KRAC Insight | สรุปงานเสวนา เทรนด์วิชาการต่อต้านคอร์รัปชัน 2024 มีอะไรน่าสนใจบ้าง ?

ในโลกที่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การคอร์รัปชันก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน เราจึงต้องการงานวิจัยและการค้นคว้า เพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ ในการต่อต้านและป้องกันไม่ให้การคอร์รัปชันเกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของงานประชุมระดับชาติ เพื่อการส่งเสริมศักยภาพและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคครั้งที่ 2 

งานประชุมระดับชาติ เพื่อการส่งเสริมศักยภาพและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคครั้งที่ 2 หัวข้อย่อยที่ 1 เรื่อง “Unveiling the Dynamics: Anti-Corruption Trends and Intriguing Research in 2024” ที่จัดขึ้นในวันที่ 5 มกราคม 2567 KRAC Corruption ได้สรุปประเด็นจากวิทยากรทั้ง 3 ท่านในงานมาฝาก เพื่ออัปเดตเทรนด์วิชาการต่อต้านคอร์รัปชัน 2024  
 
วิทยากรท่านแรก ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในประเด็น “8 ข้อค้นพบจากงานวิจัยต่อต้านคอร์รัปชันตลอด 20 ปีที่ผ่านมา”
 
  1. แยกคำว่าทุจริตคอร์รัปชันออกจากกัน : งานวิจัยเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันส่วนใหญ่มักใช้คำว่า “ทุจริตคอร์รัปชัน” ซึ่งจริง ๆ แล้วสองคำนี้มีความหมายต่างกัน คำว่า “ทุจริต” คือ Dishonesty ซึ่งหมายถึงคนไม่ดีหรือคนโกง แต่คำว่า “คอร์รัปชัน” คือการพูดถึงระบบที่กำลังมีปัญหา งานวิจัยในอนาคตของประเทศไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้น
  2. หลักสูตรพัฒนาจริยธรรมที่พอดี : การมีหลักสูตรและการอบรมที่เกี่ยวกับจริยธรรมมากเกินไปอาจกลายเป็นภาระและความเหนื่อยล้าของข้าราชการส่งผลให้เกิดการไม่อยากทำ (Reactance bias) หลักสูตรจริยธรรมจึงต้องมีประสิทธิภาพ รู้ว่าควรเลือกหลักสูตรไหน จำนวนเท่าไรจึงจะมีความเหมาะสมกับการพัฒนาคน
  3. สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างแนวคิดการร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน : การศึกษาวิจัยพบว่าเกิน 95 % ของนิทานเกี่ยวกับการต้านโกงมักจบลงด้วยคำสอนของผู้ใหญ่ สะท้อนภาพสังคมไทยที่เป็นระบบอุปถัมภ์แต่ไม่ใช่การร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา แนวทางเรื่องการร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นกรอบแนวคิดของงานวิจัยสมัยใหม่ ว่าเราจะสอนเด็กหรือประชาชนอย่างไรให้เกิดการร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
  4. งานวิจัยอาจจะต้องเน้นไปที่วิธีการแก้ปัญหาให้มากขึ้น : ปัจจุบันพบว่าสังคมไทยมีงานวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติต่อการคอร์รัปชันว่าไม่ดีมากพอแล้ว งานวิจัยหลังจากนี้อาจจะต้องเป็นเรื่องของการสร้างทักษะในการต่อต้านคอร์รัปชันในโลกความเป็นจริงมากกว่า เช่น เราจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างไร เราจะแจ้งเบาะแสอย่างไร รวมทั้งกระบวนการต้องง่ายต่อประชาชน เช่น User research, UX/UI, กระบวนการจัดการความกลัวของคนที่ต้องการจะแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน
  5. งานวิจัยต่อต้านคอร์รัปชันควรเพิ่มงานวิจัยพื้นฐานในการอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชันให้ทันสถานการณ์ : เราจะเห็นว่าในต่างประเทศมีการศึกษาคอร์รัปชันเรื่องใหม่ ๆ เช่น State capture / Rent seeking / Conflict of interests ในขณะที่งานวิจัยในอดีตที่ผ่านมาของไทยมีการศึกษานิยามเกี่ยวกับคอร์รัปชันแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดีแต่เราอาจจะต้องมีงานวิจัยพื้นฐานที่อัปเดตนิยามหรือสถานการณ์เพื่อให้เท่าทันต่อการคอร์รัปชันที่พัฒนาอย่างรวดเร็วไปพร้อมกับระบบทุนนิยม
  6. กระบวนการให้ทุนวิจัยขาดการเชื่อมโยงให้เห็นผลลัพธ์ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน : กระบวนการให้ทุนในปัจจุบันยังมองเรื่องสังคมคุณธรรม (Moral Society) ธรรมาภิบาล (Good Governance) และการต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption) แยกส่วนกัน ทำให้ผู้วิจัยที่รับทุน และสังคมมองไม่เห็นถึงความเชื่อมโยง เช่น มีส่วนร่วมแล้วได้อะไร โปร่งใสเพื่ออะไร หากลองมองโดยใช้กรอบ CIPP Model จะเห็นว่า โครงสร้างการเมืองส่งผลให้เกิดสังคมคุณธรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล และนำไปสู่ระดับการคอร์รัปชันที่ลดลง
  7. งานวิจัยมีพลวัตแต่ยังขาดการศึกษาที่ต่อเนื่อง : จากการศึกษางานวิจัยการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยพบว่ามีพลวัตพอสมควร ซึ่งในแต่ละช่วงปีจะมีการเปลี่ยนความสนใจในการศึกษาไปเรื่อย ๆ เช่น ในปี 2550-2554 งานวิจัยเน้นไปที่การศึกษาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ในช่วงปี 2555-2559 งานวิจัยจะเน้นไปที่เรื่องความโปร่งใส ส่วนในช่วงปี 2560-2563 งานวิจัยจะเน้นไปที่เรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งการปรับตัวเร็วก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ควรมีรากฐานการศึกษาที่ต่อเนื่องในการทำความเข้าใจคอร์รัปชันในเรื่องนั้น ๆ การให้ทุนสนับสนุนจึงอาจทำให้เกิดการกระจายงบ และทำให้งานวิจัยมีความหลากหลายและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
  8. Impact pathway ของงานวิจัยต่อต้านคอร์รัปชันควรมีวิธีการใหม่ ๆ เกิดขึ้น : หากเราไปดูกระบวนการกำหนดนโยบายจะพบว่าส่วนใหญ่จะอยู่เพียงกระบวนการระบุปัญหา (Problem Identification) และข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Formulation) แต่ยังขาดการประยุกต์ใช้นโยบายในปัจจุบัน (Policy Adoption) การระบุผลลัพธ์ของนโยบาย (Policy Implementation) และการประเมินนโยบาย (Policy Evaluation) เราจึงต้องการงานวิจัยที่เป็นการทดลอง, การทำ RCTs, หรือ การทดลองในสนาม (Field Experiments) เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นได้จริง
 
