แล้วที่ผ่านมาเราต่อต้านคอร์รัปชันกันยังไง

“คอร์รัปชัน” และ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” ได้ถูกศึกษาและอธิบายถึงลักษณะและความหมายในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านประเด็นและมุมมองที่มีต่อปัญหาผ่านแนวคิดที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหลักคิดแบบรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งการศึกษาถึงปัจจัยและเงื่อนไขที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของการคอร์รัปชันผ่านมุมมองเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่วิธีการออกแบบและแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ที่หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการคอร์รัปชัน แนวทางพื้นฐานของหลักคิดทาง รัฐศาสตร์ ได้เข้ามามีบทบาทในการมองคอร์รัปชันที่มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจ และทำให้แนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชันมุ่งไปที่การต่อสู้ปะทะกับภาครัฐด้วยการเพิ่มอำนาจให้ภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคง (Consolidated Democracy) ในการต่อสู้กับคอร์รัปชันโดยมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องคำอธิบายในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มุ่งเน้นการการใช้ทฤษฎีมาอธิบายสภาพเหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของการกดขี่ทางชนชั้นระหว่างจ้าหน้าที่ภาครัฐกับประชาชน และพยายามอธิบายว่าการคอร์รัปชันมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร

ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่หลายประเทศไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งที่มีความเป็นประชาธิปไตย สังคมโลกจึงเริ่มให้ความสนใจว่าสาเหตุอะไรที่ส่งผลให้การคอร์รัปชันดำรงอยู่ และได้หันเหความสนใจไปที่ “หลักนิติธรรม” (Rule of Law) กล่าวคือ การปกครองที่ดีนั้น ต้องให้กฎหมายอยู่สูงสุด (Supremacy of Law) และทุกคนในสังคมต้องมีสถานะที่เสมอภาค และเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย แม้แต่ตัวผู้ปกครองหรือรัฐเอง หากเมื่อใดที่มีกลุ่มที่ได้รับสิทธิหรือเสรีภาพมากกว่ากลุ่มอื่น จะกลายเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนได้ และการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในยุคนี้ จึงอ้างอิงกับองค์ความรู้ในสาขา นิติศาสตร์ ที่มุ่งเน้นไปที่การออกแบบและการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก รวมถึงการสร้างกลไกที่เปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดการใช้หลักนิติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในการอธิบายถึงรูปแบบการออกแบบกฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษ และการบังคับใช้กฎหมายที่เพิ่มโอกาสที่จะถูกจับได้ รวมถึงใช้การคำนวณหาความสัมพันธ์ระหว่างคอร์รัปชันกับปัจจัยประกอบต่าง ๆ และการวัดผลคอร์รัปชันเป็นตัวเลขผ่านเครื่องมือทางเศรษฐมิติ เพื่อนำไปสู่มูลค่าคาดหวังของการคอร์รัปชันที่ลดลงในสังคม

จนมาถึงในช่วงปลายทศวรรษ 2000 สังคมโลกเริ่มให้ความสำคัญกับ “วัฒนธรรมการเคารพกฎหมาย” (Culture of lawfulness) ที่เชื่อว่า หลักนิติธรรมจะไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากคนในสังคมไม่เคารพกฎหมาย และไม่เชื่อว่ากฎหมายจะทำให้สังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่สามารถไปสู่จุดที่ดีขึ้นในอนาคต รวมถึงการไม่มีความเชื่อใจ (Distrust) ในกฎหมายที่ไม่สามารถจะประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับคนทุกกลุ่มได้ ทำให้แนวคิดทาง สังคมวิทยา เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมของสังคมย่อย ๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเคารพกฎหมายที่หลากหลายในบริบทของแต่ละสังคม รวมถึงการนำแนวคิดของ เศรษฐศาสตร์สถาบัน ที่มองว่าการมีสถาบันที่ประสิทธิภาพจะช่วยทำให้พลเมืองมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับรัฐมากขึ้น จนนำไปสู่การมีวัฒนธรรมการเคารพกฎหมายที่ดี และแนวคิดของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่อาศัยกลไกการออกแบบกลไกทางสังคม (Social Mechanism Design) ที่จะกระตุ้นพฤติกรรมความซื่อสัตย์ หรือการคำนึงถึงผู้อื่นของคนในสังคม เพื่อให้การต่อต้านคอร์รัปชันของคนในสังคมเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่า การศึกษาสถานการณ์คอร์รัปชันในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกันทั้งในด้านประเด็นปัญหา มุมมองที่มีต่อปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งการศึกษาปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีต่อความสำเร็จ หรือเป็นอุปสรรคต่อการต่อต้านคอร์รัปชันในบริบทที่แตกต่างกันออกไปนั้น จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่นำไปสู่วิธีการศึกษาที่มุ่งแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผลมากขึ้นต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
มีนาคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้การร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันในไทยไม่ได้ผล

ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านกลยุทธ์ ด้านโครงสร้าง ด้านแรงจูงใจ ด้านกลไกระหว่างองค์กร และด้านบุคคล …

แล้วที่ผ่านมาเราต่อต้านคอร์รัปชันกันยังไง

“คอร์รัปชัน” และ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” ได้ถูกศึกษาและอธิบายถึงลักษณะและความหมายในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านประเด็นและมุมมองที่มีต่อปัญหาผ่านแนวคิดที่หลากหลาย …

ออกแบบเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันให้เท่าทันการโกง

ในการพัฒนาและออกแบบเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส และหลักความรับผิดชอบ …

You might also like...

บทความวิจัย : นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันและการให้สินบน

การศึกษาสาเหตุของปัญหาคอร์รัปชันและการให้สินบน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ การปรับทัศนคติของสังคม และโครงสร้างทางอำนาจของรัฐ

บทความวิจัย : การแก้ปัญหาคอรัปชันในยุคดิจิทัลตามแนวพุทธจริยธรรม

หิริโอตตัปปะ ฆราวาสธรรม และทิศ 6 หลักธรรมที่ควรนำมาประยุกต์เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาคอรัปชันในยุคดิจิทัล เพราะการแก้ปัญหาอาจต้องย้อนกลับไปแก้ไขที่รากเหง้า คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ

บทความวิจัย : กบฏโพกผ้าเหลือง กับเสถียรภาพทางการเมืองในวรรณกรรมสามก๊ก

“กบฎโพกผ้าเหลือง” สะท้อนให้เห็นว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนำมาสู่การล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ดังนั้น เพื่อเสถียรภาพทางการเมือง รัฐจะต้องมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอรัปชัน ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนให้อยู่ดีกินดี