ร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ สู่การสร้างข้อมูลเพื่อแก้ไขคอร์รัปชันข้ามชาติ
จากครั้งที่แล้วที่เราได้เล่าถึงความสำคัญของการเปิดข้อมูล (Open data) เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงนิยามต่าง ๆ ของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองหรือ Politically Exposed Persons (PEPs) จนไปถึง การจัดการข้อมูลให้เป็นมาตรฐาน (Data Standard)
ในส่วนสุดท้ายนี้เราจะมาเล่าถึงแนวทางที่ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ความร่วมมือระหว่างองค์กรในการกำหนดมาตรฐานข้อมูล และเพื่อนำมาใช้กับ PEPs ให้เกิดประสิทธิภาพ
โดย Khairil Yusof จาก Sinar Project จะมาเล่าถึง
ความร่วมมือและการดำเนินการตาม PEPs
ประโยชน์ของ Data standard
ตัวอย่างการใช้เครื่องมือหรือชุดข้อมูล PEPs สำหรับสื่อมวลชน
ซึ่งทั้ง 3 หัวข้อนี้จะทำให้คุณรู้จักกับมาตรฐานข้อมูล PEPs มากขึ้น
ตัวอย่างของความร่วมมือสร้าง Data เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันให้เห็นผล
หนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันเข้มแข็ง คือความร่วมมือระหว่างองค์กรผ่านการสร้างชุดข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Data standard)
โดยคุณ Khairill Yosof ได้ยกตัวอย่างจากความร่วมมือระหว่าง Sinar Project และ Centre to Combat Corruption and Cronyism (C4 Centre) ที่ร่วมกันค้นคว้าข้อมูล PEPs โดยใช้มาตรฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเก็บข้อมูลซ้ำ และช่วยให้สื่อมวลชนที่ติดตามการเลือกตั้งหรือกระบวนการจัดทำงบประมาณ สามารถช่วยอัปเดตข้อมูลได้ผ่านการรายงานข่าว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาในเมียนมา ที่คุณ Khairil Yusof ได้ร่วมมือกับ 10 องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูลของสมาชิกรัฐสภาและนักการเมืองในเมียนมาให้เป็นระบบที่สามารถเข้าถึงและนำไปใช้งานได้ง่ายขึ้น
แม้การทำงานร่วมกันจะมีอุปสรรคจากความแตกต่างทางภาษา แต่การใช้มาตรฐานข้อมูลเดียวกัน ช่วยให้ทุกคนสามารถรับรู้ประเภทของข้อมูลผ่านการจัดรูปแบบตารางที่เหมือนกันได้ ทำให้การรวบรวมและนำข้อมูลไปใช้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่เหลือ คือ ความซับซ้อนของภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศที่ยังมีความแตกต่างต่างจากภาษากลางของประเทศนั้น ๆ
Data Standard สร้างความร่วมมือสู่การใช้ PEPs อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน หลายประเทศยังเจอกับอุปสรรคในการกำหนดมาตรฐานข้อมูลที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ เพราะข้อมูลที่มีอยู่กระจัดกระจายและแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ถ้าสามารถกำหนดมาตรฐานข้อมูลที่เป็นสากล เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลร่วมกันได้ ก็จะช่วยลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน และทำให้การตรวจสอบข้อมูลทำได้รวดเร็วขึ้นมาก
ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม WeVis ในไทยและ Sinar Project ในมาเลเซีย มีเป้าหมายร่วมกันในการติดตามการทำงานของรัฐสภาและตรวจสอบ PEPs เมื่อทั้งสองแพลตฟอร์มใช้มาตรฐานเดียวกัน ทำให้ Sinar สามารถนำเข้าข้อมูลของ WeVis มาใช้ในระบบของตนได้โดยไม่ต้องปรับโครงสร้างข้อมูลใหม่ ช่วยลดภาระงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูล
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครือข่ายข้อมูล (Network Graphs) เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง PEPs และองค์กรต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน กรณีศึกษาเช่น Sinar Project ได้นำฐานข้อมูลของ Wevis ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันไปประมวลผลและสร้างเครือข่ายข้อมูลในระบบของตัวเองได้โดยไม่ต้องพัฒนาโครงสร้างใหม่ ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการตรวจสอบ
ในระดับนานาชาติ มาตรฐานข้อมูลยังช่วยให้สามารถเปรียบเทียบและเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ Khairil ยกตัวอย่างว่า แม้เขาไม่รู้จักชื่อภาษาอังกฤษของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองไทย แต่เขาสามารถใช้ฐานข้อมูลของมาเลเซียเป็นข้อมูลอ้างอิง และนำไปเปรียบเทียบกับ ฐานข้อมูลของ ICIJ (International Consortium of Investigative Journalists) เพื่อระบุความเชื่อมโยงของบุคคลนั้นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรฐานเดียวกันช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลข้ามพรมแดนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มาตรฐานข้อมูลระดับสากลไม่ใช่แค่ช่วยให้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่ยังช่วยให้องค์กรภาคประชาสังคม นักข่าวสืบสวน และหน่วยงานที่ทำงานด้านความโปร่งใสสามารถตรวจสอบและวิเคราะห์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้น
การใช้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงช่วยลดอุปสรรคด้านภาษาและโครงสร้างข้อมูล ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการต่อต้านคอร์รัปชัน
สื่อจะใช้เครื่องมือ PEPs อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ?
