KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เกาหลีใต้เอาชนะการทุจริตจากผู้มีอิทธิพลภาคธุรกิจได้อย่างไร ?

ประชาชนอาจเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากกว่าที่คุณคิด

 

อย่างที่เรารู้ว่าการทำธุรกิจในภาคเอกชนนั้นมีการแข่งขันสูง หลายธุรกิจมีแรงกดดันที่ต้องเอาชนะคู่แข่งในตลาด ต้องพยายามลดต้นทุนให้น้อยลงและสร้างรายได้ให้มากขึ้น จนหลายบริษัทเลือกที่จะใช้ ทางลัด หรือคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบทางต้นทุน เช่น การเลี่ยงภาษีและกฎระเบียบของรัฐ การติดสินบน การเอาเปรียบลูกค้า การตกแต่งบัญชี บางส่วนอาจจะเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐจึงถือเป็นการคอร์รัปชันในภาครัฐ หรือการทุจริตภายในองค์กรเอกชนก็จะกลายเป็นการสร้างภาพลักษณ์ด้านลบของวงการธุรกิจไทย การคอร์รัปชันในภาคธุรกิจจึงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไปทั้งประเทศ 

เป็นที่มาของงานวิจัยจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ปี 2554 เรื่อง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงการธุรกิจเอกชนไทย กับแนวทางแก้ไขและป้องกัน” โดย เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ ที่ต้องการศึกษาการคอร์รัปชันในภาคเอกชนไทยเพื่อหาทางแก้ไข โดยหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจในงานวิจัย คือการศึกษาการต่อสู้กับคอร์รัปชันในภาคเอกชนของเกาหลีใต้ที่มีประชาชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำมาถอดบทเรียนและปรับใช้กับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย  

โดยงานศึกษาชิ้นนี้ พบว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่บริษัทขนาดใหญ่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมาก โดยบริษัทเหล่านี้ถูกเรียกว่ากลุ่มธุรกิจแชโบล (chaebol) ซึ่งเราอาจเคยได้ยินชื่อแบรนด์ภายใต้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ เช่น Samsung, LG, SK หรือ Hyundai และการมีอำนาจของกลุ่มแชโบลก็เกี่ยวข้องกับการที่มีสมาชิกระดับบริหารหลายคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน  

งานวิจัยได้ยกตัวอย่างของความผิดปกติที่เกิดขึ้นในคดีคอร์รัปชันของภาคเอกชนในเกาหลีใต้ที่มีสมาชิกกลุ่มธุรกิจแชโบลไปเกี่ยวข้อง แต่สามารถรอดพ้นคดีไปได้ สะท้อนถึงความไม่โปร่งใสและการทุจริตระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาล เช่น ในปี 2551 นาย Chung Mong-koo ประธานกรรมการบริษัท Hyundai ยักยอกเงินบริษัทไปจัดตั้งกองทุนเพื่อจ่ายสินบนให้นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้โดนโทษจำคุก 3 ปี โดยให้รอลงอาญา แต่ระหว่างรอลงอาญา นาย Chung Mong-koo ก็กลับไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทต่อ

หรืออีกกรณีคือคดีของนาย Lee Kun-hee ประธานกรรมการบริษัท Samsung ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานเลี่ยงภาษี และสืบสวน พบว่ามีการจัดตั้งกองทุนเพื่อติดสินบนนักการเมืองแต่ไม่มีการดำเนินคดี นอกจากนี้ นาย Lee Kun-hee ยังเคยถูกพิพากษาให้รอลงอาญาข้อหาติดสินบนประธานาธิบดี 2 คน ในปี 2539 แต่สุดท้ายก็ได้รับการละเว้นโทษ และยังมีผู้บริหารในกลุ่มบริษัทแชโบลอีกหลายคนที่ทำเรื่องทุจริต แต่เพราะกลุ่มแชโบลมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล ทำให้ไม่เกิดการปราบปรามที่จริงจังและทำให้กลุ่มแชโบลเติบโตอย่างต่อเนื่อง  

อย่างไรก็ตาม ประชาชนเกาหลีใต้ไม่ยอมรับการทุจริตที่เกิดขึ้นและพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาการทุจริต โดยกดดันให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมโครงสร้างของกลุ่มแชโบล เช่น Sarbanes Oxley Act ที่มีข้อกำหนดให้ผู้บริหารสูงสุดต้องรับรองความถูกต้องของรายงานทางการเงินของบริษัททุกฉบับ รวมถึงบริษัทต้องเปลี่ยนผู้สอบบัญชีทุก ๆ 6 ปี กฎหมาย Class Action Bill หรือกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่ม ช่วยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถรวมตัวกันเอาผิดกรณีที่ผู้บริหารมีพฤติกรรมทุจริต 

นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังมีการจัดตั้งองค์กร Peoples Solidarity for Participatory Democracy (PSPD) เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นฟ้องร้องค่าเสียหายแทนบริษัทในกรณีที่ผู้บริหารทุจริตและกดดันให้รัฐบาลเอาคนผิดมาลงโทษ ในด้านการเมืองประชาชนเกาหลีใต้ยังต่อต้านการทุจริตด้วยการรวบรวมข้อมูลนักการเมืองที่เชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจเอกชน เช่น ผลงาน และประวัติ รวมถึงการออกมารณรงค์ถือป้ายปฏิเสธนักการเมืองที่ทุจริตหรือเรียกว่า “ขึ้นบัญชีดำ” (ปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็มีเครื่องมือที่คล้ายกัน เช่น https://election66.wevis.info/mpasset/) ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้สถานการณ์คอร์รัปชันในเกาหลีใต้ดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้น 

จากเรื่องราวทั้งหมด งานวิจัยได้สรุปบทเรียนเอาไว้ว่า เกาหลีใต้มีโครงสร้างทางการเมืองที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงสามารถนำวิธีการแก้ปัญหาของเกาหลีใต้มาประยุกต์ใช้ได้ คือวิธีการแบบล่างขึ้นบน” (Bottom-up) ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันการคอร์รัปชัน รวมถึงการกดดันรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการ และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ ประเทศไทยต้องส่งเสริมการเปิดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตให้มากขึ้น ทำข้อมูลให้เข้าถึงง่ายแบบที่เกาหลีใต้จัดทำข้อมูลพรรคการเมือง ส่งเสริมภาคเอกชนในการตรวจสอบปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย และให้ความรู้กับภาคประชาชนเรื่องการต่อต้านการทุจริต 

กรณีศึกษาของเกาหลีใต้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาในงานวิจัย ซึ่งยังมีการศึกษาการทุจริตในภาคเอกชนไทยและฮ่องกงอีก หากใครสนใจข้อมูลเพิ่มสามารถตามอ่านได้ในงานวิจัย เรื่อง “ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงการธุรกิจเอกชนไทยกับแนวทางแก้ไขและป้องกัน” (2554) โดย เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ

#เกาหลี #รัฐบาลเกาหลี #แชโบล #ซัมซุง #ธุรกิจ #ธุรกิจเกาหลี #เศรษฐกิจ #การเมือง #ทุจริต #โกง #KRAC #KRACCorruption 

——————

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เกาหลีใต้เอาชนะการทุจริตจากผู้มีอิทธิพลภาคธุรกิจได้อย่างไร ?

การทำธุรกิจนั้นมีการแข่งขันสูง หลายธุรกิจมีแรงกดดันที่ต้องเอาชนะคู่แข่งในตลาด ต้องพยายามลดต้นทุนให้น้อยลงและสร้างรายได้ให้มากขึ้น จนหลายบริษัทเลือกที่จะใช้ “ทางลัด” หรือคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบทางต้นทุน

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ภาคธุรกิจอาจเสียเงินเปล่าจากการจ่ายสินบน

ในการทำธุรกิจ หลายครั้งผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการต้องยอมจ่ายเงิน “สินบน” ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยให้การทำเรื่องเร็วขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะต้องรอทำเรื่องเป็นเวลานานหลายเดือน ซึ่งหลายคนก็ยอมจ่ายเล็กน้อยเพื่อให้กิจการคล่องขึ้น

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | 3 มุมมองจากผู้รู้ สู่การแก้โกงจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐ

เมื่อดุลยพินิจมากเกินไป แก้อย่างไรถึงจะเห็นผล ? ในการกำหนดนโยบายและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของรัฐต่างก็ต้องมีคนที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยสามารถใช้ดุลยพินิจของตนเพื่อตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่หลายครั้งการวินิจฉัยกลับไม่เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม หรือเป็นการวินิจฉัยที่เบี่ยงเบนไปตามความพึงพอใจ อคติ หรือเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง จนเกิดเป็นการ “ทุจริต”

You might also like...

KRAC Insight | รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน

รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน จากทีม Open Data ของเครือข่าย “SEA-ACN”

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้