
e-bidding คืออะไร
“e-bidding” คือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น การล็อกสเปก การฮั้วประมูล และการเรียกรับผลประโยชน์ที่สร้างความเสียหายต่อประเทศ
ซึ่งระบบ e-bidding ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการไม่ต้องเจอกันโดยตรง ช่วยลดความเสี่ยงในการคอร์รัปชัน รวมถึงสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม และสร้างความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ระบบ e-bidding ก็ยังถูกตั้งคำถามจากสังคม ว่าใช้งานได้จริงไหม ? และมีประสิทธิภาพจริงมากแค่ไหน ?
เป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อออกแบบยุทธศาสตร์ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” โดย เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ (2562) ที่ได้ศึกษาโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐป้องกันเพื่อความเสี่ยงการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ KRAC หยิบยกมาเสนอในบทความนี้คือ ประสิทธิภาพของระบบ e-bidding
e-bidding มีประสิทธิภาพเพียงใดในการลดคอร์รัปชัน?
งานวิจัยพบว่า e-bidding มีประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงของการคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหลายมิติ เช่น เพิ่มความโปร่งใส ช่วยเปิดเผยข้อมูลราคากลาง รายชื่อผู้เสนอราคา และผลการประมูล ช่วยสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม เพราะทุกสามารถเข้าถึงประมูลได้โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงหน่วยงาน และสามารถเข้าถึงข้อมูลของโครงการได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงจากการฮั้วประมูลและล็อกสเปก เพราะมีเกณฑ์และกระบวนการที่ชัดเจน
แม้การใช้ e-bidding จะมีประโยชน์ที่เห็นได้ชัด แต่ยังพบข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระดับภาพรวม เช่น e-bidding ยังไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการในพื้นที่ชนบท ระบบมีความซับซ้อนทำให้ใช้งานได้ยากและอาจเกิดช่องว่างการทุจริตจากจุดนี้ได้
ชวนสำรวจ 3 กรมในไทย หลังการใช้ e-bidding
1. กรมทางหลวง
โครงการมูลค่าสูง เช่น การก่อสร้างถนนสายหลัก พบว่าการใช้ e-bidding ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลได้อย่างชัดเจน แต่ผลการประมูลมักแสดงให้เห็นถึงการกระจุกตัวของผู้ชนะที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่มีศักยภาพด้านเครื่องจักรและทรัพยากรสูง ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ในโครงการที่มีข้อกำหนดทางเทคนิคสูง
2.กรมทางหลวงชนบท
โครงการขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท เช่น การก่อสร้างถนนในชุมชน พบว่าผู้เข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ แต่จำนวนผู้เสนอราคามักน้อย เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูลของระบบ e-bidding ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าอาจมาจากการให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอเกี่ยวกับโครงการ เช่น การไม่ระบุรายละเอียดชัดเจนในระบบ e-bidding เป็นปัญหาที่ทำให้บางโครงการขาดการแข่งขัน
3.กรมชลประทาน
โครงการมูลค่าสูง เช่น การก่อสร้างระบบชลประทาน พบว่า e-bidding มีผลดีในแง่ของความโปร่งใสและการเพิ่มจำนวนผู้ประมูล โดยเฉพาะในโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท แต่โครงการขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างเดิมกลับพบว่ามีการแข่งขันน้อยลง เนื่องจากข้อกำหนดเฉพาะที่ซับซ้อนเกินไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้าร่วมได้
ทำอย่างไรให้ระบบ e-bidding มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ e-bidding และลดปัญหาที่พบ งานวิจัยได้เสนอแนวทางเชิงนโยบาย ดังนี้
1.ปรับปรุงระบบให้เข้าถึงง่ายและโปร่งใสมากขึ้น
พัฒนาระบบ e-bidding ให้มี User Interface ที่ใช้งานง่าย โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กและผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท เพิ่มการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับโครงการ เช่น รายละเอียดของงาน รายการวัสดุ และระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจเข้าร่วมประมูล
2.สนับสนุนการแข่งขันที่เท่าเทียม
ลดข้อกำหนดทางเทคนิคที่ซับซ้อนเกินไปในโครงการขนาดเล็กหรือขนาดปานกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายเล็กเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น และใช้กลไกอื่น ๆ สนับสนุน เช่น การให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการรายเล็กเกี่ยวกับการเข้าถึงและใช้งานระบบ e-bidding
3.พัฒนาทักษะบุคลากรและผู้ใช้งานระบบ
จัดการอบรมและพัฒนาความรู้แก่เจ้าหน้าที่รัฐและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเพิ่มความชำนาญในการใช้งานระบบ e-bidding และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรเอกชนในการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่
4.เพิ่มการตรวจสอบและป้องกันการล็อกสเปก
ใช้ระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดในการตั้งข้อกำหนดโครงการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการล็อกสเปกที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานอิสระเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
5.กระจายโอกาสให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ชนบท
พัฒนาโครงการนำร่องในพื้นที่ชนบทเพื่อทดสอบวิธีการปรับปรุง e-bidding ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ห่างไกล เช่น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลในระดับภูมิภาค
ย้อนมาที่คำถามว่า การใช้ e-bidding เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ?
การศึกษางานวิจัยได้ตอบเราแล้วว่า ระบบ e-bidding นั้นมีส่วนสำคัญในการช่วยตรวจสอบและป้องกันปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพจริง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลาย ๆ ด้านที่รัฐยังสามารถพัฒนาเพื่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และสังคมสร้างที่โปร่งใสได้
งานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อออกแบบยุทธศาสตร์ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” โดย เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ (2562) ยังมีข้อมูลรายละเอียดที่น่าสนใจ เช่น ข้อมูลภาพรวมการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ การกำกับการดูแลการจัดซื้อจัดจ้างต่างประเทศ โดยสามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัยได้ที่ลิงก์ด้านล่าง
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์, วีรวัลย์ ไพบูลย์จิตต์อารี, ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ, อุไรรัตน์ จันทรศิริ, ภวินทร์ เตรียนันท์, ศศิพงษ์ สุมา และศิราภรณ์ ธูปเทียน. (2562). โครงการศึกษาฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อออกแบบยุทธศาสตร์ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย I ในสังคมที่มีความร่วมมือหรือความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูง รัฐจะสร้างประโยชน์จากข้อค้นพบนี้อย่างไร ?
มุมมองของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐ หนึ่งกลุ่มจ่ายภาษี อีกกลุ่มเข้ามาทำหน้าที่พัฒนาบริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์ แต่มีหลายครั้งที่โครงการไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น ศาลาสร้างทิ้งไว้ไม่มีคนใช้ จนบางครั้งประชาชนต้องลงแรงทำกันเอง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เปลี่ยนนโยบายคลัง ป้องกันคอร์รัปชันด้วยแนวทางเพิ่มความโปร่งใส
KRAC คัดสรรชวนทุกคนมาร่วมศึกษาความโปร่งใสของงบประมาณการคลังของไทย พร้อม 5 แนวทางเพิ่มความโปร่งใสจากงานวิจัย
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | หลังฉากความสำเร็จการพัฒนาโครงการ งบประมาณถึงมือชาวบ้านหรือมือใคร ?
ทราบหรือไม่ว่ายังมีอีกหลายโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการพัฒนาชุมชน แต่กลับสูญเปล่า หรือไม่คุ้มค่ากับที่ตั้งใจไว้ ทำให้ชาวบ้านที่ฝันไกลว่าอยากให้ชุมชนพัฒนาแค่ไหน แต่งบประมาณกลับไปไม่ถึง