ลงมือสู้โกง : ‘แรงงาน’ไม่ใช่‘สินค้า’ในระบบเศรษฐกิจ

เราทุกคนคงจะคุ้นชินกับคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ไม่ว่าคำตอบจะเป็นครู หมอ ทหาร หรือตำรวจ ทุกคนต่างใฝ่ฝันถึงอาชีพที่มั่นคง มีอนาคตที่ดี และได้รับค่าตอบแทนที่สูง แต่อย่างไรก็ดีอาชีพเหล่านี้สะท้อนถึงอาชีพที่ต้องใช้ทักษะ ความรู้ในวิชาชีพ ความสามารถเฉพาะด้าน รวมถึงการใช้แรงงาน และแรงกาย

แต่เมื่อไรก็ตามเมื่อกล่าวถึง “แรงงาน” โดยตรง หลายๆ จะนึกถึงภาพผู้ใช้แรงงาน คนงาน ลูกจ้าง แม่บ้าน แรงงานก่อสร้าง รวมไปถึงแรงงานต่างด้าว ซึ่งการนิยามตามความหมายเหล่านี้มักจะสะท้อนออกมาจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและกำลังแรงงาน หรือนายจ้างและลูกจ้าง ในทางเศรษฐกิจนั่นเอง

ในทางเศรษฐกิจจะต้องประกอบไปด้วยกระบวนการผลิต ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์กระบวนการผลิตจะต้องอาศัยปัจจัยการผลิต 4 ประเภท อันได้แก่ ที่ดิน (Land) ทุน (Capital) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และแรงงาน (Labour) ซึ่งแรงงานนับว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่มีส่วนสำคัญที่มาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น แรงกาย สติปัญญา เพื่อก่อให้เกิดผลในทางเศรษฐกิจในรูปของกำไร ค่าจ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและกำลังแรงงาน

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น “แรงงาน” จึงมีสภาพไม่ต่างจากการเป็น “สินค้า” ในลักษณะของการเอารัดเอาเปรียบ การถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะจากกลุ่มทุน หรือนายจ้าง โดยใช้วิธีการขูดรีดด้วยค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน สภาพการทำงาน การไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลา รวมถึงความมั่นคงในการทำงาน

บทความนี้จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจ และทำความเข้าใจปัญหา “แรงงาน” ผ่านแนวคิดเชิงวิพากษ์แบบมาร์กซิสม์ (Marxism) โดยเป็นมุมมองที่มุ่งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมกับพลังทางเศรษฐกิจ ซึ่งการผลิตแบบนายทุนจะมีลักษณะกดขี่ผู้ใช้แรงงานในกระบวนการผลิตสินค้า โดยเฉพาะในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบกรรมสิทธิ์ที่นายทุนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ส่วนแรงงานเป็นผู้สร้างมูลค่าของสินค้าและบริการ โดยมีนายทุนเป็นผู้ขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value Exploitation) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของแรงงานซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าที่แรงงานได้รับจากค่าแรง นอกจากนี้ นายทุนยังต้องอาศัยโครงสร้างส่วนบน (super structure) อันได้แก่ กฎหมาย ค่านิยม กลไกรัฐ ระบอบการเมือง เพื่อให้ระบบนายทุนสามารถดำเนินการสะสมทุนต่อไปได้ในสังคม

“แรงงาน” บนเส้นทาง “สายพานการผลิต”

ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยมักจะขับเคลื่อนผ่าน “กลไกของรัฐ” (State Apparatus) ในการปลูกฝัง ครอบงำทางสังคม ผ่านวาทกรรม “นโยบายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ” (Economic Stability Policy) ซึ่งนโยบายเหล่านี้มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทั้งระดับราคาภายในรวมถึงการรักษาดุลการค้ากับต่างประเทศในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ รวมถึงการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้ “กลไกเชิงนโยบายเพื่อกดค่าแรงขั้นต่ำ” เป็นที่มาของวาทกรรมที่ว่า “แรงงานเป็นผู้เสียสละ” ในขณะที่มูลค่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจตกอยู่กับรัฐและกลุ่มนายทุน (กมเลศ โพธิกนิษฐ, พัชรินทร์ สิรสุนทร และวัชรพล พุทธรักษา. 2560) โดยภายใต้วาทกรรมเหล่านี้กลุ่มทุนไทยสามารถที่จะเติบโตและแสวงหากำไรส่วนเกินได้ด้วยการใช้แรงงานราคาถูก รักษาอัตราค่าจ้างให้คงที่เพื่อสามารถแสวงหากำไรในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงขอพาผู้อ่านทุกท่านย้อนเวลากลับไปในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการประกาศเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจาก 159-221 บาท/วัน เป็น 222-300 บาท/วัน จนกระทั่งในปี 2556 ก็ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งใน 70 จังหวัด ทำให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน อยู่ที่ 300 บาท/วัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300-310 บาท/วัน และปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในปี 2561 เป็น 308-330 บาท/วัน แต่อย่างไรก็ดีในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ประกาศนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท/วัน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายดังกล่าว

แม้ว่าค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยจะมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่สูงกว่าค่าแรงในกลุ่มประเทศ CLMV อันประกอบไปด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม แต่อย่างไรก็ดีค่าแรงขั้นต่ำของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังเพิ่มขึ้นช้ากว่ากลุ่มประเทศ CLMV นับตั้งแต่ปี 2556 ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี ต่างจากกลุ่มประเทศ CLMV ที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3-16 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน (สุจิต ชัยวิชญชาติ, ก้องภพ วงศ์แก้ว, ลูกหิน วราโชติเศรษฐ์. 2561)

อำนาจต่อรองที่ลดลง ชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในปี พ.ศ. 2564 มีการจ้างงานจำนวนทั้งสิ้น 37.9 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 6.3 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 7.3 แสนคน และลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวน 8.7 แสนคน เป็นการลดลงของผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนซึ่งลดลงถึงร้อยละ 21.7 ขณะที่แรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งมีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 49.3 มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสอง ปี 2563 โดยตัวเลขอัตราการว่างงานเหล่านี้เป็นกลไกทางเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐและนายทุนร่วมกันใช้เพื่อบั่นทอนอำนาจต่อรองของแรงงาน (กมเลศ โพธิกนิษฐ, พัชรินทร์ สิรสุนทร และวัชรพล พุทธรักษา. 2560) ทั้งจำนวนตัวเลขผู้ว่างงานที่ยังอยู่ในระบบจำนวนมาก รวมถึงแรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นการช่วยลดทอนอำนาจต่อรองของแรงงานและเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการควบคุมแรงงานได้มาตลอดหลายสิบปี

นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติด้านภาพรวมของชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนของปี 2564 ได้มีการระบุว่าอยู่ที่ 44.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นจาก 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ ในปี 2563 สะท้อนนัยการมีอำนาจของนายจ้างที่มีต่อแรงงานในการควบคุมชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างที่มีการปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำ ดังนั้นแล้วภายใต้แนวนโยบายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Stability Policy) การลดต้นทุนการผลิตและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังกล่าว รัฐจึงมักเลือกใส่ใจในผลประโยชน์ของกลุ่มทุนมากกว่าผู้ใช้แรงงานผ่านการลดอำนาจการต่อรองของแรงงานลดลง (ปกป้อง จันวิทย์, 2547: 85-90) ส่งผลให้การขูดรีดเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อย่างเป็นระบบภายใต้วาทกรรม “แรงงานเป็นผู้เสียสละ” ของรัฐไทยที่ไม่สอดคล้องกับหลักมนุษยนิยมและเปิดโอกาสให้ระบบทุนนิยมได้ดำเนินการสะสมทุนอย่างต่อเนื่อง

ทบทวนการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิแรงงาน

จากสภาพปัญหาของแรงงานในระดับประเทศและแรงงานทั่วโลกตามที่กล่าวมา ทำให้องค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรเอกชน ร่วมกันออกแบบเครื่องมือในการป้องกันผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากธุรกิจ ตลอดจนกำหนดให้มีการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายต่อสิทธิของประชาชน ด้วยข้อเสนอที่เรียกว่าหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ National Action Plan on Business and Human Rights (แผน NAP) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และได้นำเอาหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) มาปรับใช้เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความเติบโตอย่างยั่งยืน มีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (Environmental, Social and Governance: ESG) รวมถึงการลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

พร้อมกันนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) และกลไกเยียวยา เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทจะไม่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ผ่านการรายงานในแบบ 56-1 One Report โดยเริ่มบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2565 นี้

เครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับธรรมาภิบาลให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยการปรับหลักการสากลมาใช้ให้สอดคล้องกับหน่วยงานภายในประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่นอกจากจะยกระดับประเด็นด้านธรรมาภิบาลในประเด็นแล้ว ภาคเอกชนยังได้หันมาทบทวนการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิแรงงาน เช่น ไม่มีสัญญาจ้าง การจ้างงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายแรงงาน รวมถึงการขัดขวางจัดตั้งสหภาพแรงงาน อีกด้วย

นอกจากเครื่องมือการทบทวนการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยยกระดับด้านธรรมาภิบาลในภาคเอกชนแล้วนั้น ในปัจจุบันยังมีเครื่องมือที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ Handcheck เป็นเครื่องมือที่ใช้การประเมินสุขภาพขององค์กร ตรวจสอบการทำงานภายในองค์กร จัดทำโดย HAND Social Enterprise ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมด้านธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ

จากสภาพปัญหาและความสนใจดังกล่าวทำให้ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งแม้แต่ประเทศไทยยังมีการรับเอาแนวคิดเหล่านี้เข้ามาปรับใช้กับการดำเนินงานในประเทศเพื่อให้ทันสมัยและเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่าประเด็นธรรมาภิบาลแม้ว่าจะมีการพูดคุยเรื่องเหล่านี้มาอย่างยาวนาน แต่จนถึงปัจจุบันประเด็นเหล่านี้ยังไม่เคยหายไปจากสังคมและไม่ได้เก่าไปสำหรับการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ และนับวันการตระหนักถึงการเป็นองค์กรหรือบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี จะช่วยส่งเสริมให้ไปสู่สังคมที่ดีและอนาคตที่ดีได้

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

เบญจมาส เป็งเรือน

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

บทความวิจัย : กลไกป้องปรามการทุจริตของภาคประชาชนผ่านการสอดส่องและเสนอแนะ

การดำเนินกลไกป้องปรามการทุจริตผ่านคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ผู้บริหารในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินโครงการจะทำให้เกิดความโปร่งใสและความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ

บทความวิจัย : การเสริมสร้างเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาญจนบุรี

แนวทางการพัฒนาเครือข่ายการต่อต้านทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสื่อสารระหว่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน การสร้างตัวอย่างที่ดี การสร้างสังคมหิริโอตัปปะ และการสนับสนุนระบบการร้องเรียน ความโปร่งใส การป้องกันการทุจริต รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้บริหาร

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ส่งเสริมธรรมาภิบาลให้กว้างไกลด้วยการสร้างรางวัลให้องค์กร

พาทุกคนมาศึกษาจุดเริ่มต้นของธรรมาภิบาลในประเทศไทยช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจไทย 2540 ที่นำมาสู่การมอบรางวัลเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลไทย ซึ่งจะทำให้เห็นถึงพัฒนาการและภาพรวมของธรรมาภิบาลในประเทศไทยมากขึ้น และการมีธรรมาภิบาลจะช่วยลดคอร์รัปชันได้อย่างไร ?