ตัวอย่างเครื่องมือและนวัตกรรมที่ทางคุณ Khairil ใช้ เช่น ฐานข้อมูลของ WeVis มีรูปถ่ายของนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งประมาณ 1,400 รูป แต่ละรูปถูกแท็กด้วยชื่อและรายละเอียด ซึ่งสามารถนำมาฝึกกับระบบจดจำใบหน้าได้ หากมีการเชื่อมโยงข้อมูลชื่อและภาพเข้าด้วยกัน ระบบจะสามารถจดจำและระบุตัวตนของนักการเมืองได้อย่างแม่นยำ
แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการแบ่งปันฐานข้อมูลและเครื่องมือต่าง ๆ ระหว่างองค์กรทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ การมีคำจำกัดความหรือคำนิยามของ PEPs ที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานยังช่วยให้ผู้สืบสวนสามารถระบุเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น และทำให้กระบวนการสืบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดย Khairil ได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติม จากการทำงานร่วมกับ C4 ในการยกระดับการพัฒนานิยามของ PEPs สร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการฝึกอบรมนักข่าวสืบสวนและภาคประชาสังคมในประเทศติมอร์-เลสเต โดยยกกรณีศึกษาการบริหารที่ผิดพลาดและการคอร์รัปชันของรัฐวิสาหกิจด้านการจัดการขยะ ที่ใช้กรอบแนวคิด PEPs เพื่อสร้าง “PEPs Map” เพื่อระบุตัวบุคคลสำคัญที่ต้องสืบสวน แผนที่นี้อาจรวมถึง คู่ค้าทางธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในคณะกรรมการ หรือแม้แต่บุคคลที่มีความเชื่อมโยงทางอ้อม เช่น คนขับรถหรือคู่สมรส ซึ่งอ้างอิงจากเกณฑ์ของ PEPs ที่ใช้ในมาเลเซีย
ในกรณีที่ข้อมูลเกี่ยวกับ PEPs ไม่สามารถเข้าถึงได้จากแหล่งทางการ นักข่าวสามารถใช้แหล่งข้อมูลทางเลือก เช่น คนขับรถ คู่สมรส หรือผู้ใกล้ชิด ซึ่งอาจให้ข้อมูลสำคัญได้ วิธีการกำหนดนิยาม PEPs และเทคนิคการสืบสวนเหล่านี้ช่วยให้นักข่าวสืบสวนสามารถขยายขอบเขตการตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ และลดโอกาสที่จะพลาดข้อมูลสำคัญไป
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ส่องการตรวจสอบทรัพย์สินเจ้าหน้าที่รัฐ : บทเรียนจาก 3 ชาติ
ความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน KRAC จึงอยากชวนมาดูกลไกการตรวจสอบทรัพย์สินของสหรัฐฯ จอร์เจีย และฮ่องกง พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางการปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ตัดจบปัญหาคอร์รัปชัน ผ่านการสร้าง Big Data
Big Data มีความสำคัญอย่างมากในการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะสามารถนำข้อมูลการใช้จ่ายของรัฐที่ถูกจัดเก็บไว้มาวิเคราะห์หาความเสี่ยงในการคอร์รัปชันได้ หากใช้งานข้อมูลให้เป็น จะช่วยอุดช่องโหว่ความเสี่ยงคอร์รัปชันได้
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | How to โปร่งใส : แก้ปัญหาทุจริตเชิงนโยบายสไตล์ญี่ปุ่น
“ทำลายจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง” KRAC ชวนดูวิธีการปฏิรูประบบการบริหารราชการและการกำหนดนโยบาย รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายกรณีทุจริตเชิงนโยบายของประเทศญี่ปุ่น