KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ไม่ใช่ภาครัฐ ก็ต้านคอร์รัปชันได้ !

รู้จักองค์กรต้านคอร์รัปชันที่ไม่ใช่ภาครัฐ 

หากพูดถึงองค์กรที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย ชื่อที่หลายคนนึกถึงอาจจะเป็น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่มาจากภาครัฐ ด้วยมุมมองที่ว่า การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ไม่ใช่เรื่องของประชาชน  

แต่จริงๆ แล้ว “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันไม่จำเป็นต้องมาจากภาครัฐอย่างเดียว” ในประเทศไทยยังมีหลายองค์กรที่มาจากทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน จากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย (2558)” ได้ศึกษาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่ไม่ใช่ภาครัฐ (NGOs) ซึ่งหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญและยังคงขับเคลื่อนงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอยู่ในปัจจุบัน คือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT 

หลายคนคงได้ยินชื่อเครื่องมือตรวจสอบโครงการรัฐอย่าง “ACT Ai” เพจตรวจสอบทุจริตอย่าง “หมาเฝ้าบ้าน” หรือถ้าใครสนใจเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ “ข้อตกลงคุณธรรม” ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานของ ACT องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของภาคเอกชน โดยมีรัฐและสถาบันการศึกษาร่วมด้วย ทั้งหมด 54 องค์กร ในปี 2554 ทำให้ปัจจุบัน ACT ก่อตั้งมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งบทบาทหลักคือการ “ป้องกันและตรวจสอบ” และนอกจากผลงานที่กล่าวไป ACT มีผลงานอื่น ๆ เช่น  ACT NOW ร่วมกอบกู้อนาคต, กิจกรรม เดิน-วิ่ง-ปั่น ต้านโกง, เปิดประเด็นเรื่องการปฏิรูปสื่อ

รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน ACT Ai ซึ่งรวบรวมข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เป็นข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงยาก ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสอดส่อง ติดตาม ตรวจสอบความเสี่ยงของการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นได้โดยสะดวก และนำไปสู่การสร้างรากฐานที่เข้มแข็งในการต่อต้านคอร์รัปชันที่เริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

จะเห็นได้ว่าองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่ไม่ใช่ภาครัฐ (NGOs) ได้ขับเคลื่อนงานต่อต้านคอร์รัปชันไว้มากมายให้กับสังคมและแสดงให้เราได้เห็นว่า หน้าที่ในการต่อต้านคอร์รัปชันไม่ได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะภาครัฐเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม องค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ (NGOs) เหล่านี้ ต่างต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกัน คือ ข้อจํากัดด้านทรัพยากร ทั้งในเชิงเงินทุน บุคลากร และสิ่งของ นอกจากนี้ ยังมีข้อจํากัดในด้านขอบเขตการดําเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น และข้อจำกัดด้านการขาดการติดตาม และการประเมินประสิทธิภาพในการดําเนินงานของกลุ่มเอง

ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมบทบาทของกลุ่มองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ  (NGOs) ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเหล่านี้จากภาคส่วนอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาครัฐอาจมีกลไกสนับสนุนด้านการเงินแก่กลุ่มองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ รวมถึงพิจารณาให้ความน่าเชื่อถือ (credit) แก่กลุ่ม NGOs เหล่านี้ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ส่วนองค์กรที่มีหน้าที่ในการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นทางการ เช่น สํานักงาน ป.ป.ช. และสํานักงาน สตง. ก็ควรมีการทำงานร่วมกับกลุ่ม NGOs เพื่อผลักดันให้การตรวจสอบกรณีทุจริตทำได้เร็วขึ้น รวมถึงองค์กรที่เป็นแหล่งข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นคอร์รัปชัน อย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ก็สามารถร่วมมือกับกลุ่ม NGOs ในการให้ข้อมูล และส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อนําข้อมูลจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการเคลื่อนไหวและจัดกิจกรรมของกลุ่มองค์กรเหล่านี้ในอนาคต

หากสนใจสามารถอ่านเพิ่มได้จากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย” โดย บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนิสากร เลิศพัชรานนท์ (2558

#ACT #NGO #TI #ต่อต้านทุจริต #โกง #Anticorruption #KRAC #KRAC Corruption 

——————

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

เปลี่ยน Trainees เป็น Rookies ตัวท็อปของวงการ : ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 เพื่อปูพื้นฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 ที่จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน ผ่านแนวคิดทางวิชาการ และเรียนรู้แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน

คัดสรรงานวิจัยไทยต่อต้านคอร์รัปชัน ที่คุณอาจไม่รู้ (จัก) มาก่อน : ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทย 24 ชิ้น เพื่อทำความเข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทยที่ KRAC คัดสรรมาให้คุณ เพื่อจะทำให้คุณเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภายใต้บริบทของประเทศไทย

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ส่งเสริมธรรมาภิบาลให้กว้างไกลด้วยการสร้างรางวัลให้องค์กร

พาทุกคนมาศึกษาจุดเริ่มต้นของธรรมาภิบาลในประเทศไทยช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจไทย 2540 ที่นำมาสู่การมอบรางวัลเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลไทย ซึ่งจะทำให้เห็นถึงพัฒนาการและภาพรวมของธรรมาภิบาลในประเทศไทยมากขึ้น และการมีธรรมาภิบาลจะช่วยลดคอร์รัปชันได้อย่างไร ?

บทความวิจัย : การพัฒนาคู่มือแนวทางการนําหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้สําหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษา

แนวทางในการส่งเสริมหลักสูตรด้านคุณธรรมจริยธรรมเพื่อต่อต้านการทุจริตในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ควรมีการกําหนดหลักการ กระบวนการ และแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน และควรมีแผนการเรียนรู้และสื่อการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนในสถานศึกษา

KRAC The Experience | EP 7: Standing on my own, Operations Like Private Sector

“ทำยังไงให้การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันของภาคประชาสังคมนั้นยั่งยืน ?” เรามีคำตอบมาให้จากแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระดับโลก 🌏 ร่วมไขข้อสงสัยได้ที่ KRAC The Experience ตอน “Standing on my own, Operations Like Private Sector