วิทยากรท่านที่สอง Professor Matthew C. Stephenson, Professor of Law at Harvard Law School บรรยายในประเด็น “3 ไฮไลต์ น่าสนใจจากเทรนด์วิชาการ ในช่วง 15-20 ที่ผ่านมา”
  1. ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยระดับจุลภาคมากขึ้น (Shift from macro to micro) : (1) มีการศึกษาวิจัยเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศมากขึ้น และการพยายามตั้งคำถามโดยภาพรวม เช่น การทุจริตมีความสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่ ? หรือ การทุจริตมีความสัมพันธ์กับประชาธิปไตยหรือไม่ (2) การศึกษาวิจัยเน้นประเด็นที่เป็นจุลภาคมากขึ้น เช่น งบประมาณของรัฐที่จัดสรรให้กับโรงเรียนในระดับท้องถิ่น ระดับหมู่บ้าน เพื่อศึกษาลงลึกในบริบทที่แตกต่างออกไปของสังคม หรือการให้ชาวบ้านร่วมหารือเพื่อพิจารณางบประมาณท้องถิ่นเพื่อทำให้เกิดความคุ้มค่าและลดการทุจริต
  2. ความท้าทายในการจัดการวัดผลระดับการทุจริต (Addressing Measurement Challenges) : (1) การศึกษาวิจัยงานวิจัยเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน มีการศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative Measure) และเชิงประจักษ์ (Empirical) มากขึ้น เพื่อให้เห็นภาพของการต่อต้านคอร์รัปชันที่ชัดเจน (2) นิติเศรษฐศาสตร์ (Forensic economic) ถูกนำมาใช้ช่วยให้เกิดการวัดระดับที่ดีขึ้น เช่น การคำนวณต้นทุนการขนส่งผ่านท่าเรือที่แอฟริกาใต้ เปรียบกับท่าเรืออื่น ๆ โดยพบว่าบริษัทส่วนใหญ่จะเลือกท่าเรือที่มีความโปร่งใสมากกว่า (3) การคำนวณที่แม่นยำจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้นในแต่ละสังคม โดยมีเทคนิคที่ได้จากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับคอร์รัปชันเป็นพื้นฐาน
  3. การอนุมานเชิงสาเหตุผ่านการออกแบบการวิจัย (Causal Inference through Research Design) (1) หลายปีที่ผ่านมาการศึกษาด้านคอร์รัปชันพยายามค้นคว้าสาเหตุปัจจัยของความสัมพันธ์ระหว่างคอร์รัปชันกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เสรีภาพทางการเมือง (2) การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทุจริตและรายได้ต่อหัวของประชากรพบว่า ประเทศที่ร่ำรวยมีแนวโน้มการคอร์รัปชันต่ำกว่าประเทศที่ยากจน ซึ่งนำมาสู่แนวคิดต่าง ๆ เช่น ความร่ำรวยของประเทศอาจทำให้การต่อสู้กับคอร์รัปชันง่ายขึ้น หรือธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอาจช่วยในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็อาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ (3) การสร้างภาพความเชื่อมโยงจะทำให้ประเด็นต่าง ๆ มีผลกระทบและผลลัพธ์ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้เราเห็นการต่อต้านคอร์รัปชันที่ชัดเจน เชื่อมโยง และสามารถใช้เพื่อศึกษาการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อรู้ว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาอย่างไร จึงนำไปสู่การสร้างความรู้และความร่วมมือในการดำเนินนโยบายซึ่งมี 4 ประเด็นที่ควรมีการสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่
 
  • ควรมีการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและกำลังจะเข้ามาเกี่ยวข้องในการต่อต้านคอร์รัปชัน
  • ควรมีทรัพยากรซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้นักวิจัยเข้าถึงและดาวน์โหลดข้อมูลที่จำเป็นในการศึกษาวิจัยเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันได้
  • ควรมีกองทุนที่จะช่วยให้เกิดการทำงานและการสร้างความเชื่อมโยงที่จะช่วยให้การต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้น และมีการลงทุนในระยะยาวในการสนับสนุนทุนต่อต้านคอร์รัปชันในอนาคต
  • ควรมีความร่วมมือในการทำงานเป็นทีมจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงในแต่ละภาคส่วนและช่วยให้การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิทยากรท่านสุดท้าย คุณสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บรรยายในประเด็น “บทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการขับเคลื่อนด้านการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม 2567”
 
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ปี พ.ศ. 2566-2570 โดยมีส่วนในการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการพัฒนากำลังคนและสถาบันทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยแผนงานของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติในปี 2567 จะมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาโดยมุ่งเน้นในเรื่องการมีส่วนร่วม การทำงานเชิงบูรณาการของหน่วยงานที่ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในองค์กร และสังคม
 
 
เชื่อว่าหลายคนคงจะได้คำตอบจากการสรุปของงานเสวนาในครั้งนี้ว่าการค้นคว้าวิจัยในงานวิชาการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันจะต้องมีทิศทางต่อไปอย่างไรในปี 2024 เพื่อสามารถต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และนำไปใช้ในการต่อต้านคอร์รัปชันในโอกาสต่อไป
 
สำหรับผู้ที่สนใจรับชมเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถคลิกรับชม LIVE ได้ด้านล่าง
ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
12 มกราคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

ใช้เทคโน for say no to Corruption

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์เป็นอย่างมากในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถช่วยลดต้นทุนในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ช่วยเพิ่มโอกาสของประชาชนในการรายงานการทุจริต …

แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้การร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันในไทยไม่ได้ผล

ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านกลยุทธ์ ด้านโครงสร้าง ด้านแรงจูงใจ ด้านกลไกระหว่างองค์กร และด้านบุคคล …

แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…

You might also like...

บทความวิจัย : การทุจริตเชิงโครงสร้างในระบบเลือกตั้ง

การพิจารณาปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งในการเลือกตั้งแต่ละระบบ และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อเป็นข้อมูลและฐานในการถกเถียงเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ปฏิวัติไม่ใช่ทางออก : การแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนในสังคมไทย

“ถ้ารัฐบาลนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นโกง ก็ปฏิวัติเสียดีกว่า เอาคนดีมาจัดการนักการเมืองโกง” วาทกรรมที่คุ้นหูนี้สะท้อนความคิดที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย กลับไม่เคยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน ตรงกันข้าม ปัญหากลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่าการใช้อำนาจเผด็จการเด็ดขาดไม่ใช่คำตอบ แต่กลับเป็นการให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริงผ่านระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่างหาก

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : #JUSTICE_FOR_SEUNGHAN ส่องวิกฤติบริษัทที่ว่าด้วยศรัทธาสาธารณะ และภาพมายาความเป็นเจ้าของชีวิต ‘ไอดอล’ ของแฟนคลับ

ปรากฏการณ์สำคัญที่กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การที่บริษัทค่ายเพลงขนาดใหญ่อย่าง SM Entertainment ได้ออกแถลงการณ์ว่า ‘ฮง ซึงฮัน’ (Hong Seunghan) หนึ่งในสมาชิกของวง ‘RIIZE’ (ไรซ์) ซึ่งถูกพักงานและระงับการเข้าร่วมกิจกรรมของวงเป็นการชั่วคราวเมื่อปีที่ผ่านมา