอบว่า “รู้แล้วทำอะไรได้ใครเขาก็รู้กันทั้งนั้น” แต่จะเปลี่ยนเป็น “รู้แล้วว่าต้องทำยังไง และเราจะร่วมด้วยช่วยกัน”

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

รักษ์ป่า อู่สุวรรณ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

ลงมือสู้โกง : บริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารแบบธรรมาภิบาล

รู้หรือไม่ ปี 64 เราสูญเสียงบจากการคอร์รัปชันกว่า 2 หมื่นล้านบาท !! งบประมาณเหล่านี้ แทนที่จะได้นำไปสร้างโครงการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับต้องไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง
.

You might also like...

บทความวิจัย : มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ

แนวทางการดำเนินคดีสำหรับผู้ทุจริตการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนากฎหมายการทุจริตการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ

บทความวิจัย : ทางออกการป้องกันและการปราบปรามทุจริตในสังคมไทย

แนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งภาคประชาชนในการติดตามและตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ

บทความวิจัย : แนวทางพัฒนาจริยธรรมนักการเมืองไทย

การประเมินจริยธรรมของนักการเมืองโดยภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการพัฒนาจริยธรรม มาตรการกำหนดคุณสมบัติด้านจริยธรรม และมาตรการกำหนดบทลงโทษในกรณีทำความผิด เพื่อยกระดับจริยธรรมในนักการเมืองให้สูงขึ้น